ศ.คลินิก นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน (กลาง) ผอ.รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช (ซ้ายสุด) และทีมแพทย์ร่วมกิจกรรม Family Day.
คนทั่วไปมักจะคิดว่าข้อเข่าเสื่อมจะเป็นไปตามวัย คือเกิดกับผู้สูงวัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคข้อเสื่อม มักเกิดจากการใช้งานข้อที่ไม่ถูกต้อง ใช้งานหนัก หากใช้งานไม่ถูกต้อง ก็จะเร่งให้โรคข้อเสื่อมเป็นเร็วขึ้น เพื่อให้ความรู้การดูแลข้อเข่าและข้อสะโพก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้จัดกิจกรรม “ครอบครัวข้อดี Family Day” เกี่ยวกับสถานการณ์โรคข้อเสื่อมในประเทศไทย และการดูแลข้อเข่าและข้อสะโพกหลังการผ่าตัด ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
รศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ กล่าวว่า โดยทั่วไป โรคข้อเข่าเสื่อมมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในช่วงวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุมาจากการเสื่อมที่เกิดจากการใช้งานแล้ว ยังพบว่า มีโรคบางอย่างเป็นสาเหตุให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้เร็วกว่าวัยอันควร ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมในชีวิตประจำวันว่า ทำร้ายข้อเข่าอยู่หรือไม่ และที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของข้อเข่า พฤติกรรมทำร้ายข้อเข่า มีดังนี้ 1.นั่งงอเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ หรือนั่งยองๆ เป็นประจำ จะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่า ซึ่งจะรบกวนการนำอาหารไปสู่เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อ 2.น้ำหนักตัวมากเกิน เพราะข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวตลอดเวลาที่ใช้งานข้อ ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน หรือขึ้นลงบันไดก็ตาม 3.ใส่รองเท้าส้นสูง จะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับ มากกว่าปกติ ทั้งยังทำร้ายข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้า เพราะเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักก่อนจุดอื่นๆ ซึ่งเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ง่าย และหากคนที่ข้อเข่าไม่แข็งแรง หรือมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติ จะมีผลกระทบมากกว่าคนปกติ
...
วิธีสังเกตอาการข้อเสื่อมนั้น จะมีเสียงดังขณะขยับข้อไปมา บ้างก็มีอาการข้อฝืด โดยเฉพาะ เวลานั่งนานๆ หรือขณะเปลี่ยนอิริยาบถ จะเหมือนข้อถูกล็อกไว้ ต้องขยับไปมาสัก 2-3 ครั้ง จึงเหยียดเข่าออกได้ บางรายมีข้อบวมโต หรือมีบวมแดง การรักษาทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การใช้ยา ควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด หรือในกรณีของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม การผ่าตัดก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอีกต่อไป ปัจจุบันมีการนำคอมพิวเตอร์ และหุ่นยนต์ผ่าตัด มาช่วยในการผ่าตัด ทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลงกว่าแต่เดิมมาก ขณะเดียวกันแพทย์สามารถป้อนข้อมูล ผู้ป่วยต่างๆ เข้าไปในคอมพิวเตอร์ ซึ่งช่วยเพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการคำนวณ มีความละเอียดเป็นหน่วยมิลลิเมตร ช่วยให้แพทย์แต่งกระดูกให้ได้มุมสอดรับกับผิวข้อเทียม และช่วยในการวางตำแหน่งของข้อเข่าเทียมได้แม่นยำ ลดการบอบช้ำ เสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว สามารถเดินได้เร็วภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด.