กฤษกร - ชูเดช - สุรพงษ์ - อรัญ - ไปรเทพ - ศิริกุล

ถือเป็นองค์กรการกุศลสังคมสงเคราะห์ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย สำหรับ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” โดยอยู่คู่ชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิด-เติบโต-เจ็บ-ตาย มายาวนานกว่า 100 ปี มีตำนานเริ่มต้นจากพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล 12 คน ที่หนีความยากจนลำเค็ญจากแผ่นดินเกิดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิต และเมื่อลืมตาอ้าปากตั้งตัวได้ พวกเขาเหล่านี้จึงจัดตั้ง “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” แห่งแรกในประเทศไทย บนถนนพลับพลาไชย เพื่อช่วยเหลือโอบอุ้มพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นหลังที่รอนแรมจากจีนแผ่นดินใหญ่มายังสยามประเทศ ให้ได้มีถิ่นพักพิงชั่วคราว พร้อมจัดหาข้าวหาน้ำ และให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น จนกลายเป็นที่มาของการสร้างตำนาน “ข้าวต้มชามแรกบนแผ่นดินสยาม” ที่บรรพบุรุษชาวจีนโพ้นทะเลได้สอนลูกสอนหลาน และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อไม่ให้ลืมบุญคุณข้าวต้มโพ้นทะเลของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และบุญบารมีของหลวงปู่ไต้ฮง ซึ่งอัญเชิญจากประเทศจีนมาประดิษฐานที่เมืองไทย เพื่อให้ลูกหลานชาวจีนได้สักการบูชาเป็นขวัญและกำลังใจ

แม้จะเป็นองค์กรการกุศลสังคมสงเคราะห์อายุเก่าแก่กว่า 100 ปี แต่ “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” ก็ยังคงพัฒนาตัวเองให้ทันสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง โดยล่าสุด ได้เกณฑ์ลูกหลานตระกูลเจ้าสัวยุคเสื่อผืนหมอนใบ ที่สร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยขึ้นได้จากบุญคุณ “ข้าวต้มชามแรกของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง” มาช่วยกันขับเคลื่อนมูลนิธิฯให้เดินไปข้างหน้าอย่างร่วมสมัยไม่ตกยุค นำขบวนโดย “ศิริกุล โอภาสวงศ์” ลูกสาวสุดรักของ “ดร.สมาน โอภาสวงศ์” ประธานกรรมการมูลนิธิฯ, “สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร” ลูกชายคู่บุญของ “ดร.กำพล เตชะหรูวิจิตร” รองประธานกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ, “ไปรเทพ ซอโสตถิกุล” ลูกชายของ “เจ้าสัวกอบชัย ซอโสตถิกุล” กรรมการมูลนิธิฯ, “อรัญ เอี่ยมสุรีย์” ลูกชายของ “อัมพร เอี่ยมสุรีย์” กรรมการมูลนิธิฯ, “กฤษกร เตชะวิบูลย์” ลูกชายคนเล็กของ “เสี่ยสุทัศน์ เตชะวิบูลย์” กรรมการรองเหรัญญิกมูลนิธิฯ และ “ชูเดช เตชะไพบูลย์” ทายาทของ “ดร.วิเชียร เตชะไพบูลย์” รองประธานกรรมการป่อเต็กตึ๊ง

...

อะไรคือพันธกิจหลักในปัจจุบันของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

ศิริกุล : ปัจจุบันนี้ การบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ต่างๆของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ขยายขอบข่ายงานไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้กลายเป็นองค์กรการกุศลสังคมสงเคราะห์ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระของสังคมไทยหลากหลายด้าน ตั้งแต่การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากภัยพิบัติต่างๆ โดยครอบคลุมอย่างครบวงจรชีวิต ตั้งแต่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย การช่วยเหลือของเราจะไม่จำกัดชั้น วรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือวัย ขณะเดียวกัน เราก็ยังมีโรงพยาบาลหัวเฉียว คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกสาขาโรค พร้อมขยายวิทยาลัยหัวเฉียวให้เป็นมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนไทย ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ

