ช่วงปิดเทอมนี้การจะห้ามไม่ให้เด็กเล่นเกม ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ตคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะถือเป็นช่วงวันหยุดยาวที่พวกเขาจะได้พักผ่อนหลังจากการเรียนและสอบที่เคร่งเครียด เด็กจึงหาวิธีผ่อนคลายในยุคดิจิตอลด้วยการเล่นเกม แต่เด็กๆ หารู้ไม่ว่าการนั่งใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จะทำให้มีอาการปวดนิ้ว นิ้วแข็ง มือเกร็ง และอาจมีอาการปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ ปวดแขน ตามมาได้
ดร.เจย์ สัน ลี ไคโรแพรคเตอร์ชาวเกาหลี ประจำคลินิกกายภาพบำบัดดีสปายน์ ไคโรแพรคติก บอกว่า การห้ามเด็กๆ ไม่ให้เล่นเกมหรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ในยุคดิจิตอลนี้คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่เกม และอะไรๆ เดี๋ยวนี้ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งนั้น เพราะเหตุนี้จึงทำให้เด็กจำนวนไม่น้อยมีปัญหาและอาการปวดนิ้ว นิ้วแข็ง มือเกร็ง ทำให้เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเมื่อพอเริ่มเขียนได้สักพักก็รู้สึกเครียด อารมณ์เสีย มีอาการโมโห หรือหงุดหงิด นอกจากเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเล่นเกม และใช้คอมพิวเตอร์แล้ว ผู้ใหญ่จำนวนมากก็ต้องประสบกับอาการปวด และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา เช่น ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ อันเนื่องมาจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านบัญชี คีย์ข้อมูล หรือ ต้องพิมพ์รายงานต่างๆ เป็นต้น
ดร.เจย์ สัน ลี กล่าวต่อว่า การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ส่วนมากจะนั่งผิดลักษณะท่าทาง ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ นอกจากนั้นยังมีการใช้เก้าอี้ไม่ตรงกับสรีระจึงทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมา ควรจะมีการพักสายตา ยืดกล้ามเนื้อ หรือบริหารร่างกายเพื่อเป็นการป้องกันอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.เจย์ สัน ลี แนะนำท่าบริหารร่างกาย เพื่อป้องกันอาการปวดจากผลกระทบของการเล่นเกมและใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ 4 ท่าดังนี้
...
- ท่าบริหารและผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลัง ท่านี้ควรให้เด็กๆ ยืนหรือนั่งให้หลังตรง แล้วเหยียดแขนทั้งสองข้างขึ้นด้านบน ประสานมือทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน แล้วหงายมือออก
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อแขน ให้เหยียดแขนทั้งสองข้างออกไปข้างหน้าโดยให้มือประสานกัน
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนิ้วมือ โดยยืดแขนออกไปข้างหน้า โดยให้มือชี้ลง พร้อมทั้งดัดนิ้วมือไปทางด้านหลัง โดยให้ทำสลับกันทั้งซ้าย และขวา อย่างน้อย 20 วินาที
- ท่าบริหารกล้ามเนื้อบริเวณคอ โดยการยืนตัวตรง เอามือซ้ายจับบนศรีษะด้านขวา พร้อมโน้มคอไปทางด้านเดียวกับที่มือจับศรีษะอยู่ ทำสลับไปมา ซ้ายขวา