ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และศิวพร ทรรทรานนท์ เลขาธิการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นำทีมผู้บริหารจากแอร์โรว์ และบุญญาภาณิ์ เบญจรงคกุล,ชาคริต แย้มนาม,นิรุตติ์ ศิริจรรยา,สาวิตรี สามิภักดิ์ ปล่อยช้างสู่ป่า.

ARROW ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ของมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ที่มีปณิธานอันแน่วแน่ในการคืนช้างสู่ธรรมชาติ...

ช้างเป็นสัตว์โลกที่อยู่มา 20 ล้านปีแล้ว และถือเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยมาช้านาน แต่นับวันกลับประสบปัญหาใกล้สูญพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ ARROW ภายใต้การนำของสมพล ชัยศิริโรจน์ จึงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ ของมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ที่มีปณิธานอันแน่วแน่ในการคืนช้างสู่ธรรมชาติ เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวนทั้งหมด 81 ตัว โดยผลิตภัณฑ์ ARROW ได้จัดทำผลิตภัณฑ์คอลเลกชั่นพิเศษ "ช่วยช้างกลับบ้าน" เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งสมทบโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติและช่วยให้ช้างไทย 8 เชือกได้กลับคืนสู่ป่า

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ ARROW ได้ทำพิธีปล่อยช้าง 2 เชือกสุดท้ายกลับสู่ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาเมือง จ.ลำปาง ได้แก่ พังตุ๊กตา อายุ 27 ปี พังนำโชค อายุ 59 ปี แต่เนื่องจากมีลูกติดมาด้วยอีก 1 เชือกคือ พังดุจดาว งานนี้จึงได้ปล่อยช้างกลับสู่ป่ารวม 3 เชือก โดยได้ทำพิธีทางศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับการปล่อยช้าง และพิธีบวงสรวงเพื่อให้การปล่อยช้างสู่ป่าอย่างปลอดภัย รวมถึงป้อนอาหารช้างให้อิ่มหนำก่อนปล่อยคืนสู่ป่า



ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ที่เข้าร่วมในพิธีปล่อยช้างคืนสู่ป่าทุกครั้ง เผยว่า การได้ปล่อยช้างให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ในวิถีธรรมชาติของช้าง ถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ อย่างหนึ่ง เพราะช้างไม่เพียงแต่จะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง แต่ยังเป็นสัตว์ใหญ่ที่ทรงคุณค่ายิ่งนัก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหันมาช่วยกันอนุรักษ์ช้างไทยให้คงอยู่ต่อไป เนื่องจากทุกวันนี้ปริมาณช้างในบ้านเรามีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ ประมาณการกันว่าขณะนี้มีช้างป่าประมาณ 2,000 ตัว ช้างที่อยู่ในเมืองอีกประมาณ 2,000 เชือก และช้างก็ล้มตาย ลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันช้างที่เกิดใหม่ก็มีน้อยมาก เพราะกว่าช้างจะตกลูกแต่ละตัวต้องใช้เวลายาวนานมาก ไหนจะแบกท้องถึง 2 ปี และระหว่างเลี้ยงลูกอีก 2-3 ปีก็จะไม่ยอมผสมพันธุ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงมีรับสั่งหลายครั้งหลายหนเกี่ยวกับเรื่องช้าง และทรงปล่อยช้างมาล่วงหน้าแล้ว มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติจึงตั้งขึ้นมาเพื่อถวายงานพระองค์ท่านในการช่วยกันอนุรักษ์ช้าง ดังนั้น ความฝันอันสูงสุดในการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ คือการได้เห็นช้างตั้งท้องตกลูก



บิ๊กแอร์โรว์...ธรรมรัตน์ โชควัฒนา และสมพล ชัยสิริโรจน์ ช่วยกันปล่อยช้างสู่ป่าอย่างอิ่มบุญ.

