ชีวิตคนเราต้องไม่หยุดนิ่ง! การใฝ่รู้เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เราก้าวรุดหน้าจากผู้อื่น ยิ่งยุคนี้โลกเปิดกว้าง การได้เพิ่มเติมความรู้ จึงเป็นการติดอาวุธสมองให้เราได้มีที่ยืนในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งนอกจากต้องแข่งขันกับตัวเองแล้ว ยังต้องแข่งกับผู้อื่น และปีนี้เป็นปีเปิดศักราชของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ใครที่ยังอยู่นิ่ง คงต้องหนาวแน่!!

หากย้อนมองชีวิตที่ประสบความสำเร็จของคนรุ่นก่อน สะท้อนให้ได้เห็นว่า “ความสำเร็จ ไม่ได้มาเพราะฟลุค” การก้าวมาถึงจุดนี้ของแต่ละคน ต่างขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวในรูปแบบที่แตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย แม้วันนี้หลายคนจะนั่งแท่นเป็นเถ้าแก่พันล้าน หมื่นล้าน แต่ก็ยังต้องเก็บเกี่ยวหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อเติมเต็มการศึกษาที่ขาดหายไปในช่วงชีวิตวัยเยาว์ และอัพเดตตัวเองให้ทันกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของคนรุ่นบุกเบิกที่ต้องขวนขวายหาทักษะความรู้นอกตำรา อย่างนักธุรกิจอาวุโส “ซิวซี แซ่ตั้ง” ผู้มีชีวิตที่ติดลบ แต่ด้วยความอดทน ดิ้นรนหาทักษะใส่ตัว จึงสามารถผลักดันตัวเองก้าวขึ้นสู่เจ้าของธุรกิจหมื่นล้าน ผู้ก่อตั้ง “บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” บริษัทแถวหน้าในวงการอุตสาหกรรมยาง, พลาสติก และโพลิเมอร์ เจ้าสัวซิวซี วัย 90 ปี แต่ยังแข็งแรงกระฉับกระเฉง มีความจำเป็นเลิศ เล่าย้อนชีวิตที่ติดลบว่า ตนเป็นลูกคนที่ 10 ของครอบครัวชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีอาชีพทำนา นอนกับควายมาตั้งแต่เด็ก ตอนเด็กประเทศจีนมีภัยแล้งอย่างหนัก ผู้คนไม่มีจะกิน ตายไปก็มี ด้วยความที่อดอยาก ไม่มีกิน ส่งผลให้เจ้าสัวซิวซีมีอาการตาฝ้าฟางและมองไม่เห็นในช่วงอายุ 13 ปี ช่วงนั้นคิดว่า กินก็ยังไม่มี ยังมาตาบอดอีก เลยคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่มีคนมาช่วยไว้ทัน พาเขาไปหาหมอ และเอาที่นาไปขาย เพื่อไปซื้อยาจีนมากิน และแม่ก็รักษาด้วยการกลั้วน้ำชาเอาลิ้นเลียแผลลอกเยื่อบางๆที่ตาออกทุกวันเป็นเวลา 6 เดือนจนกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง อยู่เมืองจีนไม่มีอนาคต พออายุได้ 20 ปี จึงหนีขึ้นเรือมาเมืองไทย มาอยู่กับพี่ชายที่เดินทางมาก่อนหน้า ซึ่งทั้งเนื้อทั้งตัวเขามีแต่เสื้อเก่าๆกับกางเกงขาสั้นติดตัวเพียงชุดเดียว

...

