นานมีบุ๊คส์ ร่วมกับ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน เปิดตัว พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่มล่าสุด เรื่อง “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว” ประพันธ์โดย ชวนหนี หรือมีชื่อจริงว่า “หลิวชุนเฟิ่ง” นักเขียนชาวเสฉวนร่วมสมัย ซึ่งสะท้อนภาพปัญหาชีวิตรักของหนุ่มสาวชาวจีนในสังคมยุคใหม่ จากมุมมองของผู้เป็นทั้งแม่และภรรยา กับค่านิยมเก่าที่บูชาเทิดทูนความรัก และจบลงอย่างชาญฉลาดด้วยความตระหนักรู้ของตัวละครเอง โดยเธอได้บินตรงจากกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มาร่วมในงานเปิดตัวหนังสือครั้งนี้ด้วย ที่ห้องนิทรรศการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ถ.เทียนร่วมมิตร

นักเขียนสาวชาวจีน ได้เปิดใจว่า สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี ทรงเป็นที่รู้จักของคนจีน อย่างมาก โดยรู้จักพระองค์ผ่านการเสด็จฯเยือนประเทศจีนในทุก ครั้ง พระองค์ทรงมุ่งมั่นที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ คนจีนเองรักและเคารพพระองค์ท่าน โดยพวกเราจะเรียกพระองค์ท่านว่า “ซือ หลิน ทง กง จู่” แปลว่า “เจ้าหญิงสิรินธร”

...

นอกจากนี้ ยังบอกว่า ตนไม่รู้ว่าพระองค์ ทรงมีช่องทางรู้จักหนังสือของตนเองได้อย่างไร อาจจะเป็นช่องทางจากอินเตอร์เน็ต หรือมีคนแนะนำให้ทรงอ่าน เมื่อตนทราบว่า พระองค์จะทรงแปลหนังสือเล่มนี้ รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่เจ้าฟ้าหญิงของไทยจะทรงแปลบทประพันธ์ของเธอให้คนไทย ได้รู้จัก พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักอย่างมากในวงการวรรณกรรมจีน ว่าทรงแปล นวนิยายจีนหลายเล่ม หนึ่งในนั้นมีนวนิยายจีนรุ่นพี่ของเธอด้วย ซึ่งนักเขียนรุ่นพี่ก็ประทับใจพระองค์ท่านมาก และทรงแปลได้ดีมาก ทรงเป็นนักจีนวิทยาที่ดีมาก ตนไม่รู้ภาษาไทย แต่เชื่อว่าพระองค์ท่าน คงทรงแปลได้ดีมากแน่นอน ตนไม่เคยรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯมาก่อน แต่คิดว่าคงจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 44 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14 ในปลายเดือนนี้ พร้อมกันนี้ ทางสำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ ได้จัดทำหนังสือเล่มใหญ่ เพื่อถวายพระองค์ท่าน โดยตนได้เขียนกลอนถวาย เป็นภาษาจีน มีใจความว่า “จิตวิญญาณแห่ง วรรณกรรม เชื่อมโยงกัน ความคิด เชิงวรรณกรรมเหมือนสายน้ำที่หลั่ง ไหล ความรู้สึกในเชิงจิตใจทางวรรณกรรมนั้น ชั่วฟ้าดินสลาย”

ชวนหนี นักเขียนดัง กล่าวต่อว่า นวนิยาย เรื่อง “ความรักใดจะไม่ปวดร้าว” สะท้อนการเติบโตของสตรีจีนในวัยทำงานของชนชั้นกลาง ที่ต้องเสียสละมาเป็นแม่บ้าน เลี้ยงดูลูก โดยตนเองเป็นผู้ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่ไม่ได้รุนแรง เพราะสามีดูแลอย่างดี โดยพูดถึงความกดดันของชีวิตแม่บ้านชาวจีน ที่ได้เสียสละความเป็นตัวตน กระทั่งได้ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน เพื่อไปพบเพื่อน แต่กลับพบว่า เพื่อนก็มีปัญหาที่กำลังจะตาย สุดท้ายก็หาทางออกในชีวิตได้ และก็ได้กลับบ้าน นวนิยายเล่มนี้ได้สะท้อนถึงความรักที่เจ็บปวดที่สุด คือ ความรักของหนุ่มสาวที่มีความซับซ้อนมากกว่าอย่างอื่น ความรักของลูกเป็นผู้รับ ความรักของแม่เป็นผู้ให้ ความรักในฐานะเป็นลูกสาวมีความสุขที่สุด ดิฉันจึงหวังว่า ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิง เมื่ออ่านแล้วก็จะได้มีความคิด และเติบโตไปกับลูกๆ ส่วนผู้อ่านที่เป็นผู้ชายก็จะได้เห็นมุมมองที่แตกต่าง และมีความเข้าใจผู้หญิงมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังบอกว่า สถานการณ์ของผู้หญิงจีนในปัจจุบัน ตกอยู่ในสถานภาพสากลเช่นเดียวกับผู้หญิงไทย ที่ต้องทำงานนอกบ้าน และต้องดูแลรับผิดชอบงานบ้านด้วย และคิดว่าทั้งผู้หญิงไทยและจีนจะสามารถรับมือได้ ตนเคยได้ยินคนบอกว่า ผู้หญิงไทยแกร่ง จึงนับว่าผู้ชายไทยโชคดี.