“ป่อเต็กตึ๊ง” มีจุดกำเนิดเริ่มต้นอย่างไร

ศิริกุล : มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งถือกำเนิดขึ้นจากชาวจีนโพ้นทะเล ที่เจริญรอยตามจริยวัตรงดงามของหลวงปู่ไต้ฮง ซึ่งเป็นต้นแบบของงานสังคมสงเคราะห์ ที่ป่อเต็กตึ๊งยึดหลักปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 100 ปี โดยจุดแรกเริ่มมาจาก “นายเบ๊ยุ่น” ชาวจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาอยู่ในเมืองไทย ได้อัญเชิญรูปจำลองของไต้ฮ่องกงจากประเทศจีนมาประดิษฐานอยู่ที่ร้านกระจกย่งซุ่นเชียง วัดเลียบ กรุงเทพฯ เมื่อปี 2439 จากนั้นในปี 2442 ชาวจีนโพ้นทะเลในไทย 710 คน ร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่นาบริเวณวัดดอน และวัดคอกกระบือ ยานนาวา เพื่อทำเป็นสุสานสาธารณะ ด้วยความศรัทธาของผู้ที่หายเจ็บไข้ได้ป่วยจากโรคระบาดในเวลานั้น ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ไต้ฮงกงเป็นที่ร่ำลือไปไกล จนมีลูกหลานชาวจีนหลั่งไหลมาสักการบูชาแน่นขนัด ภายหลังต้องอัญเชิญไปประดิษฐานที่สุสานสาธารณะซอยดอนกุศล ต่อมาในปี 2452-2453 พ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเล 12 คน ร่วมกันตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” โดยมี “ยี่กอฮง” (พระอนุวัตร์ราชนิยม) เป็นผู้แทนซื้อที่ดินริมถนนพลับพลาไชย เพื่อดำเนินงานเก็บศพไร้ญาติ พร้อมจัดสร้างศาลเจ้าไต้ฮงกง อัญเชิญองค์ไต้ฮงกงมาประดิษฐานเป็นการถาวร และใช้เป็นสำนักงานดำเนินงานด้านสาธารณกุศลจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2480 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นมูลนิธิฮั่วเคี้ยวป่อเต็กเซี่ยงตึ๊ง หรือมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขยายการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ออกไปหลายโครงการ นอกจากหน่วยบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ ยังมีการจัดตั้งโรงพยาบาลหัวเฉียวทั้งแผนปัจจุบัน และแพทย์แผนทางเลือก เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านเจ็บไข้ได้ป่วย พร้อมก่อตั้งมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ช่วยยกระดับด้านการศึกษาของประชาชน ขณะเดียวกัน ก็มุ่งงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆกันด้วย โดยงานสงเคราะห์ต่างๆของมูลนิธิฯมีทั้งการสงเคราะห์เป็นรายบุคคล รายครอบครัว และชุมชน ตามสภาพของภัยพิบัติที่ประสบ นอกจากนี้ ยังมีการสงเคราะห์ปัญหาด้านจิตใจ และปัญหาทางเศรษฐกิจด้วย

ลูกหลานรุ่นใหม่ของ “ป่อเต็กตึ๊ง” ถูกดึงตัวเข้ามาช่วยงานตั้งแต่เมื่อไหร่

ศิริกุล : จุดเริ่มต้นมาจากคุณพ่อคือ “ดร.สมาน โอภาสวงศ์” ซึ่งทำงานให้ป่อเต็กตึ๊งมา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัย “เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์” ยังเป็นประธานกรรมการอยู่ กระทั่งปัจจุบันคุณพ่อขึ้นเป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ท่านได้เปรยขึ้นมาว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่อายุมากแล้ว เฉลี่ยอายุ 70-80 ปี ต้องการมองหาเจน-เนอเรชั่นใหม่มาช่วยสืบสานงานมูลนิธิฯ จึงให้คณะกรรมการช่วยกันถามไถ่ลูกหลานว่ามีใครสนใจอยากเข้ามาช่วยงานการกุศลของป่อเต็กตึ๊งไหม ได้เห็นคุณพ่อทำงานการกุศลตั้งแต่เรายังเด็ก และเคยไปร่วมกิจกรรมของป่อเต็กตึ๊งมาตลอด ถ้ามีโอกาสก็อยากเข้ามาทำเต็มตัว เมื่อ 2 ปีก่อนจึงเริ่มชักชวนลูกหลานรุ่นใหม่เข้ามาทำงานกับมูลนิธิฯ โดยเป็นผู้ช่วยกรรมการเรียนรู้งานจากผู้หลักผู้ใหญ่

ถูกวางตัวให้เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระด้านใดเป็นพิเศษ

