เติมความรู้ความเข้าใจให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ในการรับมือกับลูกน้อยวัยเตาะแตะอายุ 1-3 ปี ซึ่งจะพบปัญหาการขาดวิตามินแร่ธาตุ และการเจริญเติบโตไม่สมดุล อาจส่งผลให้มีโอกาสเติบโตแคระแกร็น อ้วนเกิน-ผอมเกิน และไอคิวต่ำ เหล่านักวิชาการสายสาธารณสุขจึงรณรงค์ให้เด็กเล็กกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่ จัดอาหารให้มีความหลากหลาย และดื่มนมเสริมวันละ 2-3 แก้ว ช่วยเสริมสร้างสมดุลโภชนาการที่ดีให้ลูกเติบโตเต็มวัย อย่าง ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิชาการ หน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ว่า จากการรวบรวมงานวิจัยที่เคยมีในต่างประเทศมาสรุป เรื่อง “ความไม่มั่นคงทางอาหารและโรคอ้วนในเด็ก” ตีพิมพ์ในวารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-เม.ย.61) ซึ่ง “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” หมายถึง ครอบครัวมีอาหารไม่เพียงพอ หรืออาหารที่กินอาจไม่ปลอดภัย หรือเป็นอาหารไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผู้เลี้ยงดูก็จะใช้วิธีจำกัดอาหารของสมาชิกครอบครัว หรือบังคับการกินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ ด้วยเหตุนี้จึงอาจนำไปสู่การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการด้อยลง
...
นักวิชาการด้านโภชนาการ อธิบายต่อว่า ได้พบแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสังคมในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ และในครอบครัวที่ยากจน ผู้ปกครองอาจไม่สามารถจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับเด็ก รวมทั้งวิธีการเลี้ยงดูซึ่งผู้ปกครองไม่ค่อยมีเวลาเตรียมอาหารให้ลูกเอง ส่งผลต่อคุณภาพอาหารของเด็ก เช่น เด็กอาจได้รับมื้ออาหารต่อวันลดลง กินผัก-ผลไม้สดน้อยมาก หรือใน อีกทางหนึ่งเด็กอาจได้รับอาหารทอด-อาหารรสหวานมากขึ้น จึงมีโอกาสสูงมากที่จะทำให้เด็กได้รับพลังงานมากเกิน และอาจทำให้เกิดการขาดวิตามินแร่ธาตุในช่วงวัยเตาะแตะ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายเพิ่มขึ้นมาก แนวทางป้องกันคือ แม่ต้องมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับวิธีจัดอาหารมื้อหลักคือ อาหารห้าหมู่วันละ 3 มื้อ และอาหาร ว่างวันละ 2 มื้อ เพื่อให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารต่างๆอย่างเพียงพอ ผัก ผลไม้สดต้องมีให้ลูกกินทุกวัน พร้อมด้วยการสร้างนิสัยการดื่มนมให้ลูก ตั้งแต่เล็ก อีกแนวทางหนึ่งคือ การให้ลูกกินนมเป็นอาหารเสริม นมมีบทบาทสำคัญต่อการเสริมโภชนาการสำหรับเด็ก เพราะโดยธรรมชาติ แล้วนมเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่เด็กวัยเตาะแตะต้องการ อาทิ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน B2 วิตามิน A แคลเซียมและฟอสฟอรัส วัยเตาะแตะจึงควรกินนมสดรสจืดเป็นประจำทุกวัน วันละ 2-3 แก้ว เสริมกับอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบ 5 หมู่.