ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ในอีกมุมก็ได้ทำให้เกิดวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากเดิมๆ ที่มนุษย์คุ้นเคยขึ้นอีกมากมายหลายอย่าง จนเกิดคำว่า New Normal ขึ้น และจากที่ เจ้าสัวเลี้ยง เตชะวิบูลย์ ได้เปิดกิจการผลิตลังไม้ สำหรับบรรจุสบู่ เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ต่อมา เมื่อเกิดนวัตกรรมกระดาษ ที่สามารถนำมาทดแทนไม้ในการใช้บรรจุหีบห่อได้ จึงเปลี่ยนเป็นผู้ผลิตกล่องกระดาษลูกฟูก และลังกระดาษ ซึ่งผงาดเติบโตในชื่อ บริษัท ปัญจพล ไฟเบอร์ คอนเทนเนอร์ จำกัด

มาตอนนี้ ลูกหลานตระกูลมหาเศรษฐีเตชะวิบูลย์ รุ่น 2 ซึ่งมี สุทัศน์– สุธี–สุรพงษ์–ประเสริฐ–ดร.สุพจน์ ศรัณยู ก็ได้ผลิต “สิ่งประดิษฐ์” ใหม่เอี่ยม คือ เตียงกระดาษ เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ก่อตั้งปัญจพลฯมา จนปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานกล่องกระดาษ 5 โรง และมีโรงงานผลิตกระดาษลูกฟูก 1 โรง ซึ่งมีกำลังการผลิตวันละ 1,500 ตัน ทั้งส่งออกและขายในประเทศ

เมื่อเห็นสถานการณ์การแพร่ระบาดที่หนักขึ้นในรอบที่ 3 ทำให้แต่ละโรงพยาบาลจำเป็น ต้องเปิดโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความต้องการใช้อุปกรณ์การแพทย์หลายชนิดอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะ เตียงผู้ป่วย ซึ่งจะต้องได้อย่างเร็วที่สุด แต่การจะระดมหาเตียงเป็นพันๆเตียงในเวลารวดเร็วก็ไม่ง่าย และราคาสูง คุณศรัณยู กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นเพื่อนกับ หมอหนู–อนุทิน ชาญวีรกูล จึงได้เสนอจะช่วยชาติ ด้วยการผลิต เตียงกระดาษลูกฟูก มอบให้กระทรวงสาธารณสุขนำแจกจ่ายไปตาม รพ.สนามทั่วประเทศ จำนวน 5,000 เตียง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ไปรับมอบเอง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่เมืองทองธานี

...

เตียงสนามชุดแรกของเมืองไทย ของบริษัทปัญจพลฯ ออกแบบผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญ มีความคงทนแข็งแรง เพราะประกอบด้วยชิ้นส่วนจากโครงสร้างแบบตาราง แนวขวาง 16 ชิ้น และแนวยาว 16 ชิ้น พื้นเตียงสำหรับรองรับเบาะที่นอนเป็นกระดาษแผ่นใหญ่สองแผ่นประกบกัน โดยคำนวณตามทฤษฎีแล้ว เตียงกระดาษแต่ละเตียงจะรับน้ำหนักได้ถึง 500 กก. ซึ่งเมื่อทดลองทำเตียงต้นแบบออกมา บรรดาผู้บริหารก็ได้ทดลองนอน และขึ้นไปยืน พบว่าเตียงกระดาษแข็งแรงมาก แต่บริษัทก็แนะนำให้ใช้ได้รับน้ำหนักไม่เกิน 150 กก. และเตียงยังออกแบบให้มีลูกเล่น เช่น ช่องใส่อุปกรณ์ของใช้ส่วนตัว เช่น โทรศัพท์ นอกเหนือจากช่องสำหรับใส่เครื่องออกซิเจน

หลังจากส่งมอบเตียงกระดาษแล้ว ตอนนี้บรรดาผู้บริหารปัญจพลฯ ก็เลยมีเพื่อนพ้องเรียกร้องอยากได้บ้าง และเสนอให้ทำเตียงกระดาษขาย เพราะแข็งแรง ใช้สะดวก พับได้ไม่เปลืองเนื้อที่ และราคาเตียงละแค่ 1,000 บาท ซึ่งน่าจะเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจที่คนมากมายจะต้องรับผลกระทบจากโรคระบาดกันอีกนาน ถ้าประหยัดค่าเตียงได้ก็เหมาะ.

โสมชบา