ปี ค.ศ.2009 Elizabeth H. Blackburn, Carol W. Greider และ Jack W. Szostak 3 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ร่วมกันรับรางวัลโนเบลทางการแพทย์ จากการค้นพบกลไกการป้องกันโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลายด้วยโครงสร้างเทโลเมียร์ที่ปลายโครโมโซม และเอนไซม์เทโลเมอเรส (Telomerase) ที่ช่วยซ่อมแซมเทโลเมียร์ให้เป็นปกติ

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 เป็นการค้นพบองค์ความรู้ด้านการชะลอวัยครั้งสำคัญที่ช่วยสร้างความหวังในการมีอายุยืนยาว และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการรักษาโรคอื่นๆด้วย

เทโลเมียร์ คืออะไร...

เทโลเมียร์ คือ ส่วนปลายของโครโมโซม มีหน้าที่ปกป้องโครโมโซมไม่ให้ถูกทำลาย หรือร่นเข้าไป ตามกระบวนการปกติของร่างกายเทโลเมียร์ จะสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อมีการแบ่งเซลล์ เนื้อเยื่อต่างๆ เช่น กระดูก ผิวหนัง เม็ดเลือด ทางเดินอาหาร มีกระบวนการผลัดเปลี่ยนเซลล์เก่าเป็นเซลล์ใหม่อยู่ตลอดเวลา ในการผลัดเปลี่ยนเซลล์แต่ละครั้งเทโลเมียร์ ซึ่งเป็นส่วนปลายของโครโมโซมที่ว่าจะหดสั้นลง เมื่อถึงจุดหนึ่ง เซลล์จะไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อีกและตายลงในที่สุด

...

อาจกล่าวได้ว่า การหดสั้นลงของเทโลเมียร์ คือสัญญาณเตือนความแก่ และเจ็บป่วยของมนุษย์ หลักชีววิทยา เชื่อว่า เซลล์ในร่างกายของคนเรามีความสามารถในการแบ่งตัวได้ราว 50-100 ครั้ง เมื่อความสามารถในการแบ่งตัวของเซลล์หมดลง จะเกิดความเสื่อม ที่เรียกว่า Aging process เป็นที่มาของปัญหาสุขภาพความเสื่อม

อย่างไรก็ตาม การศึกษาใหม่ๆทางการแพทย์ พบว่า ปัจจัยจากวิถีชีวิตและความเจ็บป่วย มีผลต่อความยาวของเทโลเมียร์ และทำให้อายุของร่างกาย หรือ Biological age หรืออายุเซลล์ซึ่งแตกต่างจากอายุจริงตามวันเกิดแก่ลงไปเรื่อยๆ

บางคนอายุเพียง 50 ปีเศษ แต่พบว่า อายุร่างกายสูงถึง 70 กว่าปี ขณะที่บางคนอายุ 70 กว่าปี แต่อายุร่างกายยังอยู่เพียง 40-45 ปีเท่านั้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า เทโลเมียร์ ของเราสั้นยาวแค่ไหน อย่างไร...

การตรวจที่เป็นที่นิยม คือ การตรวจเทโลเมียร์จากเลือด ซึ่งวัดความยาวเฉลี่ยของเทโลเมียร์ในเซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นตัวแทนภาพรวมเทโลเมียร์ของเซลล์ในร่างกาย

ปัจจัยที่มีผลต่อความยาวของเทโลเมียร์ มีทั้งปัจจัยจากรอบตัวและการใช้ชีวิตเป็นส่วนสำคัญ เช่น การสูบบุหรี่, ความ เครียด, นอนไม่หลับ, โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง, ภาวะ Oxidative Stress, ภาวะติดเชื้อและการอักเสบ, โรคตับอักเสบ, โรคภูมิแพ้ตัวเอง, โรคกระดูกพรุน, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, การใช้ยาในทางที่ผิด ฯลฯ ทั้งหมดนี้มีผลทำให้อายุของเทโลเมียร์สั้นลง

การวัดความยาวของเทโลเมียร์ เพื่อให้รู้อายุจริงของเซลล์ภายในร่างกายที่สามารถนำไปวิเคราะห์ความเสี่ยงของโรคและอัตราการเสื่อมสภาพของเซลล์ หรือที่เรียกง่ายๆว่าอัตราความแก่ชรา พฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้แพทย์รู้ถึงแนวทางการรักษา และการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมในการชะลอและป้องกัน ความเสื่อมอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อการแพทย์เจริญรุดหน้า สามารถเพิ่ม เสริม อวัยวะต่างๆในร่างกายได้ มีคำถามว่า เราสามารถเพิ่มความยาวของเทโลเมียร์ได้หรือไม่

คำตอบคือ...ได้ ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาเพื่อเพิ่มความยาวให้กับเทโลเมียร์ โดยอาศัยความรู้ในการกระตุ้น เทโลเมอเรสเพื่อประเมินแผนการรักษา ว่ามีการเพิ่มความยาว ของเทโลเมียร์หรือไม่

เทโลเมอเรส เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่งที่สามารถต่อเติมความยาวเทโลเมียร์และซ่อมเทโลเมียร์ที่สั้นโดยต่อความยาวเข้าไปใหม่ได้ โดยอาศัยกลไกทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ และยีน เทโลเมอเรสจะทำหน้าที่เติมลำดับเบสเฉพาะไปยังปลายโครโมโซมในภาวะปกติ และในสเต็มเซลล์ของผู้ใหญ่

แต่จะให้ง่ายขึ้น เคล็ดลับในการดูแลรักษาเทโลเมียร์ จริงๆแล้วเริ่มได้ที่ตัวเราเอง ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต จากที่เคยนอนน้อย ก็ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง โดยเข้านอนก่อน 22.00 น., ดื่มน้ำสะอาด ให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หรือ 2 ลิตร, รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารปรุงแต่ง อาหารจานด่วน อาหารประเภทนม เนย ไขมันจากสัตว์ อาหารที่มีรสจัด ทั้งหวานจัดเค็มจัด หรือมันจนเกินไป งดอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและเส้นใยให้ได้สัดส่วน 50% ต่อมื้อ, เนื้อขาว เช่น เนื้อไก่ หรือเนื้อปลา 25% ต่อมื้อ และข้าวแป้งธัญพืชไม่ขัดสีอีก 25% ต่อมื้อ

...

ออกกำลังกายหัวใจ (Cardio exercise) ซึ่งต่างจากการออกกำลังกายทั่วไป การออกกำลังกายหัวใจทำได้โดยการ วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือเน้นการขยับตัวและการเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว, หมั่นดูแลสุขภาพจิตของตัวเองให้มีความสดใส ไม่มีความเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป ด้วยการนั่งสมาธิ ปล่อยวาง เดินจงกรม ลดความเครียด พักการใช้สมอง เพื่อขจัดความเครียดและความเหนื่อยล้าทางใจ, ลดละเลิกการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งหมดนี้มีผลต่อการยืดอายุของเทโลเมียร์ และทำให้การหดสั้นของโครโมโซมกำหนดความแก่ดำเนินไปอย่างช้าลง ชะลอความเสื่อมของร่างกาย ทำให้เรามีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ

อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวไปนานๆ ต้องดูแลรักษาเทโลเมียร์ให้ดี อย่าให้อายุร่างกายแซงหน้าอายุจริงได้.