ไม่กี่วันที่ผ่านมา ฝนฟ้าช่างไม่เป็นใจคนเมืองเอาซะเลย เล่นเทลงมายังกับฟ้ารั่วขนาดนี้ ปัญหาที่ตามมาก็หนีไม่พ้นน้ำท่วมขังที่ทำเอาหลายคนแอบเซ็งไปตามๆ กัน ลามไปถึงการตั้งคำถามต่อหน่วยงานภาครัฐว่า ไม่มีหนทางแก้ไขเรื่องปัญหาน้ำท่วมขังที่ดีกว่านี้หรือ?
เอาเป็นว่า จะหาหนทางแก้ไขเรื่องนี้คงต้องใช้เวลา องค์ความรู้ และการร่วมมือจากทุกฝ่ายแบบบูรณาการ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องพบเจอกับสภาพน้ำท่วมหนักอย่างปี 2554 ที่ผ่านมาอีก เพราะหลายคนที่เคยเป็นผู้ประสบภัยในคราวนั้นคงมีอาการหลอนๆ อยู่เหมือนกันว่า หน้าฝนปีนี้จะเกิดเหตุซ้ำรอยเดิมหรือเปล่า
เอาล่ะ ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องฝนตกน้ำท่วมแล้ว เคยสงสัยมั้ยว่าในต่างประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างบ้านเรา เขามีวิธีรับมือกับปัญหาน้ำท่วมอย่างไรบ้าง วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ อาสาพาไปสำรวจ 5 เมืองด่างแดนที่เขาขึ้นชื่อเรื่องนวัตกรรมการป้องกันและเตรียมรับมือปัญหาน้ำท่วม น่าสนใจทีเดียว ถ้างั้นอย่ารอช้า...ลองมาดูกัน
1. ประเทศเนเธอร์แลนด์
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบต่ำ พื้นที่บางส่วนของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ประเทศนี้จะประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอยู่เป็นประจำ ประกอบกับมีแม่น้ำขนาดใหญ่พาดผ่านประเทศถึง 3 สาย ไหลไปด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเนเธอร์แลนด์ และไหลลงสู่ทะเลเหนือ ซึ่งบริเวณที่แม่น้ำทั้ง 3 สายไหลลงมาบรรจบกันนั้นเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ จุดนี้แหละที่เหมือนปากแม่น้ำเจ้าพระยาของบ้านเราเลย ถือเป็นจุดสุ่มเสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมทุกปี
...
โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1953 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ คนเสียชีวิตเป็นพันๆ พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก ดังนั้นทางการของเนเธอร์แลนด์จึงได้คิดแผนป้องกันน้ำท่วมขึ้นมา โดยสร้างนวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมที่เรียกว่า Delta Works เป็นสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
สำหรับการทำงานของ Delta Works มันเป็นเหมือนเขื่อนคอนกรีตที่สร้างขึ้นมากั้นคลื่นยักษ์ในทะเลไม่ให้สาดซัดเข้ามาทำลายเมือง สามารถป้องกันคลื่นยักษ์ที่สูงถึง 5 เมตรได้สบายๆ และเขื่อนนี้ยังทำหน้าที่เป็นประตูระบายน้ำ กำแพงกั้นน้ำ คันดินกันน้ำ ไปในตัวด้วย ทางการเขาสร้างเจ้าสิ่งนี้ขึ้นมาถึง 16 แห่ง เพื่อกั้นปากแม่น้ำต่างๆ เอาไว้ โดยสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1997 ด้วยโครงสร้างที่แข็งแรงมากๆ มีการคาดการณ์กันว่าเขื่อนกั้นคลื่นยักษ์นี้มีอายุการใช้งานนานถึง 10,000 ปี งานนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เขาทุ่มทุนจริงๆ อีกทั้งเขื่อนต่างๆ ในโครงการ Delta Works ยังได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ด้วยนะ ว้าว!
2. ประเทศนิวซีแลนด์
ด้วยลักษณะภูมิประเทศของนิวซีแลนด์ที่เป็นเกาะ แบ่งออกเป็น 2 เกาะหลัก คือเกาะเหนือกับเกาะใต้ คั่นกลางด้วยช่องแคบ Cook ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ป่า สภาพอากาศเป็นแบบกึ่งเขตร้อน มีฝนตกชุก ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อย่างที่บอกว่าเป็นเกาะ จึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อภัยพิบัติมากมาย ทั้งแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องน้ำท่วมพี่แกก็เจอมาหนักหนาสาหัสเช่นกัน
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่นิวซีแลนด์จะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อป้องกันน้ำท่วมขึ้นมา เรียกว่า Flood Barriers เจ้าสิ่งนี้เป็นอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมแบบชั่วคราวที่เรียกว่าโด่งดังมากทีเดียว ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก มีอีกหลายประเทศทั่วยุโรป รวมถึงอเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ที่นำ Flood Barriers ไปใช้ป้องกันน้ำท่วมเช่นกัน โดยสามารถติดตั้งแผงกั้นน้ำท่วมนี้ไว้ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำเป็นระยะทางยาวกว่า 24,000 เมตร เลยทีเดียว
Flood Barriers ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันคลื่นน้ำขนาดยักษ์ ดังนั้นหากเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อคลื่นที่สูงมากๆ ทางการจะสั่งอพยพคนให้ออกจากพื้นที่โดยด่วน อย่างไรก็ตาม เจ้าสิ่งนี้ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีประโยชน์คุ้มค่ามากๆ สามารถลดหรือชะลอน้ำท่วมไม่ให้เข้ามาในบริเวณอาคารบ้านเรือนจนเกิดความเสียหาย ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพ ออกแบบมาหลายขนาดและความสูงของแผงกั้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในแต่ละสถานการณ์ เลือกใช้ตามระดับความสูงของน้ำที่ล้นตลิ่ง
3. ประเทศนอร์เวย์
ประเทศนอร์เวย์ก็เป็นอีกประเทศที่สุ่มเสี่ยงกับภัยพิบัติอยู่บ่อยๆ ด้วยความที่เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ขั้วโลกเหนือจึงทำให้นอร์เวย์เห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกอยู่เสมอ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลาย เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม
...
