การปรับตัวของผู้บริหารองค์กรต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับ นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เป็นการเชื่อมต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นวัตกรรรม ภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ตัวขับเคลื่อนนวัตกรรมก็คือ คน หรือที่เรียกว่า นวัตกร ฟังดูแปลก ถ้าจะบอกว่าเป็นสตาร์ตอัพ อาจมีความใกล้เคียง แต่ไม่ได้เริ่มจากการผลิตแต่เริ่มต้นจาก ไอเดีย เป็นไอเดียของคนรุ่นใหม่ๆที่คิดนอกกรอบจากโมเดลเศรษฐกิจแบบเดิมๆ
การเริ่มต้นโครงการมาจาก บริษัทพลังงาน ปตท. เปิดบ้านต้อนรับคนรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมที่เรียกว่า โครงการสานพลัง × PTT Group Young Socialpreneur Hackathon จัดงาน Open House กันไปเรียบร้อย โดยมี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานของ ปตท. จับมือกับ วรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ประธานบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม ผลักดันโครงการนี้ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจการดำเนินการธุรกิจเพื่อสังคม เริ่มจากการสร้างรายได้ให้ชุมชนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมอย่างยั่งยืน
โครงการนี้ เหมือนจะมองโลกสวยเกินไปหรือเปล่า เพราะการทำธุรกิจทั่วไปก็ต้องหวังผลกำไรมากกว่าที่จะคำนึงถึงสังคมที่ยั่งยืน มีคำตอบจาก ผู้บริหารโครงการดังกล่าว ภายใต้วิสัยทัศน์ของ ปตท.และบริษัทในกลุ่ม มองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ต้องเฟ้นหาไอเดียและนวัตกรรม สร้างนวัตกรคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความคิดและพลังในการสร้างสรรค์มาช่วยกันแก้ปัญหาของสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างครบวงจร
ไม่เช่นนั้น ธุรกิจและเศรษฐกิจก็ยังติดอยู่ในกับดักแบบเดิมๆ
มีการยกตัวอย่างถึง Cafe’ Amazon for Chance ที่มอบโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาส ช่วยเกษตรกรชาวเขาที่ทำไร่กาแฟ มีช่องทางในการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอน หรือโครงการ Upcycling SE การจัดการขยะพลาสติกครบวงจร นำมารีไซเคิลสู่สินค้าแฟชั่นและของใช้ประจำวัน หรือ โครงการชุมชนยิ้ม ได้ยกระดับสินค้าชุมชนให้ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของตลาด รวมทั้งโครงการ SE Solar Energy Business นำร่องที่ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี ในการนำพลังงานสะอาดมาใช้
การผลักดันโครงการดังกล่าว ก็เพื่อต้องการที่จะเฟ้นหาไอเดียจากคนรุ่นใหม่ในการสร้างโซลูชัน 4 โจทย์หลัก การพัฒนาเมืองยั่งยืน การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสที่จะร่วมเวิร์กช็อป โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด นำร่องโดย ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น 4 ทีมสุดท้าย จะได้รับทุนตั้งต้นในการร่วมกระบวนการทดสอบไอเดียธุรกิจ Proof of Concept มูลค่ากว่า 540,000 บาท นำไปพัฒนาไอเดียเป็นผลผลิตสู่ท้องตลาดจริงๆโครงการจะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ดูรายละเอียดติดตามข่าวสารได้ที่เพจสานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม อะไรดีก็ต้องว่าดี.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th