มีคุณผู้อ่านรายหนึ่งอินบ็อกซ์เข้ามาในแฟนเพจ Kate Inspirer ขอปรึกษาครูเคทว่า “....น้องค่อนข้างจะเชื่อฟังแม่มาก ถ้าได้รับมอบหมายอะไรให้ทำ น้องจะร้องไห้ กลัวแม่ดุ เช่น ใช้ให้ไปหาของ ถ้าเขาหาไม่เจอ น้องจะไม่บอก แต่จะยืนร้องไห้ หรือแม่สั่งให้ท่องหนังสือหรือทำการบ้าน ถ้าทำไม่ได้ก็จะนิ่งแล้วร้องไห้ ถ้าคนพูดจาเสียงดัง พูดไม่เพราะหรือดุ น้องจะน้ำตาคลอทันที ...กรณีอยู่นอกบ้าน ถ้าไม่มีพี่สาวหรือแม่อยู่ด้วย เขาจะประหม่า ทำอะไรเองไม่ได้ เช่น ปวดปัสสาวะหรือหิวน้ำ เขาจะไม่บอกใครที่เขาไม่รู้จัก แต่จะยืนร้องไห้อย่างเดียว เหมือนน้องไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลยค่ะ..”

เด็กน้อยขี้แง น่าจะเป็นปัญหาที่พ่อแม่อาจจะมึนตึ้บไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะบางทีพ่อแม่ยังไม่ได้ดุ น้องก็ชิงร้องไห้เสียก่อนแล้ว เด็กที่เซนส์สิทีฟส่วนหนึ่งเป็นนิสัยที่มีมากับเขาตั้งแต่เกิด หรือบางคนอาจจะบอกว่าติดตัวมาแต่อดีตชาติ ดังจะเห็นได้ง่ายๆ ว่าพี่น้องท้องเดียวกัน หรือแม้แต่ฝาแฝด เกิดพร้อมกัน เลี้ยงดูมาเหมือนกัน แต่นิสัยต่างกัน แต่นอกจากนิสัยส่วนตัวที่มีมาแต่กำเนิดแล้ว สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูนั้นดูจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพของเด็กอย่างมาก การที่เกิดเป็นน้องก็อาจมีส่วน เพราะเด็กๆ จะมองเด็กคนอื่นๆ แล้วเทียบกับตัวเอง เช่น เมื่อเห็นพี่ทำได้ แต่ตัวเขาทำไม่ได้ เขาก็อาจจะรู้สึกด้อยกว่าได้ ท้งๆ ที่พ่อแม่อาจจะไม่ได้เปรียบเทียบอะไร ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเขาไม่ได้เข้าใจว่าพี่อายุมากกว่าย่อมมีความสามารถสูงกว่า และที่สำคัญเขาไม่เคยเห็นพี่ของเขาต้องอายุเท่าเขาในวันนี้ ดังนั้นพ่อแม่ต้องระวังที่จะไม่เปรียบเทียบลูกๆ ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

การชมเด็กเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองให้มากขึ้นก็เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นศิลปะ พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะชมลูกด้วยคำพูดทั่วๆ ไป เช่น เก่งจัง เยี่ยมมาก แม่ภูมิใจในตัวหนูนะ ฯลฯ ซึ่งก็เป็นคำชมที่ได้ผลสำหรับเด็กทั่วไป แต่กรณีเด็กที่เซนส์สิทีฟหรือขาดความเชื่อมั่นในตนเองมาก พ่อแม่ต้องใช้คำชมที่ลงรายละเอียดให้เด็กได้เห็นคุณค่าในตัวเองด้วยค่ะ เช่น “ลูกระบายสีสวยจัง คุณแม่ชอบที่หนูระบายดอกไม้ด้วยสีแดงและสีชมพู ดูสดชื่นดีจัง... แล้วภูเขาสีน้ำเงินลูกนี้นี่ให้ความรู้สึกต่างจากภูเขาสีเขียวลูกนี้ยังไงคะ...” (คำถามเรื่องภูเขานี้จะช่วยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา พ่อแม่ควรรับฟังด้วยความสนอกสนใจ ไม่ต้องขัด หรืออธิบายหรือแก้ไขอะไร) กระบวนการชมโดยการพูดถึงรายละเอียดในสิ่งที่เด็กทำ รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางความคิดของเขา และได้เห็นว่าความคิดของเขามีคนรับฟังอย่างสนอกสนใจ และไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็กมากขึ้น

...

กรณีการปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น หรือการดูแลรับผิดชอบตัวเองเมื่ออยู่นอกบ้าน อย่างที่คุณผู้อ่านเล่ามาข้างต้น ผู้ใหญ่ควรสอนทักษะการช่วยเหลือตัวเอง การสังเกตความต้องการ และอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงการวางใจในบุคคลที่พ่อแม่วางใจ และไม่วางใจบุคคลแปลกหน้า เช่น เมื่ออยู่นอกบ้านกับญาติที่ไม่ใช่พ่อแม่และพี่สาว พ่อแม่ควรบอกเด็กว่ามีอะไรหรือต้องการอะไรให้บอกญาติคนนั้นได้เลย หากลูกปวดปัสสาวะให้บอกผู้ใหญ่ที่พ่อแม่ให้ไปด้วยว่าให้พาไปห้องน้ำ เป็นต้น ทักษะทางสังคมนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องสอน อย่าเหมารวมว่าเด็กทุกคนควรจะปรับตัวได้เอง เด็กบางคนมีความวิตกจริตน้อย ก็จะดูเก่งกาจช่วยเหลือตัวเองได้ดี แต่เด็กที่วิตกจริตมาก พ่อแม่ต้องสอนทักษะการคุยกับคนเพื่อบอกความต้องการของตัวเอง หรือกรณีที่เด็กไปกับพ่อแม่ เมื่ออยากเข้าห้องน้ำ ให้เด็กลองมองหาป้ายบอกทางไปห้องน้ำ แล้วเดินไปด้วยกัน ไปถึงอาจจะให้เด็กเข้าห้องน้ำเอง (หากช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควร) โดยผู้ปกครองยืนอยู่ที่หน้าประตูห้องน้ำ เป็นต้น เมื่อเด็กทำได้ดี ให้ชมและบอกว่าหากเด็กมากับญาติพี่น้องคนอื่น ก็ให้ทำอย่างเดียวกัน คือ หาป้ายห้องน้ำ และให้ผู้ใหญ่พามา แล้วบอกให้ผู้ใหญ่ยืนอยู่หน้าประตูห้องน้ำ ฯลฯ อย่างนี้เด็กจะค่อยๆ มองเห็นความสามารถของตัวเองมากขึ้น และเห็นว่าไม่ใช่เรื่องทุกเรื่องที่จะต้องถูกตัดสินผลลัพธ์โดยคนอื่นว่า เสร็จ หรือถูก หรือดี หรือไม่ พ่อแม่ควรทำให้ทุกเรื่องเป็นความสนุกสนานในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ของเด็ก ไม่ใช่การที่เด็กต้องทำอะไรเพื่อผลลัพธ์ค่ะ

ใครมีปัญหา ลูกเรียนไม่เก่ง ไม่รู้จะทำอะไรในอนาคต ญาติพี่น้องติดกลุ่มลัทธิ ปัญหาครอบครัว ความสัมพันธ์ การทำงาน ติดโซเชียล ติดเกม panic และ phobia มารับคำปรึกษากับครูเคทได้ที่ KruKate Counseling Center ต้องการนัดคิว โทร. 08-1458-1165 หรือ เข้าไปฝากคำถามและแชร์ประสบการณ์ในแฟนเพจ www.facebook.com/kateinspirer และ YouTube channels: Kate Inspirer ได้นะคะ