ไอเดียใหม่ ‘ตู้เต่าบิน’ เล็งขายก๋วยเตี๋ยวผ่านตู้ หวังดันธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสรายได้เพิ่มในปี 67

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ไอเดียใหม่ ‘ตู้เต่าบิน’ เล็งขายก๋วยเตี๋ยวผ่านตู้ หวังดันธุรกิจใหม่ สร้างโอกาสรายได้เพิ่มในปี 67

Date Time: 7 มี.ค. 2566 15:38 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • FSMART เผย ‘เต่าบิน’ เตรียมพิจารณาขายก๋วยเตี๋ยวปี 67 สร้างโอกาสรายได้ใหม่ ส่วนปี 66 ตั้งเป้ารายได้โตเท่าตัวแตะ 3,000 ล้านบาท ขยายเพิ่มอีก 5,000 ตู้

Latest


นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ. ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) กล่าวว่า สำหรับธุรกิจ “ตู้เต่าบิน” ซึ่งบริหารงานโดยบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (FORTH Vending) มองว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่สุดของกลุ่ม จากปัจจุบันตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีมูลค่ากว่า 2.47 แสนล้านบาท และเชื่อว่าจะสามารถกินส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 4% ซึ่งในปี 2567 จะได้เห็นธุรกิจที่เป็นความร่วมมือ (Synergy) กันระหว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัทในกลุ่ม อาจเห็นเป็นสถานีบริการที่มีการรวมกันของตู้ชาร์จไฟฟ้ากิ้งก่าและตู้เต่าบิน

สำหรับธุรกิจตู้เต่าบิน ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีการรังสรรค์เมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ มากมายในช่วงที่ผ่านมารวมกว่า 200 เมนู ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค โดยสัดส่วนเครื่องดื่มขายดีได้แก่ นมและช็อกโกแลต 31%, เครื่องดื่มโซดา 26% และกาแฟ 23% ตามลำดับ โดยปีหน้าอาจได้เห็นการให้บริการขายก๋วยเตี๋ยวภายในตู้เต่าบิน

ขณะที่ยอดขายและรายได้มีแนวโน้มเติบโตสอดคล้องกับแผนการขยายจำนวนตู้ บริษัทมีแผนขยายตู้เต่าบินเพิ่มจำนวน 5,000 ตู้ เป็น 10,000 ตู้ภายในสิ้นปีนี้ จากเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มตู้เต่าบินเป็น 20,000 ตู้ภายใน 3 ปี โดยเชื่อว่ายังมีพื้นที่การตั้งตู้ที่มีศักยภาพอีกมาก หลังผู้บริโภคเริ่มรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้นจากกิจกรรมทางการตลาดที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย ที่มีการสมัครใช้บริการผ่านเบอร์โทรศัพท์

ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้ตู้เต่าบินมีการบริหารจัดการวัตถุดิบได้ดีขึ้น อัตราการเสียน้อยลง พร้อมแผนลงทุนด้านการตลาดสำหรับตู้เต่าบินไว้อีกกว่า 100 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าจะมียอดขายแตะที่ 3,000 ล้านบาทได้ จากสิ้นปี 65 มีรายได้อยู่ราว 1,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในปี 66 นี้ โดยปัจจุบัน FSMART มีสัดส่วนการถือหุ้นใน FORTH Vending ราว 26.7%

ส่วนธุรกิจให้บริการทางการเงิน บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่ระดับ 1,000 ล้านบาท ในปีนี้ ซึ่งมองว่าเป็นระดับวงเงินที่สามารถควบคุมหนี้เสียได้ (NPL) ต่ำกว่าระดับ 5% จากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของ “Boonterm Big Data” ที่ผ่านมามีการทดลองให้บริการสินเชื่อกับลูกค้าราว 30,000 รายในปีที่ผ่านมา

ขณะที่การเปิดให้บริการตู้ ATM ล่าช้าจากปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่า จะสามารถมีการเปิดตัวการให้บริการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ภายในกลางปีนี้ 1 ราย และในช่วงสิ้นปีอีก 1 ราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบให้สามารถรองรับกับธนาคารได้มากขึ้น

สำหรับธุรกิจตู้ชาร์จไฟฟ้ากิ้งก่า หรือ “GINKA Charge Point” ที่เปิดตัวไปแล้วในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทมองเป็นธุรกิจ New S-curve ใหม่สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่จะเข้ามาสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจเดิมอย่างตู้บุญเติม โดยบริษัทมีแผนเปิดสถานีให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในปี 2567 ร่วมกับการให้บริการของธุรกิจตู้เต่าบินภายในสถานีฯ

ขณะเดียวกันปีนี้ตั้งเป้าขยายจุดให้บริการชาร์จไฟ 5,000 จุด โดยเป็นการร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ เช่น คอนโดมิเนียม, โรงพยาบาล, ห้างสรรพสินค้า, สนามกอล์ฟ และเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามแผนการขยายจุดให้บริการชาร์จไฟได้ถึง 15,000 จุด สอดคล้องจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า โดยประมาณการว่าจะมีจำนวนถึง 1 ล้านคัน จากปัจจุบันที่ราว 1 แสนคัน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์