มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มอบรางวัลแก่ผู้ชนะออกแบบอัญมณีอาเซียน ทั้ง 9 ประเทศ.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดการประกวดออกแบบอัญมณีอาเซียน ประจำปี 2558 เพื่อคัดสรรนักออกแบบเครื่องประดับยอดเยี่ยมของอาเซียน พร้อมตอกย้ำถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ในงาน “บางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี่ แฟร์” ที่ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพค เมืองทองธานี

...


มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ากว่า 324,000 ล้านบาท รวมทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของสินค้าส่งออกของกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ดังนั้นเพื่อสนับสนุนนักออกแบบรุ่นใหม่ในการสืบทอดและสร้างสรรค์งานเครื่อง ประดับอัญมณี พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างความร่วมมือระหว่างนักออกแบบจากประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อสร้างรากฐานแห่งความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในระดับภูมิภาค กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศสมาชิกอาเซียนและสหภาพยุโรป จัดการประกวดออกแบบเครื่องประดับอัญมณีอาเซียน โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ จากนั้นแต่ละประเทศนำ 5


ผลงาน ส่งเข้าประกวดในระดับภูมิภาคอาเซียน และคัดเลือกผู้ชนะเลิศประเทศละ 1 ผลงาน ซึ่งผู้ชนะจะได้รับทุนไปดูงานบริษัทเครื่องประดับชื่อดัง ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยในปีนี้มีผู้ชนะมาจาก 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไน, อินโดนีเซีย, สปป.ลาว, มาเลเซีย, สหภาพเมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย ส่วนกัมพูชา ไม่มีผู้ส่งผลงาน


สำหรับผู้ชนะเลิศของไทย คือ จิตรกานต์ บรรเทิงไพบูลย์ ได้นำเสนอผลงาน Fairly Fairy เครื่องประดับที่ทำมาจากพลาสติก ซึ่งใช้เทคนิคเลเซอร์คัตติ้ง โดยมีคอนเซปต์ผสมผสานความจริงกับนิยาย และถ่ายทอดออกมาเป็นเครื่องประดับ ที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการ ได้เล่าว่า ตนจบด้านจิวเวลรี่ มาจากประเทศอังกฤษ ตอนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ ที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ งานครั้งนี้ได้ผสมผสานเทคนิคใหม่ในการทำเครื่องประดับที่มาจากพลาสติก เป็นเครื่องประดับร่วมสมัย ซึ่งถ้าจะประยุกต์ใช้วัสดุอื่นอย่างโลหะมาทำก็ได้ ในการประกวดครั้งนี้แต่ละประเทศได้ออกแบบสะท้อนทั้งวัฒนธรรมและแนวความคิดของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี ส่วน Achillea Teng Siow Lee จากประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ผลงานครั้งนี้ใช้เวลาทำกว่า 4 เดือน ที่เลือกหยก เพราะอยากนำเสนอความเป็นชาวจีน ที่มีความเชื่อถึงการส่งต่อหยกจากแม่ถึงลูก และที่ออกแบบมาในแนวธรรมชาติ มีความหมายถึงการมีชีวิตที่ยืนยาว.

...