ดังนั้น นอร์เวย์จึงได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยรับมือกับปัญหาน้ำท่วมขึ้นมา เรียกว่า AquaFence สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ประเทศนอร์เวย์ร่วมมือกับ University of Life Science คิดค้นขึ้น โดยได้รับการรับรองจากศูนย์ควบคุมพลังงานและทรัพยากรน้ำของนอร์เวย์ (The Norwegian Water Resources and Energy Directorate (NVE)) และหน่วยงานป้องกันน้ำท่วมในหลายๆ ประเทศ
เจ้าสิ่งนี้เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด และยังใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจ ปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยขึ้น สามารถทดแทนกระสอบทรายและผนังกั้นน้ำได้ดี สะดวกต่อการขนย้าย สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ ติดตั้งง่าย รื้อถอนได้รวดเร็วและจัดเก็บสะดวก รองรับระดับน้ำ 75 ซม. ถึง 210 ซม. ตอนนี้ที่เมืองไทยก็มีนำเข้ามาจำหน่ายแล้วด้วยนะ
4. ประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร)
ประเทศนี้ประกอบด้วยเกาะบริเตนใหญ่ และเกาะที่เล็กกว่าจำนวนมาก นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกและเหนือ ทะเลเหนือทางทิศตะวันออก ช่องแคบอังกฤษทางทิศใต้ และทะเลไอร์แลนด์ทางทิศตะวันตก ถือเป็นประเทศหมู่เกาะที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมเช่นกัน
...
ทางการของอังกฤษได้มีการคิดค้นระบบป้องกันน้ำท่วมที่เรียกว่า Rapidam ขึ้นมา หรือเรียกอีกอย่างว่า เขื่อนชั่วคราว เจ้าสิ่งนี้เป็นเหมือนผนังเขื่อนกั้นน้ำขนาดย่อม สามารถให้การป้องกันได้หลายรูปแบบ ใช้กั้นทำนบดิน คอนกรีต หรืออิฐ ก็ได้ ไม่ใช่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้เท่านั้น แต่นังนำไปใช้กั้นดินโคลนถล่ม หรือใช้ในกรณีภัยพิบัติพวกอาคารหรือตึกถล่มด้วยก็ได้ เพราะสิ่งนี้เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการผลิตและทดสอบมาตรฐานอังกฤษมาแล้วเรียบร้อย
หลักการทำงานคือ เมื่อคลื่นน้ำสาดเข้ามากระทบกับ Rapidam เจ้านี้จะสามารถกั้นน้ำไว้ได้อย่างดี แล้วกระจายให้มวลน้ำตกลงไปสู่ด้านล่างอย่างรวดเร็ว จึงทำให้คลื่นสูงๆ ลดลงและสลายตัวไปได้ในเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง นวัตกรรมนี้ถูกผลิตออกมาในหลายรุ่น หลายรูปแบบตามการใช้งาน ว่ากันว่าเจ้า Rapidam บางรุ่นเคยถูกนำไปใช้ในกองทัพสหรัฐฯด้วยนะ
5. ประเทศฟิลิปปินส์
เป็นประเทศเพื่อนบ้านของเราที่เรียกว่าประสบปัญหาน้ำท่วมหนักหนาสาหัสมาพอๆ กัน ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เผชิญภัยพิบัติอย่างพายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อปี 2013 ฟิลิปปินส์ต้องประสบกับภัยพิบัติอย่างหนัก ได้รับความเสียหายมาก
...
ดังนั้น ทางภาครัฐของฟิลิปปินส์จึงได้ออกแบบระบบสารสนเทศโดยใช้ Social media เป็นเครื่องมือในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในชุมชนขึ้นมา เรียกว่า NOAH โปรเจกต์ เจ้าสิ่งนี้เป็นเว็บรวมข้อมูลด้านอากาศแสดงผลบนแผนที่ มีทั้งข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝน ภาพถ่ายดาวเทียมพยากรณ์อากาศ การคาดการณ์น้ำท่วมและระดับน้ำในพื้นที่ต่างๆ ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดต่างๆ เพื่อให้ทางการสามารถเตรียมพร้อมรับมือแก้ปัญหาอุทกภัยได้ทันเวลา
ส่วนทางภาคประชาชนเองก็มีการใช้เครื่องมือสารสนเทศที่เน้นสื่อสังคมออนไลน์ ในโครงการที่ชื่อ MovePH ของเว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยี Rapplep โดยการใช้ศักยภาพของนักข่าวพลเมืองรายงานสถานการณ์จากพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถส่งข่าวสารไปมาระหว่างกันได้อย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
ที่มา : wikipedia, iurban, revetment.uk, klaikong.postach.io
ขอบคุณภาพ : ice2sea, hydroresponse, holland, ibar