ชีวิตที่ก้าวสู่แผ่นดินไทย เริ่มต้นด้วยการช่วยพี่ๆทำรองเท้าหนังออกเร่ขาย จากนั้นมาเป็นลูกจ้างโรงงานฟอกหนัง ตอนกลางคืนก็ไปรับจ้างแบกข้าวสารหนักเป็นร้อยกิโลกรัม เพื่อนำเงินส่วนนี้ส่งกลับไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน ส่วนเงินเดือนที่โรงฟอกหนังฝากเถ้าแก่ไว้หมด ไม่เคยเบิกมาใช้เลย หวังที่จะเก็บไว้เป็นทุนตั้งตัว ชีวิตทำงานหนักเช่นนี้อยู่ 2 ปี 4 เดือน จนได้เงินก้อนมาเป็นทุนซื้อต่อโรงฟอกหนังเล็กๆ โดยทำทุกอย่างเองตั้งแต่งานจับกัง, แม่บ้าน และเป็นเซลส์ขายของ เมื่อทำไม่สำเร็จก็ลงไปกรีดยางที่ภาคใต้ ก่อนขึ้นมากรุงเทพฯ มาเป็นช่างไม้ทำกรอบประตู-หน้าต่าง ชีวิตต้องย่ำแย่อีกครั้ง เป็นหนี้จากการทำธุรกิจส่งออก ที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ แต่กลับมาลืมตาอ้าปากได้ เมื่อเข้าซื้อโรงงานยาง ผลิตยางทำพื้นรองเท้าและพัฒนาต่อยอดจนรุ่งเรืองถึงปัจจุบัน

“ทำงานทุกอย่างไม่เคยเกี่ยง ทำอะไรไม่เป็นก็ต้องให้คนอื่นสอน ต้องขยันและอดทน ช่างไม้ ทำไม่เป็นก็ไปเรียนกับช่างที่วัดสระเกศ ผมได้เรียนหนังสือที่เมืองจีนแค่ ป.1 ตอนอายุ 13 เรียนได้ 10 เดือน พออ่านออกเขียนได้ ส่วนภาษาไทยอ่านไม่ออก เพราะไม่มีโอกาสได้เรียน จึงต้องให้ลูกๆเรียนให้สูงๆไว้ แม้ตอนติดตะราง ออกมาก็ต้องหาเงินให้ลูกๆเรียน ห้ามขาด คนเรามีลูกไม่ให้เรียนหนังสือ เหมือนกับเลี้ยงหมูตัวหนึ่ง ลูกก็จะโง่เหมือนหมู ไม่มีประโยชน์ อย่างหมูโตแล้วก็ต้องเอาไปฆ่า” เจ้าสัวซิวซีเล่าถึงเรื่องราวชีวิตและความมุ่งมั่นของเขาเกี่ยวกับการศึกษา

อีกหนึ่งตัวอย่างชีวิตที่น่าจะเป็นไอดอลให้กับผู้ที่มุ่งมั่นใฝ่หาความรู้แบบไม่รู้จบ “ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ” เจ้าของและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัท ทีโอเอ ผู้นำตลาดสีทาบ้านในประเทศไทย

คุณประจักษ์ หรือ “เฮียซา” ของคนในวงการธุรกิจสี เล่าว่า ชีวิตไม่ได้เรียนสูง จบแค่ชั้นประถมศึกษาก็ต้องออกมาทำงานเป็นเซลส์ขายของตอนอายุ 15 ปี เมื่อก่อนที่บ้านเปิดร้านขายของชำ แถวคลอง 9 ปทุมธานี เฮียซาเป็นลูกคนที่ 3 จากพี่น้องทั้งหมด 7 คน จึงมีชื่อเรียกในหมู่พี่น้องว่า “เฮียซา” ครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2500 การค้าขายเริ่มจากมาช่วยพี่ๆขายทินเนอร์, ชะแล็ก, แอลกอฮอล์ บรรจุขวด โดยตนเองรับผิดชอบ ดูแลขยายตลาดกรุงเทพฯ และภาคกลาง ส่วนพี่ๆดูภาคอื่นๆ ทำงานตั้งแต่เด็ก เวลาไปติดต่องานก็ต้องอาศัยความน่าเอ็นดูของอาตี๋น้อย และลูกตื๊อเป็นใบเบิกทาง ตลอดการทำงานในวัยเยาว์ก็เรียนรู้จากลูกค้าและคู่แข่ง จนแกร่งและได้แยกตัวจากครอบครัวมาทำธุรกิจของตนเอง ด้วยการนำเข้าสีทีโอเอ และปลุกปั้นมาจนเป็นบริษัทชั้นนำในปัจจุบัน

...

