ด้วยวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้สร้างให้ผู้คนรู้สึกหวาดผวาอยู่ในโลกแห่งความกลัว (World of fear) เพื่อสร้างความรู้ในการบริหารชีวิตผ่านวิกฤตินี้ไปอย่างราบรื่น รศ.ดร. วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นักบริหารมืออาชีพ ได้แนะแนวทาง ในการจัดการความรู้สึก
โดยบอกว่า จากการศึกษาและวิเคราะห์พบว่าหากเราสามารถ Redesign โดยเฉพาะการ Redesign Behavior คือการออกแบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ จะ นำพามาซึ่งความสุขตามอัตภาพ ดังนั้นในการที่จะปรับเปลี่ยน พฤติกรรมเราต้องมีสติ มีความรอบคอบ มีความมั่นใจ และไม่ตื่นตระหนก
อาจารย์วิเลิศ อธิบายต่อว่า เริ่มต้นตั้งแต่ตื่นนอน เดินทางออกจากบ้าน กระทั่งกลับเข้ามาในบ้าน ต้องมีสติ เตือนตัวเองทุกครั้งที่ออกไปยังที่สาธารณะ หรือไปพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูงควรระมัดระวัง ไม่ควรมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง ไม่หยิบจับ หรือแตะต้องสิ่งใดๆ หากมีสิ่งของที่ช่วยในเรื่องการฆ่าเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงหน้ากากอนามัย ควรพกพาติดตัวไว้ เพื่อให้เรารู้สึกปลอดภัยมั่นใจในทุกที่ที่เราไปในที่สาธารณะ นอกจากจะต้องออกแบบพฤติกรรมใหม่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องรู้สึกสบายใจไม่อึดอัดกับพฤติกรรมที่จะเปลี่ยนไปเช่นนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่การออกแบบพฤติกรรมตัวคุณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการที่คุณต้องคิดใหม่ Rethink เช่น การหาความรู้ต่างๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขเพื่อลดความหวาดกลัวตื่นตระหนก ยิ่งในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทำให้เรามีเวลาอยู่บ้านเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สร้างความสุขจากการอยู่ในบ้านมากขึ้น ด้วยการเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ ที่เราสนใจชื่นชอบผ่านออนไลน์ต่างๆ หรือการเรียนรู้จากแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น การเรียนทำอาหาร การฝึกร้องเพลง การเล่นดนตรี การทำความสะอาดตกแต่งบ้าน หรือเสริมสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น ด้วยการออกกำลังกายภายในบ้านแทนการออกกำลังในที่สาธารณะ เป็นต้น
...
สุดท้าย รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวว่า Reunite สมัครสมาน ร่วมแรง ร่วมใจช่วยเหลือกัน ไม่กักตุน ไม่แสวงหากำไร ไม่มั่วสุม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เช่น หากคุณเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยง เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ควรจะได้รับการคัดกรองเชื้อ โรค และกักบริเวณตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และกล้ายอมรับ เพราะถ้าเราได้ทำดีที่สุดแล้วแต่ก็ยังเกิดขึ้น ก็ต้องสามารถให้อภัยตนเองและคนรอบข้างให้ได้ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้อง Rethink และ Reform คิดใหม่ทำใหม่เพื่อสร้างบาลานซ์ระหว่างความสุขและความปลอดภัยภายใต้วิกฤติโควิด-19.