“ไทยรัฐ” อยู่คู่สังคมไทยมานาน และมีพลังเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้น โดยตลอดเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา สำนักข่าวหัวเขียวได้ทำหน้าที่ผู้นำความคิดทางสังคมมาอย่างต่อเนื่องจริงจัง และมีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า เมื่อหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของประเทศ จะบุกเบิกธุรกิจใหม่เปิดสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเองครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “ไทยรัฐทีวี” สปอร์ตไลต์ทุกดวงย่อมส่องที่ทายาทเจเนอเรชั่นสามของวัชรพล นำโดยซีอีโอใหญ่แห่งทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด “เนียร์-วัชร วัชรพล” วัย 33 ปี, “นิค-จิตสุภา วัชรพล” วัย 27 ปี และ “แนท-ธนวลัย วัชรพล” วัย 25 ปี สามพี่น้องสายเลือดแท้ๆของ “ผอ.ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” ซึ่งได้รับโอกาสแสดงฝีมือปลุกปั้น “ไทยรัฐทีวี” ให้แจ้งเกิดในวงการทีวีดิจิตอลเมืองไทย โดยชูสโลแกน “เช้าอ่านไทยรัฐ...เย็นดูไทยรัฐ”

จากเด็กซนๆที่วิ่งเล่นอยู่ในโรงพิมพ์ และเติบโตมาท่ามกลางสายตาของลุงป้าน้าอาชาวไทยรัฐ ถึงวันนี้ เหล่าบอสน้อยพร้อมแล้ว ที่จะลุยงานเพื่อพิสูจน์ฝีมือและความตั้งใจจริง โดยมีอนาคตของ “ไทยรัฐทีวี” เป็นเดิมพัน!!

สามพี่น้องมาทำงานด้วยกันแบบนี้ คัดง้างกันบ่อยไหม

นิค: พวกเราพี่น้องมีอะไรก็จะคุยกันหมด “พี่เนียร์” เป็นผู้บริหารใจดี แต่ก็ไม่เคยประคบประหงมน้องๆ

เนียร์: “นิค” จะดุ กว่า เคี่ยวกว่า ละเอียดกว่า และซีเรียสกว่า!! ทุกคนกลัวหมดเพราะเป็น “คุณยุ้ยจูเนียร์” สำหรับผมการได้ทำงานกับพี่น้องเหมือนมีทีมงานที่รู้ใจ จะทำอะไรก็ไว้วางใจกันได้เต็มที่ คุณยายพูดตลอดว่า เสียดายยายมีลูกน้อยเกินไป ไม่งั้นหลานๆจะได้มีคนมาช่วยงานเยอะๆ ทุกวันนี้คุณยายคือกำลังใจสำคัญ ท่านจะคอยหาของมาโด๊ป

แนท: ยังคุยกันเลยว่า พวกเรามีพี่น้องน้อยเกินไป น่าจะมีพี่น้องเยอะๆ จะได้มีคนช่วยทำงาน (หัวเราะ)

คุณแม่คอยเป็นกุนซือให้ไหม ท่านช่วยแนะนำอะไรเป็นพิเศษ

นิค: คุณแม่จะคอยถามว่ามีอะไรให้ช่วยไหม แต่เรื่องมันเยอะมาก จนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน คุณแม่เองก็งานล้นมือมาก ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่จริงๆ

จะไม่รบกวน เวลาสอนคุณแม่จะไม่สอนตรงๆ แต่ชอบเล่าประวัติคุณตาให้ฟังว่า สมัยก่อนใครมีบุญคุณกับไทยรัฐบ้าง คุณตามีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับใคร คุณตาสร้างตัวมาลำบากยังไง ต้องเจออุปสรรคอะไร พวกเวนเดอร์กลัวคุณแม่ที่สุด เราบอกว่าขอราคานี้ได้ไหม ถ้าไม่ได้เดี๋ยวให้คุยกับ “คุณยุ้ย” ทุกคนจะยอมทันที

เนียร์: เรื่องที่คุณแม่เน้นมากคือ การเลือกคนและวางตัวผู้บริหาร แม่จะพูดบ่อยๆว่า  เราเป็นเจ้าของไทยรัฐ ถ้าเราไม่ดูแลแล้วใครจะดูแล เป็นผู้บริหารต้องละเอียดรอบคอบ จะได้ไม่โดนหลอก!! คุณตาสั่งแม่มาตลอดว่า ให้ทำในสิ่งที่ถนัดที่สุดแค่อย่างเดียว ที่ผ่านมาเราจึงไม่มีหัวหนังสืออื่น นอกจาก นสพ.ไทยรัฐ และเมื่อทำทีวี ก็จะมีแค่ไทยรัฐทีวี

