ผู้บริหารจาก 3 องค์กรผนึกกำลังเพิ่มศักยภาพแก่สตรีชาวไร่อ้อย จากซ้าย พรวุฒิ สารสิน–ไทยน้ำทิพย์, สรวงกนก ศิริโสม ชาวไร่อ้อย, สมศักดิ์ จันทรรวงทอง–คณะกรรมการอ้อย และน้ำตาลทราย, ปิยะบุตร ชลวิจารณ์–สถาบันคีนันแห่งเอเชีย และ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร ผู้บริหาร บ.น้ำตาลไทยรุ่งเรือง.

กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย เดินหน้า “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก ‘5by20’ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าของโคคา-โคลา ได้แก่ ร้านค้าปลีก ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ผู้แทนจำหน่าย คนเก็บบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล และช่างฝีมือที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ภายในปี พ.ศ. 2563 และในปีนี้ได้ขยายโครงการเพื่อ เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบัน คีนันแห่งเอเชีย นำร่องเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย 600 คน ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ด้วยการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการด้านการเงินและทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ภายในระยะเวลา 1 ปี (สิงหาคม 2559-กรกฎาคม 2560) ก่อนที่จะขยายผลการดำเนินโครงการฯไปสู่เกษตรกร สตรีชาวไร่อ้อยและกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตวัตถุดิบน้ำตาลรายอื่นในระยะต่อไป เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยในรูปแบบการสร้างคุณค่าร่วมกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน

พรวุฒิ สารสิน ประธานกรรมการ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากการเปิดตัว “โครงการธุรกิจ ยั่งยืนกับโคคา–โคลา” ระยะแรกในปี 2557 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ เจ้าของร้านค้าปลีกหญิง จนถึงขณะนี้ มีผู้เข้าร่วมโครงการฯแล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ และในปีนี้จึงได้ขยายโครงการฯ ไปสู่กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยเราได้ร่วมกับพันธมิตรออกแบบหลักสูตรการฝึกอบรม ที่มุ่งเน้นในสองหัวข้อหลัก คือการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่าง ยั่งยืน อันเกิดจากการประเมินความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย ซึ่งพบว่ากลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลครอบครัว และมีอำนาจตัดสินใจทางการเงิน แต่ยังขาดความรู้และทักษะในสองเรื่องนี้ โครงการฯในระยะที่สองนี้จะช่วยส่งเสริมการประกอบอาชีพและดูแลครอบครัวให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยอีกด้วย

...

รุ้งวรา มงคลเจริญ อายุ 25 ปี จาก จ.เพชรบูรณ์ ในฐานะตัวแทนเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจกลับไปช่วยครอบครัวทำไร่อ้อยหลังเรียนจบว่า เพราะต้องการสานต่อเจตนารมณ์ ของพ่อแม่ ในการสร้างธุรกิจจากไร่อ้อย โดยครอบครัวมีไร่อ้อย 300 ไร่ และเช่าเพิ่มอีก 100 ไร่ ก่อนหน้านี้มีปัญหาคือ รายได้น้อยกว่ารายจ่ายที่มีหลากหลาย อาทิ ลงทุนในไร่อ้อย เทคโนโลยี ค่าแรง สิ่งที่ได้รับจากการเข้าอบรมคือ ความสามารถในการวางแผนการเงิน ความรู้ด้านการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถออมเงินได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ตนเองยังใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เผยแพร่และแบ่งปันเนื้อหาความรู้จากการอบรมให้กับเพื่อนๆ และพ่อแม่ซึ่งเป็นเกษตรกรรุ่นเก่าอีกด้วย.