เปิดทำเนียบซีอีโอยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยลำแข้งตัวเอง มั่นใจว่าจะต้องมีชื่อของสองหนุ่มเลือดนักสู้ต่างวัยแต่หัวใจเดียวกันติดท็อปลิสต์ คนแรกเป็นมนุษย์เจน X สายพันธุ์อึดถึกลุยขนานแท้ “โจ-ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งไทยแอร์เอเชีย อีกคนคือวัยรุ่นพันล้าน ต้นแบบความสำเร็จของมนุษย์เจน Y “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย-อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” กว่าจะมายืนยิ้มแฉ่งเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ได้อย่างทุกวันนี้ โจกับต๊อบยืนกรานกลางวงฟอรั่ม “ความสำเร็จไม่มีทางลัด” ของ “a day BULLETIN” ว่า โคตรเหนื่อยเลยครับ แต่ไม่เคยยอมแพ้หมดกำลังใจ เลยฝ่าฟันจนมาถึงวันนี้ได้

วิธีการมุ่งสู่ความสำเร็จของคนเจน X และคนเจน Y แตกต่างหรือเหมือนกันยังไง

โจ แอร์เอเชีย : สมัยที่ผมเรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ๆ ถ้าจบมาสัก 100 คนในรุ่นเดียวกัน ก็อาจมี 10 คน ที่กลับไปช่วยงานที่บ้าน อีก 10 คน ไปหาอะไรทำเอง ส่วนอีก 80 คน มุ่งมั่นสมัครเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ สมัยนั้นก็ต้อง ปตท., ปูนซีเมนต์, การบินไทย, เนสท์เล่ หรือ P&G แต่สิ่งที่ผมค้นพบคือ เมื่อเราเข้าไปอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ เราจะถูกกลืนให้จมอยู่กับความคิดว่า ถ้าเราทำงานอยู่ที่นี่อีก 5-10 ปี เราจะได้เลื่อนขั้นเป็นอะไร หรือถ้ามีบริษัทไหนให้เงิน เดือนดีกว่า มีโอกาสก้าวหน้า กว่า เราก็ย้ายไปอยู่บริษัทนั้นๆ คือคนยุคผมไม่ค่อยกล้าคิดหรอกว่าจะออกจากระบบ บริษัทมาเป็นเถ้าแก่เอง ซึ่งกว่าจะรู้สึกตัวอีกที เราก็ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการแล้ว

...

ต๊อบ เถ้า-แก่น้อย : ผมเชื่อว่าความสำเร็จของเรามีทางลัด!! แต่ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าเราต้องการอะไรนะครับ คนที่ประสบความสำเร็ส่วนใหญ่จะรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้ดี และฝึกฝนทำสิ่งนั้นจนเชี่ยวชาญสร้างความแตกต่างได้ เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไรในชีวิต เราอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร

อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ค้นพบเส้นทางสู่ดวงดาว

ต๊อบ เถ้าแก่น้อย : ตัวผมเองย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมอายุแค่ 16 ปี เป็นเด็กเรียนไม่เก่งและเกเร แถมยังติดเกมด้วย สิ่งที่ทำให้ผมรู้ว่าที่จริงผมต้องการอะไรในชีวิตไม่ใช่การทำเกาลัด แต่เป็นการขายรองเท้าคู่แรกในเกมออนไลน์ราคา 8 พันบาท ตอนขายได้ผมยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ลูกค้าเป็นฝรั่งโอนเงินให้ทางเวสเทิร์นยูเนียน พอผมไปอัพบัญชีดูมีเงินโอนมาจริงๆ วันนั้นรู้สึกว่า