หลักบริหารงานของสามพี่น้อง  เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร

นิค: จะเป็นสไตล์ลงไปทำงานคลุกคลีกับลูกน้องเลย จะคุยให้ถ่องแท้  แล้วแตกร่างกันไปทำ และค่อยกลับมารวมตัว “นิค” เป็นผู้บริหารที่ผลักดันลูกน้องให้คิดและแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ต้องคิดแทนคนอื่นเยอะๆ เพราะเราเป็นหน่วยวางกลยุทธ์ ต้องรอบคอบและเก็บดีเทล ทุกอย่างมากที่สุด “นิค” บอกเลยว่าไม่ต้องการใครมาเดินตามนะ แต่ต้องการคนมาพาเราไป  เพราะฉะนั้น เป็นลูกน้อง “นิค” ก็ต้องทนแรงเสียดทานให้ได้

เนียร์: ผมใจดี และทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเข้าถึงได้ไม่ยาก แต่จะบอกโจทย์ว่าต้องการแบบนี้ คุณก็ไปหาวิธีมา

แนท: สมัยมาทำใหม่ๆไม่ค่อยกล้าพูดในที่ประชุม จะกระซิบให้พี่ๆพูดแทน แต่ตอนนี้กล้าขึ้นมากอุปสรรคที่เจอเยอะคือนึกว่า เราไม่รู้ แล้วเอารายการเก่ามาย้อมแมวขาย เพราะคิดว่าเราเด็ก

เนียร์: ทุกคนที่ทำธุรกิจกับไทยรัฐ คิดว่ามีเงินถุงเงินถัง ตั้งใจฟันหัวแบะ!! ซึ่งตรงนี้ “คุณยุ้ย” ช่วยได้ (หัวเราะ)

น้องๆ เข้ามาช่วยงาน “พี่เนียร์” ด้านไหนบ้าง

นิค: การทำธุรกิจสื่อมีเอกลักษณ์ ไม่เหมือนธุรกิจอื่น ยิ่งเป็นสื่อที่เกี่ยวกับข่าว ยิ่งมีรายละเอียดซับซ้อนมาก ต้องอาศัยประสบการณ์จริง ทุกวันนี้ตำแหน่งของ “นิค” คือเจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด คุมเกี่ยวกับการตลาด, การขาย, การพัฒนาธุรกิจ, การพัฒนาคอนเทนต์ทีวีกับออนไลน์ และดูแลผังช่อง มีลูกน้อง 20 กว่าคน ส่วนที่เหลือขึ้นกับ “พี่เนียร์” คือ พวกเทคนิคต่างๆ, รายการข่าว, สายงานผลิตและโปรดักชั่นทั้งหมด

แนท: ช่วยติดต่อประสานงานกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และเลือกซื้อรายการจากต่างประเทศ ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ

ตอนบอกว่าอยากทำ “ไทยรัฐทีวี” คุณแม่ว่ายังไงบ้าง สนับสนุนทันทีไหม

เนียร์: “คุณยุ้ย” เข้าใจครับ ด้วยสถานการณ์ของธุรกิจสื่อที่บีบบังคับ และพาไปเองว่าเราต้องทำ ต้องสร้างสื่อใหม่ขึ้นมาทดแทนหนังสือพิมพ์ในวันข้างหน้า เราได้เห็นตัวอย่างจากอเมริกาชัดๆอยู่แล้ว หนังสือพิมพ์หลายเจ้าไม่ทันตั้งตัว เพราะปรับตัวไม่ทัน ทำให้ต้องปิดตัวลง แต่เราโชคดีที่มีตัวอย่างให้เห็น ทำให้มีเวลาในการตั้งรับ ถึงแม้สื่อออนไลน์จะมา แต่รายได้จากออนไลน์มันน้อย จนไม่สามารถทดแทนรายได้ที่จะหายไปของหนังสือพิมพ์

จนถึงขณะนี้ “ไทยรัฐทีวี” มีความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว

เนียร์: ก็มีความพร้อมระดับหนึ่ง สามารถออกอากาศได้ แต่คุณภาพยังไม่ 100% ถึงระดับที่คาดหวังไว้ แม้เราจะมาทีหลังคนอื่น และไม่เคยทำทีวีมาก่อน แต่เมื่อตัดสินใจทำแล้ว ก็อยากให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าฟรีทีวีปัจจุบัน

นิค: เราอยากให้คอนเทนต์เนื้อหาของ “ไทยรัฐทีวี” ออกมาเป็นสไตล์เอดูเทนเมนต์ กึ่งๆช่องไทยพีบีเอส ผสมช่อง 9 แต่วิธีการนำเสนอเหมือนช่อง 3 และช่อง 7 ที่ส่งความ บันเทิงเข้าไปเยอะๆ แต่เราไม่ได้มีแค่สาระความรู้อย่างเดียว ยังมีส่วนที่เป็นวาไรตี้ด้วย ได้ค่ายกันตนา, ทีวี ธันเดอร์, เจเอสแอล และโพลีพลัสมาทำกับเรา

อะไรคือจุดแข็งของ “ไทยรัฐทีวี” ที่ทำให้โดดเด่นเหนือคู่แข่ง

นิค: ชื่อของไทยรัฐสื่อถึงความเป็นหนังสือพิมพ์ระดับตำนานอยู่ยง คงกระพันอยู่แล้ว เป็นสถาบันข่าวและผู้นำความคิดทางสังคม ซึ่งเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้นจริงๆ แต่ความท้าทายของเราคือ ทำยังไงให้คนรู้ว่า“ไทยรัฐ ทีวี” มีความบันเทิงอื่นๆที่นอกเหนือจากข่าว ทำยังไงให้เราเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ชม คีย์หลักของเราคือ มอบสาระที่ไม่น่าเบื่อและความบันเทิงไม่ไร้สาระ สัดส่วนของสถานีโทรทัศน์จะแบ่งเป็นข่าว 50% และวาไรตี้สาระบันเทิง 50% โดยส่วนที่เป็นข่าวน่าจะเป็นจุดขายสำคัญ เพราะเราเลือกนำเสนอข่าวในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม สวนทางกับช่องอื่นๆรูปแบบของข่าวก็จะเป็นสไตล์นิวส์โชว์ เน้นความรู้ลึกรู้จริง แต่ผู้ชมคาดเดาได้ยาก

เนียร์: เวลาพูดถึงไทยรัฐ คนจะนึกถึงหนังสือพิมพ์ก่อน นึกถึงเรื่องหนักๆ โจทย์ยากของเราคือ การจะก้าวข้ามไปถึงอีกจุดหนึ่ง ทำให้คนรับรู้ว่าเราไม่ได้เป็นแค่หนังสือพิมพ์ เรายังมีสื่อทีวีที่นำเสนอความบันเทิงหลากหลายด้าน ขณะเดียวกัน ก็พยายามเก็บคอนเซปต์ของ นสพ.ไทยรัฐไว้ จะบอกทีมข่าวไทยรัฐทีวีเสมอว่า ต้องทำข่าวให้คนระดับกว้างเข้าใจได้ง่ายและย่อยง่าย ไทยรัฐอ่านได้ตั้งแต่ภารโรงจนถึงรัฐมนตรีซึ่ง “ไทยรัฐทีวี” ก็อยากทำให้ได้อย่างนั้น

เตรียมงานนานไหมกว่าจะคลอดเป็น “ไทยรัฐทีวี”

เนียร์: ใช้เวลาเตรียมงานปีเศษ แต่ผมคิดเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ โดยแรกเริ่มอยากทำคอนเทนต์มัลติมิเดียที่เป็นวีดิโอมาเสริมในเว็บไซต์ แต่ไปๆมาๆ จังหวะและโอกาสมาถึงพอดี เมื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูล ทีวีดิจิตอล 24 ช่องเราก็ต้องคว้า ไว้!! ไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์รายใหญ่ที่สุดและเป็นรายสุดท้ายที่เข้าสู่ธุรกิจทีวี เราไม่เคย ทำทีวีมาก่อน เรารอจนทุกอย่าง พร้อม และนี่คือโอกาสสำคัญ เพราะช่องทีวีดิจิตอลที่นำ ออกประมูลครั้งนี้เป็นช่องระดับประเทศ พอตั้ง หลักได้ว่าจะต้องทำไทยรัฐทีวี ก็ตระเวนดูงานทีวีทุกช่อง เมืองนอกก็ไปดูทั้งสถานี Fox News, Sky, NHK และ BBC

มีแรงกดดันเยอะไหม ต้องแบกภาระหนักอึ้งตั้งแต่อายุน้อยๆ

เนียร์: (พยักหน้า) ยอมรับว่าเครียดมาก เป็นภาระหนัก!!เพราะเป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นไทยรัฐ ยังไงก็ต้องทำให้มันออกมาดีที่สุด มีคนจับจ้องเยอะ เราต้องเตรียมตัวเองให้สมบูรณ์ที่สุด ช่วง 2-3 ปีแรกต้องหนักแน่ๆ เลือดคงไหลซิบๆ เพราะมีแต่ค่าใช้จ่ายมหาศาล โชคดีที่ได้น้องๆมาช่วยแบ่งเบางาน

นิค: ตั้งแต่เกิดก็รู้ตัวว่าสักวันต้องมาช่วยงานที่ไทยรัฐ แต่ไม่เคยคิดว่าจะต้องบุกเบิกธุรกิจใหม่ที่ยากขนาดนี้

วันหนึ่งนอนกี่ชั่วโมง ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะไหม

เนียร์: เดี๋ยวนี้แก่แล้วครับ และเครียดด้วย ทำให้นอนน้อย สมัยก่อนต้องนอนวันละ 8 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้ 5-6 ชั่วโมง ก็พอ แล้วนอนไม่ค่อยหลับ แม่บอกว่าระวังนะ แก่ๆไปเธอจะนอนไม่ได้ นอนหลับยาก พอเจอกับตัวเองจริงเลย!!

นิค: เข้ามาทำงานปีเดียว ผมหงอกเต็มหัวเลย (หัวเราะ)

รายได้หลักๆของ “ไทยรัฐทีวี” จะมา จากไหน ต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะคุ้มทุน

เนียร์: ตั้งเป้าไว้ว่าจะคุ้มทุนภายในเวลา6 ปี รายได้หลักๆก็คงมาจากค่าโฆษณา เรายังเป็นมาร์เก็ตเซ็ตเตอร์กำหนดเรตโฆษณาไม่ได้ แต่ก็มีกองหนุนจากฟาวเดอร์สปอนเซอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง 10-12รายรายละ 50 ล้านบาท มาจากหลากหลายธุรกิจ การทำทีวี ต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะสถานีข่าว แค่เริ่มต้นยังไม่ออกอากาศจริง และไม่รวมขั้นตอนการประมูล ก็ใช้เงินไป 500 กว่าล้านบาทแล้ว สำหรับลงทุนเรื่อง อุปกรณ์, โปรดักชั่นและเซ็ตทีมงาน เรามีพนักงาน 200 กว่าคนเราลงทุน ซื้อระบบ บริหารจัดการข่าว MAM รองรับคลังข้อมูลขนาดใหญ่ อุปกรณ์โปรดักชั่นลงทุนเต็มที่ เราเป็นเจ้าแรกๆที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดนำเสนอข่าว โดยใช้เทคโนโลยีสามมิติและเวอร์ชวลสตูดิโอ เนรมิตฉากในห้องส่ง

เคยคุยกันไหมว่า อนาคตหนังสือพิมพ์จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปยังไง

เนียร์: มีผลการศึกษาของฝรั่งทำนายไว้ว่า หนังสือพิมพ์จะสูญพันธุ์ไปจากโลก ภายในเวลา 20 ปี แต่สำหรับเมืองไทย ผมคิดว่าไม่มีทางสูญพันธุ์หรอก เพียงแต่จะหดตัวลง ก็หวังว่าถ้าวันใดที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ถดถอย ธุรกิจไทยรัฐทีวีจะช่วยหล่อเลี้ยงองค์กรแทนได้ แต่ไม่เคยคิดทำสื่อทีวีมาฆ่ากันเอง พยายามให้เสริมซึ่งกันและกัน เหมือนสโลแกนที่คุณแม่คิดให้ “เช้าอ่านไทยรัฐ...เย็นดูไทยรัฐ”

สายเลือดวัชรพลซะอย่าง...สู้ไม่ถอย ต่อยไม่ยั้ง เพราะใจเกินร้อย!!

...

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