(ภาพ)ปริชญ์ รังสิมานนท์

สังคมที่มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีน้ำใจต่อกัน เป็นสังคมในอุดมคติที่ทุกคนสามารถสร้างให้เป็นจริง! ขึ้นมาได้ หากเรารวมใจกันที่จะสร้างสังคมไทยวันนี้ให้น่าอยู่ในแบบที่เราอยากให้เป็น เรามีคนรุ่นใหม่ไฟแรงมากมายมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่อยากจะเปลี่ยน! สังคม สร้างสังคมของการ “ให้” แบบยั่งยืน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ทั้งคนในสังคม และธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา

หนึ่งในต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจจริง และลงมือทำเป็นรูปธรรมมากกว่าพูด ด้วยการอยากจะสร้างสิ่งดีๆให้แก่บ้านเกิดเมืองนอน บิ๊ก–ปริชญ์ รังสิมานนท์ นักธุรกิจหนุ่ม เจ้าของปุ๋ยตรา “พาริช” ปุ๋ยอินทรีย์ ได้ใช้มันสมองและสองมือทำความเชื่อของตัวเอง ในการสร้างสังคมแห่งการให้ เพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้นอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ช่วยทั้งคนและสิ่งแวดล้อม ด้วยการร่วมกับเพื่อนตั้งบริษัท แคร์เนชั่น (Carenation) จำหน่ายพวงหรีดกระดาษที่งดงาม ซึ่งมีมดงานเป็นคนในชุมชน หาเช้ากินค่ำ มีรายได้น้อย และนำกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย ไปช่วยเหลือองค์กรการกุศล ทั้งโรงพยาบาล และให้ทุนการศึกษาเด็ก โดยเฉพาะเด็กบ้านลูกเหรียง เด็กกำพร้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสามารถสั่งซื้อได้ที่ www.carenation.com Line : @carenation

...

จากการก่อตั้งแคร์เนชั่นมาร่วมขวบปี คุณบิ๊ก เล่าว่า ธุรกิจค่อยๆไป ยอดขึ้นมา ปีที่ผ่านมาเราได้เงินไปช่วยองค์กรการกุศล และเด็ก ประมาณ 1,700,000 บาท ซึ่ง บิ๊ก คิดว่าการทำเป็นธุรกิจที่โปร่งใส ทุกคนตรวจสอบได้นี้ จะทำให้เราสร้างการ “ให้” ที่ยั่งยืนได้ เป็นการบริจาคที่ไม่ต้องพ่ึงกระแส เราเอาการทำบุญเข้ามาสู่ระบบธุรกิจ ที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน อย่าง พี่น้อย แม่ค้าหมูปิ้งที่มีลูกเป็นมะเร็ง ใครสั่งพวงหรีดเรา เงินกำไรเข้าสู่องค์กรการกุศล โดยผู้ซื้อสามารถเลือกบริจาคได้เลย แล้วพวงหรีดของเราก็เป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมด้วย

การที่ลงมาเหนื่อยกับงานที่ตัวเองไม่ได้ทั้งเงินและกล่องนี้ คุณบิ๊ก บอกว่า สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความภูมิใจ เรามองเห็นว่า ยังมีคนจน คนที่เดือดร้อนในประเทศอยู่จำนวนมาก เรามัวแต่บ่นภาครัฐ มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ถ้าทุกอย่างมันเริ่มจากพวกเราได้ เราก็น่าลงมือทำ เปิดประตูออกมาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสังคมเราให้น่าอยู่

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย รองประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งต้นแบบของนักธุรกิจ ที่แน่วแน่ในการทำธุรกิจ สร้างทั้งกำไร สร้างทั้งสังคมที่อยู่รอบตัวให้รุ่งเรืองไปด้วยกันอย่างยั่งยืน จากโครงการ “บ้านร่วมทางฝัน” ที่นำผลกำไรมอบให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ

“จุดเริ่มของโครงการนี้ มาจากที่คุณพ่อของยุ้ยป่วยอยู่ที่ รพ.ศิริราช ยุ้ยเป็นลูกคนโต เลยมานอนเฝ้าคุณพ่อที่โรงพยาบาล เป็นปี ตื่นเช้าก็ไปทำงาน ตอนนั้นลาออกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ทำมา 20 ปี มารับหน้าที่แทนคุณพ่อ ดูธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความที่อยู่เป็นปี ได้เห็นความต้องการของคนที่มาหาหมอ ทั้งคุณพ่อและยุ้ยเลยมีความคิดที่อยากทำหมู่บ้าน เอาเงินกำไรทั้งหมดของการสร้าง ไปให้โรงพยาบาล ซึ่งถ้าไม่ใช่ว่ายุ้ยไปนอนอยู่เป็นปี ยุ้ยคงไม่อินขนาดนี้ เหมือนอย่างโครงการบ้านเสนาโซลาร์ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เราเป็นคนแรกที่ทำ ก็มาจากช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 เราขายบ้านไม่ได้ ยุ้ยเลยคิดไปเยี่ยมลูกบ้าน ได้ไปเห็นเขาอยู่บ้านที่น้ำท่วมเป็นเมตรๆ ไม่ยอมออกจากบ้าน ยุ้ยเอาของไปเยี่ยมทุกวันอยู่ 3 เดือน อินจัดอีกเหมือนกัน เลยคิดว่า เราจะเอากระแสรักษ์โลกเข้ามาใส่ในการทำธุรกิจของเราได้อย่างไร เลยคิดทำบ้านเสนาโซลาร์ ใช้พลังงานแสง อาทิตย์ ทีแรกไม่มีใครเอาด้วยเลย เพราะมีความยุ่งยากมาก ทำคนแรกปัญหาจึงเยอะ แต่ด้วยความที่ยุ้ยเอาจริง ถ้าเราไม่เอาจริง มันคงดับหายไประหว่างทาง ปัจจุบันโครงการเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเราได้ปลุกความคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กรุ่นใหม่ ให้เขาโตมากับบ้านที่รักษ์โลก”

...

ผศ.ดร.เกษรา
ผศ.ดร.เกษรา

จากการได้ไปสัมผัสด้วยใจและด้วยตา ผู้บริหารสาวคนนี้จึงมีความแน่วแน่ในการทำธุรกิจสร้างบ้าน สร้างสังคมที่อยู่รอบตัวให้เอื้อกัน อยู่อย่างเป็นสุขอย่างยั่งยืน โดยบอกว่า ยุ้ย ว่ามันเป็นเทรนด์สมัยนี้ ธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องช่วยเหลือสังคม อันนี้เป็นเทรนด์ที่โลกพยายามจะสร้าง แต่สุดท้ายไม่มีใครบังคับใครได้ ดังนั้น ผู้บริหารควรต้องมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้ด้วย เราอยู่ในสังคมก็ต้องช่วยกัน เป็นความรับผิดชอบขั้นต่ำที่เราต้องมี การทำงานของเสนาเช่นนี้ เป็นความภูมิใจเล็กๆของเรา แล้วอยากให้คนในองค์กรของเราภูมิใจด้วย

ต้นแบบคนสุดท้าย ที่ได้รวมกับเพื่อนๆที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน มาร่วมสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดบ้านเกิด “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” ซีอีโอ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หัวหอกคนสำคัญ ที่รวมกำลังพลชาวขอนแก่น ก่อตั้งบริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น จำกัด หรือ KKTT ระดมทุนจากคนขอนแก่น โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณภาครัฐ สร้าง “รถรางไฟฟ้า” วิ่งรอบเมือง ภายใต้คอนเซปต์ “คนขอนแก่นสร้าง คนขอนแก่นใช้ กำไรเพื่อคนขอนแก่น” โดยโครงการนี้อยู่ในกระดาษมายาวนานเกือบ 10 ปี กำลังจะกลายเป็นความจริงภายในไม่กี่ปีนี้

...

...

“เรารวมกันประมาณ 20 คน เป็นชาวขอนแก่นพันธุ์แท้ เราไม่เล่นการเมือง แต่อยากขับเคลื่อนสังคม ชุมชนขอนแก่นให้เข้มแข็ง ทำอย่างไรให้เมืองน่าอยู่ มีงานทำใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำ แก้จน จึงคิดตั้งกองทุนให้คนจนถือหุ้นด้วย นำวิธีการหาเงินของคนรวยมาให้คนจน นำเงินกองทุนมาสร้างรถรางไฟฟ้า ซึ่งใครๆบอกว่า พวกเราบ้า ไม่น่าเป็นไปได้ แต่สุดท้ายในยุค คสช.ก็ได้มีการอนุมัติ ได้ขับเคลื่อน เดินตามธงที่ตั้งไว้ โครงการขอนแก่นโมเดลจะเป็นต้นแบบให้หลายจังหวัด ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้เป็นของชาวขอนแก่นจริงๆ สำหรับตัวผมเอง มีความรู้สึกว่า ต่อให้รวยอย่างไร ก็ไม่มีความสุขเท่ากับทำเรื่องนี้ ทำให้คนมีความหวัง ทำให้ชีวิตอีกหลายๆคนสามารถไปต่อได้ครับ”.