ท้องฟ้าสดใสมาก ไม่ใช่ดีใจที่ได้เงิน 8 พันนะ แต่เป็นเพราะในเกมที่ผมเล่นอยู่ มีรองเท้าแบบนี้อีกเป็น 100 คู่!! อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นว่าเราหาเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง จุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งที่สองคือ ตอนที่ผมเริ่มทำธุรกิจเกาลัด มีอยู่ 5 สาขา เป็นแฟรนไชส์ ตอนนั้นผมยังเรียนอยู่ ก็วิ่งเก็บเงินและเอาเกาลัดไปส่งตามร้าน ปรากฏว่าทำไปทำมาไม่ได้ไปเรียนเลย ทำแต่เกาลัด อย่างเดียว ผมตัดสินใจจะเลิกเรียนเพื่อมาทำเกาลัดเต็มตัว ตอนนั้นอายุ 19 ปี สิ่งที่ยากสุดคือ จะบอกพ่อยังไงว่าเราเลิกเรียนหนังสือ ผมบอกว่า ป๊าครับ ต๊อบจะขอดร็อปเรียนได้ไหม เค้าก็ถามว่าทำไม ผมบอกป๊าว่าเรียนไม่ไหวแล้ว เพราะต้องเอาเวลาไปทำเกาลัด ป๊าผมเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วพูดว่า จะเลิกเรียนแบบนี้ แล้วคิดว่าธุรกิจที่ทำอยู่มันดีเหรอ ผมถามกลับไปว่าแล้วธุรกิจที่ป๊าทำรับเหมาก่อสร้าง มันดีที่สุดสำหรับป๊าไหม ป๊าตอบว่าอั๊วไม่ได้คิดว่ามันดีที่สุดหรอก แต่มันดีที่สุดสำหรับอั๊วในตอนนั้น...พูดจบผมก็น้ำตาคลอเบ้า และตัดสินใจเลิกเรียน เพื่อมาทุ่มให้กับการทำเกาลัด ตอนนั้นขยายเป็น 30 สาขา พอเราค้นพบตัวเองว่าต้องการอะไร มันก็เหมือนหอกปลายแหลมพุ่งไปสู่เป้าหมายทันที ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จรวดเร็ว

ฟังดูเหมือนคิดปุ๊บก็สำเร็จปั๊บ โดยไม่ต้อง เรียนหนังสือเยอะแยะ

ต๊อบ เถ้าแก่น้อย : มีคนบอกว่าผมโชคดีที่มาถึงตรงนี้ได้เร็ว แต่จริงๆแล้วผมโชคดีที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรตั้งแต่อายุน้อยๆมากกว่า เลยทำให้เริ่มลงมือทำได้เร็วก่อนคนอื่น ผมไม่เคยสนับสนุนให้เลิกเรียนนะครับ จริงๆแล้วการเรียนมหาวิทยาลัยก็มีความจำเป็น ผมคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่ใช่ออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเลียนแบบ “บิล เกตส์” ผมแนะนำให้เรียนไปก่อนเถอะ ถ้ายังไม่รู้ว่าต้องการอะไร บางทีถ้ารีบเกินไป โดยไม่มีโอกาสลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด อันนี้ไม่ดีแน่ๆ

...

คนเจน X เห็นด้วยไหมคะ การเรียนรู้นอกห้องเรียนสำคัญกว่าในห้องเรียน

โจ แอร์เอเชีย : ต๊อบไม่ต้องเสียใจนะ ถึงพี่จะเรียนจบ แต่ก็จบแค่เกรด 2.01 เทอมสุดท้ายเกือบรีไทร์ จริงๆที่บ้านไม่ค่อยมีสตางค์ ผมต้องออกมาเป็น เซลส์ขายคอมพิวเตอร์และเครื่องแฟกซ์ ตั้งแต่เรียนปี 3 แล้วก็ไปทำหนังตัดต่อภาพยนตร์ ส่วนเรื่องเรียนเป็นเรื่องรอง แต่บรรยากาศยุคนี้กับยุคก่อนก็แตกต่างกันมาก ยุคก่อนไม่มีโซเชียลมิเดีย จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ค่อนข้างลำบาก สมัยก่อนผมทำงานมีเงินเดือนสวัสดิการครบ เติบโตมาก็มีรถประจำตำแหน่ง มีค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ และโบนัส จู่ๆจะให้ลาออกทิ้งทุกอย่างที่เคยได้จากบริษัท มันเป็นเรื่องยากสุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนยุคผม แต่ทุกวันนี้มีตัวอย่างแล้วว่า เด็กยุคใหม่สร้างเนื้อสร้างตัวประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร การค้าขายทางโลกโซเชียลก็คึกคักมาก ลูกเรือผมเกือบทุกคนขายของผ่านไอจี เมื่อก่อนใครจะขายอะไร ต้องไปหาหน้าร้าน ต้องจ่ายค่าเช่าค่าน้ำค่าไฟ ทุกวันนี้ขายของทางไอจีไม่ต้องเสียเงินสักบาท ถ้าทำเป็นมีลูกค้าเป็นล้านๆที่พร้อมจะซื้อของเรา แต่การจะก้าวออก จากบริษัทใหญ่ๆมาเป็นเจ้านายตัวเอง มันค่อนข้างลำบากสำหรับยุคเรา

...

กว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ เบื้องหลังสาหัสเอาการเลยใช่ไหม

โจ แอร์เอเชีย : (ทำหน้าเหนื่อยมาก) วันแรกที่ตั้งไทยแอร์เอเชีย เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มันเริ่มจากการที่ผมไปกู้เงิน 200 ล้านบาท แล้วก็มาจดทะเบียนบริษัท ทำธุรกิจอยู่ได้พักเดียว ทางค่ายชิน คอร์ปอเรชั่น ก็มาขอซื้อกิจการต่อ ตอนนั้นผมคิดว่าก็ดีนะ ยังได้นั่งเป็นซีอีโอเหมือนเดิม แต่ไม่ต้องเป็นหนี้ 200 ล้านบาท ผ่านไป 2 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง ไอทีวีเริ่มจอดำ ผมคิดว่าคิวถัดไปน่าจะเป็นแอร์เอเชีย ขณะนั้นเรามีเครื่องบิน 8-12 ลำ และพนักงาน 1,200 คน ผมเชื่อว่าผมสัมภาษณ์เองประมาณ 1 พันคน นักบินส่วนใหญ่ออกมาจากกองทัพอากาศ ผมบอกทุกคนว่ามาอยู่ด้วยกันสร้างอนาคตร่วมกัน ทุกคนก็เชื่อผมหมด ผมเลยทิ้งพวกเขาไม่ได้!! ตอนนั้นผมตัดสินใจร่วมกับผู้บริหารอีก 6 คน ที่จะซื้อหุ้นของแอร์เอเชียคืนมา ผมวิ่งหาเงินทั่วประเทศ ไม่มีแบงก์ไหนปล่อยเงินกู้ให้เรา เพราะกลัวผลกระทบด้านการเมือง ผมต้องวิ่งไปกู้เงินจากต่างประเทศ รอบนั้นผมเป็นหนี้ทีเดียว 900 ล้านบาท ผสมกับดอกเบี้ยที่ทบไปเรื่อยๆเป็นเวลา 5 ปี ยอดหนี้พุ่งไปที่ 2,500 ล้านบาท!! ช่วง 5 ปีนั้น ผมขยันมากและตื่นเช้ามาก เพราะถ้าผมไม่สามารถปลุกปั้นแอร์เอเชียเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ เพื่อหาเงินมาเคลียร์หนี้สินทั้งหมด ผมคงต้องเก็บกระเป๋าไปอยู่ประเทศอื่น

