นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ และ นพ.นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ ชวนกันเขียนการ์ดให้กำลังใจเยาวชนที่มีปัญหาสายตาในพื้นที่ห่างไกล.
ส่งต่อความช่วยเหลือให้กับเยาวชนที่มีปัญหาด้านสายตาในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ให้มีสุขภาพตาที่ดีขึ้น ห้างแว่นท็อปเจริญ ร่วมกับ มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย สานต่อ “โครงการแว่นตาเพื่อน้อง” ปี 4 โดยนำทีมงานผู้เชี่ยวชาญพร้อมเครื่องมืออันทันสมัย ลงพื้นที่ตรวจสุขภาพดวงตาและประกอบแว่นใหม่ ซึ่งปีนี้เปิดตัวโครงการฯขึ้นที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในงาน นพศักดิ์ ตรีพรชัยศักดิ์ ผู้บริหารแว่นท็อปเจริญ กล่าวว่า โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2557 โดยได้ออกหน่วยบริการตรวจสุขภาพดวงตา ตรวจวัดสายตาและประกอบแว่นใหม่ให้กับเยาวชนเป็นประจำเดือนละครั้ง โดยมีจำนวนเยาวชนเข้ารับบริการเฉลี่ยครั้งละ 500 คนขึ้นไป หากพบเยาวชนที่มีปัญหาโรคตาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยแว่น ทางโครงการฯจะส่งตัวผู้ป่วยเหล่านั้นเข้ารับการรักษาต่อที่ “ศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ” โดยไม่คิดค่าบริการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งขณะนี้ โครงการฯได้ส่งต่อความช่วยเหลือแล้วรวมกว่า 15,000 ราย และภายในปี พ.ศ.2566 โครงการฯ ได้ตั้งเป้าจะส่งต่อความช่วยเหลือให้กับเยาวชนครอบคลุมทั่วประเทศเพิ่มเป็น 35,000 ราย
...
นพ.นพวุฒิ ตรีพรชัยศักดิ์ ผอ.ศูนย์รักษาตาท็อปเจริญ กล่าวเสริมว่า ปัญหาด้านสายตาที่พบมากที่สุดในเด็กไทยอายุระหว่าง 5-18 ปี คือ ปัญหาสายตาสั้นเทียม โรคตาขี้เกียจ และโรคตาเข/ตาเหล่ ปัจจุบันปัญหาสายตาสั้นเทียมมักพบบ่อยขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเราใช้การมองระยะใกล้กันมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์มือถือ ทั้งจอเล็กและจ้องดูใกล้ ที่สำคัญเพ่งจ้องดูกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ละสายตา รวมถึงจ้องดูในบริเวณที่มีแสงน้อยๆ ดวงตาจึงต้องใช้กล้ามเนื้อเพ่ง ต้องทำงานเกร็งตลอดเวลา ทำให้ไม่คลายตัว อีกปัญหาเรื่องโรคตาขี้เกียจ มักพบในเด็กเล็กช่วงวัยเตรียมเข้าโรงเรียน โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากพฤติกรรมการจ้องมองสิ่งของรอบตัวของเด็ก โดยลองปิดตาเด็กทีละข้างแล้วตรวจดูว่าการมองเห็นใกล้เคียงกันไหม ถ้าพบลักษณะผิดปกติดังกล่าวอาจต้องพาลูกไปพบจักษุแพทย์
โรคตาขี้เกียจนี้มีผลทำให้การพัฒนาซีกสมองส่วนการมองเห็นไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมองเห็นภาพข้างนั้นไม่ชัดเจน นานวันสมองซีกนั้นจะหยุดพัฒนาการมองเห็น และทำให้ความสามารถในการมองเห็นสิ้นสุดลง จนอาจเป็นตาเขในระยะยาว และสุดท้ายคือโรคตาเข/ตาเหล่ ซึ่งเป็นอาการของการรวมภาพของดวงตาทั้งสองข้างไม่ดี มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ อุบัติเหตุที่ตาหรือโรคทางสมอง รวมทั้งพฤติกรรมของตัวเด็กเอง อาทิ การชอบนอนอ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลทำให้เด็กกลุ่มนี้กะระยะได้ไม่ดีเมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาไม่มั่นใจและมักขี้อาย โรคตาเขในบางครั้งอาจเป็นตลอดเวลา หรือบางครั้งอาจเป็นแบบซ่อนเร้น อาจปรากฏในช่วงที่อ่อนเพลีย ส่วนการตรวจรักษาโดยจักษุแพทย์จะตรวจวินิจฉัยว่าเด็กเป็นโรคตาเขประเภทใด กล้ามเนื้อกลอกตามัดไหนมีปัญหา มุมเขมากน้อยเท่าไร และมีปัญหาสายตาอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ส่วนใหญ่จักษุแพทย์จะรักษาต้นเหตุของตาเขก่อน และสุดท้ายจะผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเพื่อให้ตาตรงต่อไป
พร้อมกันนี้ทางโครงการฯ ชวนร่วมกิจกรรมส่งความสุขด้วยการกดแชร์วีดิโอ “Double Happiness” ใน Facebook .com/TopCharoenOptical Official โดย 1 การแชร์มีค่าเท่ากับ 1 ความสุขแบบคูณ 2 ของน้องๆ ตั้งแต่วันนี้ถึง 28 ก.พ. ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook.com/TopCharoenOpticalOfficial หรือเว็บไซต์ www.topcharoen.co.th.
...