ศิริกุล : พวกเราทำหน้าที่เหมือนบอร์ดเล็กที่คอยเรียนรู้งานจากคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยจะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการมูลนิธิฯเดือนละครั้ง แต่ละคนจะเข้ามารับถ่ายทอดงานในด้านที่มีความถนัดและสนใจ อย่างเรามีพื้นฐานมาทางด้านการเงินการธนาคาร ก็จะเข้ามาเรียนรู้งานด้านนี้เป็นหลัก ทุกคนเป็นคุณลุงคุณน้าคุณอาคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เห็นพวกท่านมาตั้งแต่เด็ก บรรยากาศอบอุ่นดีค่ะ แต่ก็เกร็งนิดหน่อย เพราะแต่ละท่านมีอาวุโสสูง พวกเราคุยกันว่าอยากจะมีส่วนในการปรับปรุงการดำเนินงานของมูลนิธิฯให้ทันสมัยยิ่งขึ้น คนทำงานส่วนใหญ่เป็นคนเก่าแก่ที่ทำกับมูลนิธิฯมาหลายสิบปี หลังเกษียณอายุก็ต่ออายุกันไปอีก ทำจนกว่าจะทำไม่ไหวล่ะค่ะ หลายสิ่งหลายอย่างก็ต้องปรับตัวตามยุคสมัย เพราะมีช่องว่างของวัยเยอะ แถมแต่ละคนยังเป็นญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือมากด้วย (ยิ้ม)

...

แต่ละคนมีไอเดียอะไรอยากนำเสนอเพื่อพัฒนามูลนิธิฯให้ก้าวล้ำยิ่งขึ้น

ไปรเทพ : งานของป่อเต็กตึ๊งคนส่วนใหญ่จะรู้จักในมุมสังคมสงเคราะห์ แต่ที่จริงแล้วเราทำงานที่ครอบคลุมถึงชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย ผมเข้ามาเรียนรู้งานทุกด้านของมูลนิธิฯ คือมีอะไรอยากทำเยอะแยะเลย สิ่งที่อยากเน้นคือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไทยในวงกว้างที่สุดโดยผ่านอาสาสมัครทั่วไป รณรงค์ให้เกิดจิตอาสาในสังคมไทย เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมด้วยความเมตตากรุณา ให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ปราศจากความทุกข์

สุรพงษ์ : สิ่งที่ผมมองเห็นหลังจากเข้าร่วมประชุมมาหลายเดือนคือ ทำอย่างไรเราจะสามารถคิดโครงการและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อใช้ประโยชน์จากเงินบริจาคที่หลั่งไหลเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ผมอยากเน้นการพัฒนาด้านการรักษาพยาบาล, การศึกษา และการสังคมสงเคราะห์คนแก่ ซึ่งกำลังจะเป็นประชากรหลักของประเทศในอนาคต แม้จะต้องลงทุนสูงมาก แต่ผมคิดว่าเราควรต้องทำ เพราะจะสามารถช่วยเหลือคนได้เยอะเลย

...

อรัญ : งานที่ผมสนใจคือ การจัดระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพของอาสาสมัครป่อเต็กตึ๊ง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4 พันกว่าคน ทำยังไงจึงจะหาอาสาสมัครรุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้มูลนิธิฯได้มากขึ้น มีจิตอาสามากขึ้น และมีทักษะในการทำงานจิตอาสามากขึ้น ผมอยากสร้างศูนย์การฝึกอบรมอาสาสมัครอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอยากตั้งกลุ่มจิตอาสาในทุกวงการเลย เช่น กลุ่มคนรักจักรยานก็สามารถรวมตัวกันทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ โดยเข้าฝึกอบรมวิธีการบรรเทาสาธารณภัยเบื้องต้น

กฤษกร : คุณพ่อปลูกฝังตั้งแต่เด็กครับว่า เรามีหน้าที่ต้องสืบสานเจตนารมณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผมเห็นคุณพ่อทุ่มเททำงานให้มูลนิธิฯมาตลอด ส่วนตัวผมอยากเห็นภาพลักษณ์มูลนิธิฯทันสมัยขึ้น และยังสามารถดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาให้เข้ามาบริจาคเงินอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนเนื้องานหลักของมูลนิธิฯในปัจจุบันก็ดีมากอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจจะเพิ่มกิจกรรมบางอย่างที่ทันสมัยขึ้นเพื่อดึงดูดผู้มีจิตอาสารุ่นใหม่ๆทำยังไงไม่ให้ลูกหลานชาวจีนเสื่อมศรัทธาในมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

...

ไปรเทพ : เราอยู่รอดมา 100 กว่าปีได้ เพราะผู้คนศรัทธาเรา และบริจาคเงินเข้ามูลนิธิฯอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายเราก็ต้องนำเงินที่ได้รับบริจาคกลับไปทำประโยชน์ให้สังคมไทยมากที่สุด

ชูเดช : อากงของผมคือ “เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์” พยายามพัฒนามูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้บริหารงานโดยมืออาชีพมากกว่าการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเฉพาะในหมู่ลูกหลานผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ ซึ่งผมคิดว่าน่าจะยึดหลักตามแนวทางนี้ต่อไปในอนาคต เมื่อมูลนิธิฯมีความโปร่งใส ก็ไม่มีวันที่ผู้คนจะเสื่อมศรัทธาในตัวเรา.

ทีมข่าวหน้าสตรี