“ความรู้ที่มีอยู่แค่นั้นก็คงไม่พอ พอตอนอายุ 16 ปี จึงกลับไปเรียนกวดวิชา เรียกว่าทำงานไปเรียนไป จนสอบเทียบมัธยมศึกษา การเรียนมาน้อยก็อาจเป็นข้อดีที่ทำให้เราต้องขวนขวาย ขยันอดทน การทำงานก็เหมือนเรียนหนังสือ อยากเรียนเก่งเราต้องขยันฝึกฝน ทำการบ้าน ไม่ท้อถอย ชีวิตผมเคยคว้าน้ำเหลว แต่ไม่เคยท้อ ไม่คิดว่าตัวเองล้ม รุ่นผมไม่มีโอกาสเรียนต้องทำงาน รุ่นลูกเลยให้เขาเต็มที่ ทุกวันนี้แม้จะ 70 ปีแล้ว แต่ผมยังตัองอ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เพื่อรู้ให้ทันโลก เพราะคิดมาตั้งแต่หนุ่มเริ่มทำการค้าว่า เราต้องตกปลาในแม่น้ำ เพราะกว้างใหญ่ ตอนนี้เรามีความสามารถพอจะตกปลาในมหาสมุทรแล้ว”

อีกหนึ่งคนที่มีไฟและไม่เคยหยุดนิ่ง “สุมาลี ศรีสุภรวาณิชย์” เถ้าแก่เนี้ย เจ้าของโรงงานทอผ้าชื่อดัง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรัตนพัฒการทอ” คุณเล็ก-สุมาลี เล่าถึงชีวิตต้องสู้ของตัวเองว่า เป็นลูกครอบครัวข้าราชการไทย พ่อเสียชีวิตตอนอายุ 4 ขวบ แม่จึงเลี้ยงลูกๆคนเดียวด้วยเงินเดือนพนักงานกรมไปรษณีย์ พอเรียนจบวิทยาเขตบพิตรพิมุข ก็ออกมาทำงานที่กรมไปรษณีย์ ก่อนย้ายไปทำที่การไฟฟ้านครหลวง เมื่อแต่งงานมาเป็นสะใภ้คนจีน ได้เข้ามาช่วยงานธุรกิจของครอบครัวสามี ที่เป็นเจ้าของห้างขายผ้าส่งในตลาดสำเพ็งเจ้าแรกๆ ที่รู้จักกันดีในชื่อ “หจก.กิมง่วนจั่น”

ชีวิตที่เคยนิ่งๆ ต้องเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ สิ่งแรกคือภาษาจีน สมัยก่อนไม่มีโรงเรียนสอนภาษาแบบปัจจุบัน จึงต้องไปเรียนกับเล่าซือตามซอย หรือจ้างมาสอนที่บ้าน จนกระทั่งสามี (สมศักดิ์ ศรีสุภรวาณิชย์) ได้ออกมาตั้งโรงงานผลิตผ้าของตัวเอง จึงต้องเรียนรู้เพื่อดูแลงานออฟฟิศและการเงิน พร้อมทั้งดูแลครอบครัวด้วย ส่วนสามีเป็นวิศวกร ก็ลุยงานเรื่องโรงงานและการผลิต ซึ่งเริ่มต้นจากเครื่องจักร 88 เครื่อง จนปัจจุบันมี 800 เครื่อง ภายในเวลา 20 ปี

...

แม้ชีวิตปัจจุบันจะลอยตัว เพราะมีลูกๆเข้ามาช่วยเป็นหลักในการทำงาน แต่คุณเล็กซึ่งอยู่ในวัยเกษียณก็ยังฟิตตัวเองไม่ยอมอยู่เฉย ไปนั่งเรียนหนังสือเพื่อตักตวงความรู้และเปิดโลกทัศน์ จนได้ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง “สมัครเรียนอยู่ 2 ครั้ง ลงเรียนครั้งแรกตอนอายุ 50 ปี แต่ต้องหยุดไป หลังจากนั้นอีกหลายปีก็ลงเรียนใหม่อีกครั้ง บอกได้เลยว่าไม่อายที่จะไปเรียน เพราะคิดว่าความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด เราสามารถใฝ่หาความรู้ได้ตลอดชีวิต การเรียนกฎหมายก็นำมาใช้ในงานธุรกิจได้ อย่างตอนนี้ก็เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถ้าเรารู้กฎหมายก็เป็นสิ่งที่ดี นอกจากนี้ ยังได้ช่วยงานสังคม ซึ่งตอนนี้เป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และยังไปเรียนต่อจนจบปริญญาโท สาขาวิชาการจัดการความขัดแย้ง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ สำหรับเรื่องเรียน ทางครอบครัวทั้งสามีและลูกๆไฟเขียว โดยแนะนำที่เรียนให้อีกด้วย”

สุดท้ายกับเจ้าของธุรกิจที่สร้างเนื้อสร้างตัวทำงานมาตั้งแต่วัยรุ่น “ประเสริฐ ตรีวีรานุวัฒน์” จนเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว และบริการติดตั้งระบบท่อก๊าซอุตสาหกรรม คุณประเสริฐบอกถึงเส้นทางการทำงานว่า ที่บ้านไม่ได้มีอะไรพิเศษ พ่อขับแท็กซี่ แม่เย็บตู้เสื้อผ้าพลาสติก ตอนเด็กไม่ค่อยอยากเรียน พอจบ มศ.5 จากโรงเรียนบดินทรเดชา ก็ออกมาทำงานเป็นเมสเซนเจอร์ ส่งตั๋วเครื่องบินที่บริษัททัวร์แถวเยาวราช ทำได้อยู่หลายปีเกิดอุบัติเหตุจนขาหักเลยออกมาช่วยที่บ้านเปิดร้านอะไหล่เก่า ทำกำไรจนมีเงินเปิดปั๊มน้ำมัน และให้เช่ารถแท็กซี่ ธุรกิจยังเป็นแบบกงสี พอแท็กซี่เปิดเสรี ทำให้มีหนี้กว่า 10 ล้าน ตอนนั้นอายุ 20 ปี ก็พยายามทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้จนหมด และออกมาทำธุรกิจติดตั้งปั๊มแก๊ส LPG ของตัวเอง

...

“ธุรกิจสมัยก่อน ผมมองว่าง่ายกว่าปัจจุบัน โอกาสยังมีถ้าเราเรียนรู้และคิดต่าง ตอนที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่งรู้สึกว่า เราน่าจะหาความรู้เพิ่ม เลยไปลงเรียนคณะนิติศาสตร์ ที่ ม.รามคำแหง เรียนใช้ได้เลย เก็บได้ร้อยกว่าหน่วยกิตแล้ว แต่ด้วยไม่มีเวลามาก เลยไม่จบ ตอนนี้ถ้าอยากรู้อะไร ใช้วิธีการเข้าไปคุยกับคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้น ไปขอความรู้จากเขา เพราะถ้าเรามีเท่ากันกับคู่แข่งก็ต้องถือว่าแพ้แล้ว แต่ที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ คงมาจากการสังเกตและใส่ใจไม่หยุดที่จะเติมความรู้”

ชีวิตคือการเรียนรู้ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่มีคำว่า “แก่เกินเรียน” อยากประสบความสำเร็จในชีวิต ต้องเปิดใจรับและเรียนรู้กับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย.

ทีมข่าวหน้าสตรี