ต๊อบ เถ้าแก่น้อย : โคตรเหนื่อยเลยครับ แต่ถามว่าคุ้มไหม มันก็คุ้มมาก เวลาเราเจอปัญหาอุปสรรคมากๆ เหมือนกับจะสิ้นหวังแล้ว มันมักมีสองทางเลือกเสมอ ทางเลือกแรกคืออย่ายอมแพ้ และทางเลือกสองคือ ดันทุรัง คนที่ประสบความสำเร็จคือต้องไม่ยอมแพ้ แต่อย่าดันทุรัง ผมจะไม่ยอมแพ้เด็ดขาด ถ้ามองเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้า ถึงจะเป็นแสงริบหรี่มากก็ตาม แต่ถ้ามองไม่เห็นโอกาสชนะ แล้วดันทุรังทำต่อไป ผมว่าก็มีแต่ตายกับตาย ผมเชื่อว่าทุกครั้งที่เจอปัญหาอย่ายอมแพ้ ไม่ว่าคุณหมดอะไรก็หมดได้ แต่อย่าหมดกำลังใจ เพราะถ้าหมดกำลังใจเกมจบทันที

...

“ต๊อบ” เคยผ่านประสบการณ์นอนไม่หลับเพราะหนี้สินรุงรังบ้างไหม

ต๊อบ เถ้าแก่น้อย : ส่วนตัวผมยังไม่เคยเจอ แต่ตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง พ่อแม่ผมทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เจอผลกระทบเยอะ เพราะโดนลูกหนี้หนีหนี้ เราก็ไม่มีเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ ตอนนั้นเห็นพ่อแม่เป็นทุกข์มาก ทุกวันต้องมีคนแวะเวียนมาทวงหนี้ที่บ้าน เห็นภาพคุณแม่ร้องไห้ทุกวัน มันเป็นแรงกดดันทำให้คิดตลอดว่าเราต้องช่วยตัวเองให้ได้ จะไม่เป็นภาระของพ่อแม่ การเป็นหนี้คือการเอาเงินคนอื่นมาลงทุนให้งอกเงย อย่างเถ้าแก่น้อย ถ้าถามว่าเรามีเงินสดที่จะสร้างโรงงานไหม คำตอบคือมี แต่ทำไมผมต้องไปกู้เงินแบงก์ เพราะต้นทุนทางการเงินต่ำกว่า ดอกเบี้ยมันน้อย ลงทุนแล้วคุ้มกว่า จะได้เอาเงินสดไปขยายธุรกิจทางอื่น ตอนเริ่มต้นทำธุรกิจ ผมเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องกู้ธนาคารหรอก สมัยนั้นผมใช้เงินจากการขายแฟรนไชส์ธุรกิจเกาลัด สาขาละ 3-4 แสนบาท รวบรวมมาสร้างโรงงานเถ้าแก่น้อย คนรุ่นใหม่ๆยิ่งโชคดีขึ้นไปอีก ถ้าอยู่ในกลุ่มสตาร์ตอัพเพิ่งเริ่มต้นสร้างธุรกิจ ไม่ต้องขายอะไรเลย แต่พวกเขามีสิ่งหนึ่งคือไอเดีย บางคนเรียกเงินได้เป็นร้อยล้านพันล้าน ทั้งๆที่ยังไม่มีอะไรด้วยซ้ำ แต่แบงก์ก็ปล่อยเงินกู้ให้

ขอกุญแจไขสู่ความสำเร็จแบบมีทางลัดบ้างสิคะ

ต๊อบ เถ้าแก่น้อย : ต้องมีแพสชั่น!! ถ้าไม่มีความอยาก ยังไงก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถ้ามีความอยากมันก็จะคิดหาวิธีแล้วว่าถ้าเราอยากทำธุรกิจอันนี้ แต่ไม่มีเงิน จะต้องทำยังไง ทำไมลูกคนมีสตางค์รวยมากๆ ถึงไม่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะเขาไม่มีความอยาก เมื่อไม่อยากทำก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จ

โจ แอร์เอเชีย : ท่องไว้ครับว่า ทุกวันคือวันที่ดีของเรา.


ทีมข่าวหน้าสตรี