ขณะที่นักแสดงรุ่นใหญ่ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ซึ่งมาร่วมปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติ และเป็นผู้หนึ่งที่มีความรักความผูกพันกับช้างไทยกล่าวว่า คนไทยทุกคนย่อมมีความผูกพันกับช้าง เพราะตั้งแต่เรียนหนังสือ ประวัติศาสตร์ของชาติก็ทำให้เรารู้จักและผูกพันกับช้าง ยิ่งคนทางเหนือยิ่งมีความผูกพันกับช้าง เพราะคนทางเหนือเขาไม่มีปีหมู คนเกิดปีกุน คือปีช้าง เพราะ "กุน" ของเขา คือ "กุญชร" หมายถึงช้าง "นิรุตติ์" ยังบอกด้วยว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ ตั้งแต่อดีตมา ช้างเปรียบเสมือนรถแบ็กโฮ รถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำหมดทุกอย่าง กระทั่งเรามีเครื่องทุ่นแรง มีเครื่องจักรเข้ามา ช้างก็ถูกเลิกใช้ พอถูกเลิกใช้แทนที่จะหาที่กลับคืนให้เขาอย่างที่แอร์โรว์ทำ แต่เรากลับเห็นช้างถูกนำมาใช้ในการท่องเที่ยวมากเกินไป ซึ่งการท่องเที่ยวถ้ายังอยู่ในท้องถิ่นตนก็เห็นด้วย แต่นั่นก็ยังไม่น่าเศร้าเท่ากับเอาช้างมาเดินหารายได้บนถนนซีเมนต์ ซึ่งช้างคงไม่ได้สตางค์หรอก คงได้แค่กิน แต่กินอิ่มหรือเปล่าเราไม่รู้ และไหนจะประสบอุบัติเหตุตกท่อ รถชน ทำให้ช้างต้องล้มตาย จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ช้างไม่ได้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ และส่วนตัวของเขาเองก็มีความผูกพันกับช้างอยู่ไม่น้อย เพราะมีบ้านอยู่ที่  จ.จันทบุรี  และชอบเข้าไปนอนในป่า  ทำให้พบช้างป่าอยู่หลายครั้ง  และผูกพันกับช้างเจ้าป่าที่ชื่อ "งาเดียว" มาก จนทำโครงการปลูกป่าเลี้ยงช้างขึ้นมาและกำลังจะทำโครงการอื่นๆเพื่อช้างในเร็ววันนี้



คู่รักคนดัง!!บุญญาภาณิ์ เบญจรงคกุล และชาคริต แย้มนาม ร่วมกันสร้างกุศลด้วยกรปล่อยช้าง.

คุณธรรมรัตน์ โชควัฒนา ลูกชายคุณบุญสิทธิ์ โชควัฒนา ซึ่งได้มาร่วมคืนช้างสู่ป่าเป็นครั้งแรก เผยว่า ถึงแม้เป้าหมายในการคืนช้างสู่ป่าของบ.แอร์โรว์จะครบตามเป้าหมายแล้วก็ตาม แต่เราก็คงไม่หยุดอยู่แค่นี้ คงจะปรับรูปแบบในการช่วยอนุรักษ์ช้างต่อไป นอกจากนี้ ทางองค์กรของเราก็พร้อมจะมีส่วนร่วมในโครงการดีๆต่อไปอีก เช่นเดียวกับ คุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้รับผิดชอบโครงการช่วยช้างกลับบ้านกล่าวว่า แอร์โรว์ได้ทำงานช่วยช้างมาตั้งแต่ช่วยช้างที่บาดเจ็บ  จนถึงคืนช้างสู่ป่า  ถือเป็นการช่วยที่ยั่งยืน และต่อไปก็จะปลูกป่าเพื่อเป็นอาหารช้างตามตะเข็บป่า รวมถึงการผสมพันธุ์เทียมช้าง เพราะถ้าปล่อยให้ช้างที่อยู่ในป่าสายพันธุ์ใกล้เคียงกันผสมพันธุ์กันเอง  จะทำให้ได้ช้างที่สายพันธุ์อ่อนแอต่อไป.

...