ปธ.ซิป้า นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบผอ.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประชาสัมพันธ์ โครงการบายไทยเฟิร์ส รณรงค์ใช้ซอฟต์แวร์ไทย ตั้งเป้าสิ้นปีโกยยอดผู้ใช้ซอฟต์แวร์ไทยปี 53 เพิ่ม 10%...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 พ.ย.52) คณะผู้บริหารโครงการบายส์ไทยเฟิร์ส หรือ โครงการรณรงค์ใช้ซอฟต์แวร์ไทย โดยสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ เอทีเอสไอ เข้าพบ นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ผู้อำนวยการ บริษัท วัชพล จำกัด (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ) และกลุ่มผู้บริหาร ประกอบด้วย นายวัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเทรนด์วีจี 3 (ไทยรัฐออนไลน์) นายธนา ทุมมานนท์ ที่ปรึกษาด้านไอที และนายสมิทธ์ สาลิฟา หัวหน้าแผนกไอที เพื่อแนะนำ และประชาสัมพันธ์โครงการรณรงค์การใช้ซอฟต์แวร์ไทย โดยมีทีมรณรงค์โครงการฯ ตั้งแถวประชาสัมพันธ์รออยู่บริเวณโถงชั้นล่าง เพื่อแจกโบรชัวร์ และข้อมูลโครงการฯ แก่บุคคลากรภายในหน่วยงาน โดยเลือกหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประชาสัมพันธ์เพียงสื่อเดียว พร้อมกันนี้ ยังมอบเสื้อโครงการฯ และของที่ระลึก ให้กับผอ.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ รวมทั้ง ถ่ายภาพร่วมกัน



นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล ผอ.หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กล่าวว่า การรณรงค์โครงการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้ประชาชนตระหนัก และเห็นประโยชน์ของการนำซอฟต์แวร์มาใช้เพื่อการบริหารจัดการในหน่วยงาน ทั้งนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ขณะเดียวกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบหันมาใช้ซอฟต์แวร์ไทย อย่างไรก็ตาม หากคนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการนำซอฟต์แวร์มาใช้อย่างเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานแล้ว จะก่อให้เกิดประโยชน์ และประสิทธิภาพ

นายจีรศักดิ์ พงษ์พิษณุพิจิตร์ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า กล่าวว่า จากการรณรงค์โครงการฯ อย่างต่อเนื่องทำให้ยอดการซื้อซอฟต์แวร์ไทยในผู้บริโภคมีอัตราสูงขึ้น ทั้งนี้ ระยะเวาลา 2 เดือน ระหว่างเดือนส.ค.-ก.ย.2552 พบว่า มียอดการซื้อซอฟต์แวร์ที่ร่วมในโครงการฯ กว่า 70 ล้านบาท คิดเป็นการกระตุ้นยอดขายให้แก่ 29 ซอฟต์แวร์เฮาส์ที่ร่วมโครงการกว่า 15%



ปธ.บอร์ด ซิป้า กล่าวต่อว่า ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ตัวเลขอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 อยู่ที่ 50,064 ล้านบาท ปี 2550  อยู่ที่ 56,616 ล้านบาท ปี 2551 อยู่ที่62,937 ล้านบาท และปี 2552 คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 66,117 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตกลับแปรผกผัน คือ ลดลงโดยตลอดจาก 20.8% ในปี 2549 13.1% 11.2% และ 5.1% ปี 2551

นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ต้องเร่งหากลยุทธ์การขยายอัตราการเติบโตของตลาดซอฟต์แวร์ให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งขับเคลื่อนมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศ ให้สร้างรายได้หมุนเวียนในอุตสาหกรรมไอซีทีไทยได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยหากย้อนกลับไปดูตัวเลขภาพรวมอุตสาหกรรมไอซีที ที่ซิป้าร่วมกับเนคเทคทำการสำรวจเมื่อปลายปี 2551 จะพบว่า ตัวเลข โดยรวมเท่ากับ 542,854 ล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2550 เพียง 8.3%  เป็นการใช้จ่ายจากตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพียง 62,937 ล้านบาทหรือคิดเป็น 11.6%  เท่านั้น โดยการใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสื่อสาร คิดเป็น 69.9% มีมูลค่าสูงถึง 379,216 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ การใช้จ่ายในตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 75,720 ล้านบาท คิดเป็น 13.9% 



“ในปีหน้าตั้งเป้าว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จะเติบโตขึ้นอีก 10% เป็น 30% จากเดิมปี 2552 อยู่ที่ 20% ส่วนแนวโน้มปี 53 จะเน้นเอนเทอร์ไพรซ์ เอ็มเบ็ดเด็ด และอาร์เอฟไอดี นอกจากนี้ ซิป้ายังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้งานในประเทศก่อนที่จะออกสู่ต่างประเทศ ขณะที่ ประเทศเวียดนามมียอดสั่งซื้อซอฟต์แวร์ไทยมากที่สุดในโลก โดยให้งบสนับสนุนจำนวน 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังใช้ซอฟต์แวร์ไทยเป็นแบบอย่างด้วย” นายจีรศักดิ์ กล่าว

นายสมเกียรติ อึงอารี นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ เอทีเอสไอ กล่าวว่า  ในปี 2552 นี้ ซิป้าและเอทีเอสไอ จัดทำรางวัลโล่พระอาทิตย์ทองคำขึ้นอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อเชิดชูเกียรติองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ไทยอย่างเหมาะกับวัตถุประสงค์ และการบริหารงานจนประสบความสำเร็จ โดยในปีนี้พิจารณาคัดเลือกจากหน่วยงานที่เสนอชื่อเข้าชิงจากฝั่งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ 30 หน่วยงาน และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ 30 หน่วยงาน ผลการตัดสินหน่วยงานที่ได้รับรางวัลฯ ในฝั่งผู้ใช้ซอฟต์แวร์ทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน และผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ 9 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก ปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ บริษัทมิตชู (กัมพูชา) จำกัด บริษัท บิ๊ก คาเมร่า จำกัด บริษัท แด๊ดดี้โด (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โมเดิร์น คาส อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติคส์ จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮงเส็งการทอ



รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า มีรางวัลชมเชยองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ไทยอย่างยอดเยี่ยม 2 รางวัล  คือ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พรีม่าโกลด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยยอดเยี่ยม 2 รางวัล คือ บริษัทไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท ดีเอ็ม แอคเซส จำกัด  ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลฯ จะมีขึ้นในวันที่ 25 พ.ย.2552 เวลา 9.00-11.00 น. ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ บี ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี

...