ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความต้องการ สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระ บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้อง นางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มีต่อชาวไทยโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยการสนับสนุนของเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ จึงได้จัดโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ อันได้แก่ โครงการคณะพยาบาลศาสตร์ อาสาพัฒนาสังคมในเขตหลักสี่ ซึ่งมี 2 โครงการคือ โครงการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการส่งต่อผู้ป่วย สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน (อสส.) และโครงการอบรมการกู้ชีพพื้นฐานและการปฐมพยาบาล สำหรับครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียนเขตหลักสี่ โดยมี รศ. ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มาเป็นประธานในพิธีเปิด ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา

ผศ.ดร.ประภา ยุทธไตร รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและการพยาบาลเฉพาะทาง กล่าวว่า โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการกู้ชีพและการส่งต่อ สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน และโครงการการปฐมพยาบาล และครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียน เขตหลักสี่นี้ เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือการบริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคม ซึ่งคณะพยาบาลศาสตร์ได้ทำกิจกรรมเพื่อให้บริการวิชาการแก่ประชาชนในชุมชนเขตหลักสี่ซึ่งเป็นชุมชนรอบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มาตั้งแต่ปี 2561 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทำงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทุกภาคส่วน บน พื้นฐานความต้องการของประชาชน จากการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกับผู้เกี่ยวข้องและอาสาสมัคร พบปัญหาสุขภาพที่ต้องการการดูแลที่เฉพาะในแต่ละช่วงวัย รวมทั้งความต้องการจำเป็น อันดับแรกๆของอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน คือต้องการมีความสามารถ ช่วยเหลือบุคคลใกล้ชิด และบุคคลในชุมชนที่เจ็บป่วยรุนแรง หรือได้รับอุบัติเหตุรุนแรงได้อย่างถูกต้อง ก่อนนำส่งโรงพยาบาล

...

สำหรับครูประจำห้องพยาบาลในโรงเรียน ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งระบุความต้องการการพัฒนาความรู้ ความสามารถในการกู้ชีพ และการปฐมพยาบาล เพื่อให้การช่วยเหลือนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอด ด้วยการฝึกอบรมอย่างเป็นรูปแบบจากพยาบาลผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ในการอบรมครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 รุ่น รุ่นละ 100 คน มีเนื้อหาครอบคลุมการประเมินและตรวจสอบอาการป่วยที่เร่งด่วน ฉุกเฉินและเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการเริ่มแรกของภาวะหลอดเลือดสมองแตก ตีบหรือตัน การกู้ชีพ ณ จุดเกิดเหตุ การใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า การปฐมพยาบาลและการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อการรักษาที่เหมาะสม โดยอาจารย์พยาบาลผู้ทำการสอนทุกคนเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญและมีวุฒิบัตรการเป็นวิทยากรในการกู้ชีพขั้นสูงทุกคน.