อะไรก็ตามที่กลายเป็นความเคยชิน ประสิทธิภาพต่างๆก็จะเริ่มหย่อนลง เช่นเดียวกับมาตรการป้องกันตนเองในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หรือการล้างมือ
ผลสำรวจการรับรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเรื่องโรคโควิด-19 (ดีดีซีโพล) ของกรมควบคุมโรคครั้งล่าสุด เก็บข้อมูลออนไลน์วันที่ 1-14 ตุลาคม 2563 ที่มีผู้ตอบแบบสอบถาม 2,670 คน พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มพฤติกรรมสุขภาพลดลง ทั้งการสวมหน้ากากเมื่อไม่มีอาการป่วยลดลงมาอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 67.1% จากที่เคยสูงถึง 93.5% ในช่วงต้นที่พบการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง, สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยลดลงอย่างเห็นได้ชัดเหลือเพียง 81.8% และจะสวมหน้ากากต่อเนื่องลดลงเหลือ 51.4%
...
ส่วนการล้างมือหลังเข้าห้องสุขา และก่อน-หลังรับประทานอาหาร แนวโน้มคงที่ อยู่ในระดับดี ประมาณ 70-86% การออกไปในที่ชุมชน ไปท่องเที่ยวมากขึ้น โดยการออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็นเพิ่มจาก 19.6% เป็น 30% นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 อยู่ โดยกังวลระดับมาก 29.2% ปานกลางและน้อย 65.6% ส่วนความเชื่อมั่นมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 85.7% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน และเพิ่มจากช่วงแรกที่เกิดสถานการณ์ซึ่งความเชื่อมั่นอยู่ที่ 61.8%
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้ารับการกักตัวในสถานที่กักตัวที่รัฐจัดให้และสถานที่กักตัวที่รัฐกำหนด แต่ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีน ขอให้ประชาชนไม่ประมาท การ์ดอย่าตก สิ่งที่จะใช้เป็นเกราะป้องกันโควิด-19 คือ วัคซีน DMHT ได้แก่ D : Social Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask สวมหน้า กากผ้า/หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน อยู่ในพื้นที่สาธารณะ H : Hand ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และ T : Testing การตรวจเร็ว รักษาเร็ว ควบคุมโรคได้เร็ว ปฏิบัติให้ต่อเนื่องจะช่วยป้องกันโรคได้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังบอกด้วยว่า จากรายงานผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 50% เป็นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อายุ 20-49 ปี ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ซึ่งกลุ่มนี้มักใช้ชีวิตประจำวัน มีกิจกรรมนอกบ้าน ทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข บอกว่า ไทยเราสามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี ทีมงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง ค้นหาเชิงรุกและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง ภาพรวมในเวลานี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด-19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่า 2% ทำให้ประชาชนมั่นใจได้
...
“เป้าหมายกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่ทำให้ผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ แต่เมื่อมีผู้ติดเชื้อจะค้นพบได้เร็ว จำกัดวงการแพร่กระจาย ควบคุมโรคได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรามีบทเรียน พร้อมรับมือการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป และประชาชนต้องปลอดภัย” นายอนุทิน ย้ำ
รมว.สาธารณสุขยังบอกด้วยว่า โจทย์สำคัญในวันนี้ คือการสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยประชาชน ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติ การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจของเรากลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพเป็นนโยบายสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยังคงความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมด้วย ล่าสุด คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับ การเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว และในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นด้วยกับหลักการเรื่องการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะให้เน้นเรื่องความปลอดภัย การติดตามตัวได้ มีอาการป่วยหรือไม่ เข้มข้นการปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป.
...