นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยในงาน Opportunity Day ว่า แผนการดำเนินงานปี 2566 KTC คาดว่าพอร์ตสินเชื่อมีแนวโน้มประมาณ 15% จากปีก่อนที่อยู่ 104,194 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโตขึ้นอีก 10% พร้อมกับจะขยายฐานลูกค้าสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 180,000 ราย โดยมุ่งเจาะฐานลูกค้ากลุ่ม High Income ที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 ต่อเดือน ที่มองเห็นแนวโน้มที่ดี โดยมีการใช้งานบัตรเครดิต KTC เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจบัตรกดเงินสด เคทีซี พราว บริษัทวางเป้าหมายที่จะเพิ่มสมาชิกใหม่เป็น 110,000 ราย จากปีก่อนที่มีสมาชิกอยู่ที่ 80,000 ราย
ขณะที่ธุรกิจ เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงินนั้น ยอดสินเชื่อใหม่มีแนวโน้มกลับมาเติบโตตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และในปีนี้มีแผนจะผลักดันให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าขยายพอร์ตสินเชื่ออีก 9,000 ล้านบาท ให้แตะระดับ 10,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากปีก่อนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ภาพรวมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนไทย โดยไตรมาสแรกปีนี้คาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 20% โดยหมวดหมู่ที่มีค่าใช้จ่ายมากสุดสามอันดับแรก คือ กลุ่มประกัน กลุ่มน้ำมัน และกลุ่มท่องเที่ยว ที่สามารถปรับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ได้ในปีนี้ สะท้อนให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวและโอกาสของธุรกิจ ในส่วนโครงการช้อปดีมีคืน คือ ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นยอดใช้จ่าย โดยเฉพาะในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ปีนี้ นอกจากใช้จ่ายในวงเงินที่สูง ผู้ใช้ยังได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมและส่วนลดเพิ่มเติมจากการใช้จ่ายผ่านบัตรเคทีซี
สำหรับประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน (Risk based pricing model) มองว่าไม่น่ากระทบการดำเนินธุรกิจ เพราะ เคทีซีมีการปรับใช้มาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโควิด มีเกณฑ์เลือกรับความเสี่ยงสำหรับการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว หากนโยบายเปิดให้เราทำดอกเบี้ยเพิ่มก็จะสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น มากไปกว่านั้น เคทีซีมีแนวการปล่อยสินเชื่ออย่างยั่งยืนตามกฎเกณฑ์ โดยมีจุดยืนเรื่องการดำเนินการอย่างรับผิดชอบ แต่อย่างไรก็ตามการประเมินด้านความเสี่ยงแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบริษัท.