ในยุคที่ใครๆอยากรวยเร็ว การลงทุนในตลาดหุ้นถือเป็นบันไดก้าวสำคัญที่จะตะกายสู่ความมั่งคั่งในชั่วข้ามคืน แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อพูดถึงตลาดหุ้น คนไทยส่วนใหญ่ยังร้องยี้ เพราะมองว่าเป็นสนามของเซียนพนัน กระนั้น ภาพลักษณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3-4 ปีมานี้ ได้รับการพัฒนาไปแบบก้าวกระโดดอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้บรรดาเซียนหุ้นสายพันธุ์ใหม่ ภายใต้การนำของ “แพท–ภาววิทย์ กลิ่นประทุม” หลานปู่ วัย 33 ปี ของนักการเมืองชื่อดัง “ทวิช กลิ่นประทุม” ซึ่งแจ้งเกิดจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์ “แกะรอยหยักสมองรวยหุ้นหมื่นล้าน” และแสดงฝีมือในช่วงหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ สร้างความมั่งคั่งด้วยลำแข้งตัวเองจากเงินล้านสู่พอร์ตพันล้านใน 4 ปี
วงการหุ้นร่ำลือว่า “ภาววิทย์” ประสบความสำเร็จเร็วเพราะเป็นเด็กเส้น
ผมโตมาในครอบครัวนักการเมืองและนักธุรกิจ เป็นหลานปู่ของ “คุณทวิช กลิ่นประทุม” และหลานตาของ “คุณวีระ รมยะรูป” ผู้จัดการสาขาคนแรกของธนาคารกรุงเทพ และมือขวาของ “คุณชิน โสภณพนิช” ส่วนคุณพ่อทำธุรกิจชิปปิ้งของครอบครัว ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผมยอมรับว่านามสกุลช่วยให้ได้รับการยอมรับง่ายขึ้น แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับฝีมือเรา คนชอบผมก็มี...คนเกลียดก็เยอะ เว็บไซต์ pantip เอาผมไปยำเละตลอดเวลา
โตมาแบบลูกคุณหนูหรือเปล่า
พ่อแม่สอนให้รู้จักใช้เงินมากกว่า ผมไม่ค่อยสปอย และไม่สนว่าที่บ้านทำอะไร ชอบลุยทำอะไรเองมาตั้งแต่วัยรุ่น ทำอะไรก็ได้ที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตัวเอง จะรู้สึกภูมิใจกว่าการใช้คอนเนกชั่น ตอนเด็กๆผมฝันอยากเป็นนักธุรกิจ อยากทำอะไรก็ได้ที่เป็นโอกาส ฝันอย่างหนึ่งคืออยากเปิดร้านอาหารเช่นฟาสต์ฟู้ดแบบแมคโดนัลด์
ก่อนเข้ามาท่องยุทธจักรตลาดหุ้น ทำอะไรมาก่อน
ผมเรียนจบปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณแม่ขอให้ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่ออสเตรเลีย แต่ใจจริงอยากทำธุรกิจ พอไปถึงออสเตรเลีย ผมก็มองหาลู่ทางทำธุรกิจทันที บอกคุณแม่ว่าไม่เรียนหนังสือแล้ว และขอเอาเงินค่าเรียนมาวางมัดจำซื้อร้านอาหาร ผมเปิดร้านแรกที่นิวเซาท์เวลส์ ภายในเวลา 5 ปี ขยายร้าน 5 สาขา แต่ต้องสะดุดครั้งใหญ่ เพราะเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ปลายปี 2008 ตอนนั้นสัญญาณเริ่มมาแล้ว ฝรั่งหยุดใช้จ่ายหมด ผลปรากฏว่า ผมขาดทุนไป 20 ล้านบาท รู้สึกแย่มาก เลยตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับเมืองไทยช่วงต้นปี 2008 กลับมาถึงบ้านเศรษฐกิจยังบูมอยู่เลย คนไทยไม่รู้เรื่อง วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ก็ยังไม่เกิด ตอนนั้น คุณแม่ฝากให้ทำงานธนาคารกรุงเทพ เป็นนักวิเคราะห์การเงินอยู่กับ “คุณโทนี่-ชาติศิริ โสภณพนิช” ช่วงนี้เองที่ทำให้ผมมีเวลาศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจ ผมศึกษาย้อนหลังดูข้อมูลบริษัทต่างๆในช่วงนั้น พบว่าที่จริงแล้ว กลุ่มธนาคารแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ แถมยังกำไรเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ
ที่บ้านปลูกฝังเรื่องการลงทุนและการออมเงินตั้งแต่เด็กเลยไหม
ครอบครัวผม แค่เฟอร์นิเจอร์ในบ้านก็มีแต่ของเก่า คุณพ่อชอบของแอนทีกหมดเลย พอผ่านไป 10 ปี มูลค่าเพิ่มเป็น 10 เด้ง บ้านผมจะไม่มีทางซื้อรถสปอร์ต 10 คัน ถ้าจะซื้อรถสปอร์ตสักคันเพื่อสร้างภาพลักษณ์ก็ได้ แต่คุณจะต้องคัตลอสท์ไปเลย เพราะสุดท้ายมันจะไม่มีมูลค่าอะไร ถ้าอยากถือกระเป๋าแบรนด์เนมก็ซื้อได้ แต่ไม่ใช่ซื้อเยอะไปหมด จนสุดท้ายไม่เหลือมูลค่า
เริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นจริงจังเมื่อไหร่
แรกเริ่มผมช่วยดูพอร์ตการลงทุนของที่บ้าน โดยแนะนำคุณแม่ให้ขายหุ้นแบงก์กรุงเทพไปก่อน ในช่วงต้นปี 2008 ราคา 130 บาท เพราะเริ่มเห็นเค้าไม่ดีจากออสเตรเลีย ปรากฏว่า ช่วงปลายปีเกิดวิกฤติซับไพรม์ปั้ง!!...ราคาหุ้นแบงก์กรุงเทพร่วงเหลือ 59 บาท คิดดู!! ผมได้ขายไปก่อนในจังหวะใกล้ๆจุดพีคที่สุด ทำให้มั่นใจว่าเรามาถูกทางแล้ว
ฝึกปรือวิชาการลงทุนในตลาดหุ้นจากที่ไหน
ผมอ่านหนังสือเยอะมาก และศึกษาหาความรู้ แต่ครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ ผมเห็นพ่อแม่ลงทุนในตลาดหุ้นมาตลอด พวกท่านไม่ใช่คนเล่นหุ้น แต่ทุกครั้งที่ตลาดเกิดวิกฤติรุนแรง พ่อแม่จะเข้าไปช้อนซื้อเยอะมาก อย่างช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ซื้อแบงก์กรุงเทพตอนราคา 20 บาท แล้วเก็บยาวเลย แต่ปัญหาคือ พ่อแม่ซื้อของเก่ง แต่จับจังหวะการขายไม่เป็น พอเราทำได้ดี ก็เลยได้รับความไว้วางใจให้ดูแลพอร์ตหลักหลายร้อยล้านบาท
แจ้งเกิดในวงการตลาดหุ้นได้อย่างไร
ระหว่างเป็นนักวิเคราะห์ที่แบงก์กรุงเทพ ผมก็ทำบล็อกของตัวเองด้วย ใช้ชื่อว่า Pawawit Stock-Comment แล้วเอาข้อเขียนตัวเองไปแชร์ตามเว็บไซต์ต่างๆ ทั้ง pantip และ stock2morrow ปรากฏว่าเจ้าของเว็บไซต์อ่านบทความแล้วชอบ เลยชวนผมทำหนังสือ เป็นช่วงเดียวกับที่ผมเริ่มดูแลพอร์ตการลงทุนของที่บ้านอย่างเต็มตัว
สร้างพอร์ตของตัวเองด้วยเงินทุนเท่าไหร่ ซื้อหุ้นตัวไหนเป็นตัวแรก
ผมเอาเงินที่เก็บสะสมได้หลักล้านมาลงทุนในตลาดหุ้น ตอนแรกเน้นเล่นแนววีไอ ซื้อแล้วเก็บยาว หุ้นตัวแรกที่ซื้อคือ แบงก์กรุงเทพ เพราะเรารู้ราคามันอยู่แล้ว ตอนที่เกิดวิกฤติซับไพรม์ ราคาลงไปถึง 59 บาท ร่วงเหมือนแบงก์จะเจ๊ง ทั้งๆที่ถ้าเปิดงบดูจะรู้ว่า แบงก์กรุงเทพไม่ได้ขาดทุนเลย แต่ปีนั้นกำไรเพิ่มขึ้นอีก ตอนนี้พุ่งไป 200 บาทแล้ว หลังจากนั้น ผมก็พยายามมองหาหุ้นที่จะเก็บเข้าพอร์ตเรื่อยๆ โดยเทคนิคของผมคือ 70% ของพอร์ตจะซื้อหุ้นไว้เก็บระยะยาว เน้นซื้อสะสมทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ ส่วนอีก 30% เอาไว้เทรดดิ้ง ซื้อขายตามรอบ โดยใช้เทคนิคเข้ามาช่วย
หุ้นตัวไหนเป็นซุปเปอร์แมนเอาชนะทุกวิกฤติ
จริงๆแล้วมี 3 กลุ่มคือ แบงก์, พลังงาน และเทเลคอม ไม่ว่าเกิดวิกฤติอะไรสุดท้ายมันต้องกลับมา โดยเฉพาะเทเลคอม หลายคนมองว่าอิงการเมืองเยอะ แต่มันกลายเป็นพระเอกของผม!! สถิติของตลาดยึดตามสูตร 80 : 20 คือ 80% ลงทุนแล้วต้องเจ๊ง ส่วนอีก 20% คือ คนที่ได้เงินจาก 80% ประเด็นก็คือ ต้องมองตลาดให้ออกว่า ใครที่ได้กำไร คนที่อยู่ในตลาดหุ้นมีแสนกว่าคน ทุกคนคิดว่าตัวเองมีความรู้หมด และมีเป้าหมายเดียวกันหมด คือต้องการจะรวย แต่ทำไมเจ๊งถึง 80% ประเด็นคือ หุ้นขึ้นลงตามดีมานด์และซัพพลาย ซึ่งไม่ได้อยู่กับพื้นฐาน พื้นฐานคือกรอบใหญ่ที่บอกได้ว่าใน 5 ปีข้างหน้าหุ้นตัวนั้นจะเป็นยังไง แต่การขึ้นลงของหุ้นไม่เกี่ยวกับพื้นฐานเลย เกี่ยวกับว่ามีคนอยากซื้อหรือเปล่ามากกว่า เมื่อไหร่ที่คนส่วนใหญ่มองว่าหุ้นตัวนี้ดี แปลว่าหุ้นตัวนั้นแพงแล้วเสมอ จึงไม่ควรซื้อ!! แต่คนส่วนใหญ่เวลาเข้าตลาดจะซื้อหุ้นที่โบรกเกอร์เชียร์ ซึ่งแพงแล้ว คนเหล่านี้คือ 80% ของตลาดนั่นเอง มีแนวโน้มเจ๊งสูง!!
จับจังหวะยังไงให้คว้าโอกาสได้ก่อนคนอื่น
เราต้องทำการบ้านตรงข้ามกับตลาด อะไรที่ตลาดมองว่าแย่ เราลิสต์มาเลย โดยมองเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม แล้วมาดูรายละเอียดว่า อันไหนที่จริงๆแล้วไม่แย่ ธุรกิจยังดี แต่คนส่วนใหญ่มองว่าแย่เลยขาย เราก็เข้าซื้อ ยิ่งซื้อยิ่งลงก็ต้องซื้อเพิ่มอีก อย่าไปหวั่นไหว ผมเป็นที่ปรึกษาการลงทุนของ บลจ.บัวหลวงมาได้ปีหนึ่ง ทำให้ได้สัมผัสนักลงทุนเยอะ และได้พูดคุยกับทายาทนักลงทุนเยอะ ผมเข้าใจมุมมองเลยว่าทำยังไงถึงจะมั่งคั่ง และได้รวบรวมข้อมูลมาเขียนหนังสือเล่มใหม่คือ “ดีที่สุดในจุดที่ยืน” ถือเป็นคัมภีร์ที่บอกว่า ถ้าทำแบบนี้คุณรวยแน่
เคล็ดลับการสร้างความมั่งคั่งของคนยุคดิจิตอลแตกต่างจากยุคก่อนไหม
สมัยก่อนพ่อแม่สอนเราให้ทำงานหนัก แล้วเก็บเงินๆๆฝากแบงก์ ผมการันตีเลยว่า ทำแบบนั้นคุณจนแน่นอน ถ้าไม่ได้รวยมาแต่กำเนิด การฝากแบงก์ได้ดอกเบี้ย 0.75% แทบไม่มีทางเพิ่มมูลค่า เพราะเงินเฟ้อตอนนี้ก็ 10% แล้ว เพราะฉะนั้น ยิ่งฝากก็ยิ่งติดลบ เงินยิ่งเก็บยิ่งด้อยค่า ถึงจะมีเงินเดือนเป็นแสนก็ไม่มีทางรวย ก่อนอื่นเราต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย แล้วเอารายได้ส่วนเกินมาลงทุนเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ คำว่าแอสเซ็ตคือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะชนะเงินเฟ้อได้ เป็นอะไรก็ได้ที่มีจำนวนจำกัด มีมูลค่า และมีความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น ที่ดิน ถือไปเถอะระยะยาวต้องกำไร หรือทองคำ ระยะยาวต้องกำไร หุ้นถ้าเป็นหุ้นดี ต้องไม่ใช่หุ้นปั่น ถือไปเฉยๆตรงจุดไหนก็ได้ ผ่านไป 10-15 ปี ยังไงก็ต้องกำไร แต่วัฏจักรของทองคำและที่ดินขึ้นไปเยอะแล้ว สองอย่างนี้เป็นความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งของคนรุ่นที่แล้ว แต่สิ่งที่เหลือโอกาสอยู่คือ “หุ้น” มี 500 บริษัท ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในหุ้นที่ดีเลย เล่นหุ้นปั่นเกือบหมด ซึ่งต้องเจ๊งแน่นอน หุ้นที่ดีคนยังไม่ค่อยซื้อเท่าไหร่
หุ้นในฝันของนักลงทุนสายพันธุ์ใหม่ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
สำหรับผม “หุ้น” เป็นเครื่องผลิตเงินอย่างหนึ่ง หุ้นที่ดีคือ บริษัทต้องเติบโตต่อเนื่อง เป็นบริษัทที่ไม่มีทางเจ๊ง ทำธุรกิจที่คนต้องกินต้องใช้ตลอด ที่สำคัญต้องปันผลดี หุ้นดีๆตามคุณสมบัติที่ว่า สามารถลิสต์ได้เลย ในตลาดมีสัก 10 บริษัท ที่ไม่มีทางเจ๊ง เช่น กลุ่ม ปตท.ยังไงก็ไม่เจ๊ง หุ้นกลุ่มธนาคารใหญ่ๆ 3-4 ตัว ก็ไม่มีทางเจ๊ง ซีพีก็ไม่มีทางเจ๊ง แต่หุ้นพวกนี้มันแพงตลอดเวลา ทำยังไงถึงจะได้เป็นเจ้าของ โอกาสที่ราคาจะถูกทางเดียวคือ เมื่อนักวิเคราะห์ทั้งตลาดบอกว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดี ถ้าซื้อได้ราคาที่ถูกในช่วงวิกฤติ และได้ปันผลปีละ 5-10% เราอาจจะได้เครื่องผลิตเงินชั้นดีก็ได้ ทุกปีตลาดหุ้นจะมีการปรับฐานแบบไร้เหตุผล 2-3 ครั้ง นั่นแหละคือจังหวะซื้อหุ้นในฝัน คิดดูว่าถ้าเราสร้างพอร์ตได้ 100 ล้านบาท กินเงินปันผลปีละ 10% ไม่ต้องทำงานชั่วชีวิตแล้ว
พอร์ตโตขนาดไหนแล้วทะลุพันล้านหรือยัง
ผมเล่นหุ้นตั้งแต่ปลายปี 2008 เริ่มจากหลักล้าน ทุกวันนี้โตขึ้นเฉียดพันล้านแล้ว จังหวะเข้าดีด้วย ช่วงแรกพอร์ตโตจากหุ้นตัวเล็กๆพวกหุ้นเทรดดิ้งซะมาก แต่ความท้าทายคือ พอตลาดขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง คุณจะสามารถรักษาความมั่งคั่งได้ไหม ยิ่งพอร์ตโตเท่าไหร่จะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องกลับมาเน้นหุ้นกลุ่มบลูชิพ
ถ้าหุ้นขึ้นลงแรงๆตั้งสติยังไงไม่ให้หวั่นไหว
เราไม่ได้ไปเล่นกับมัน ถ้าเกิดวิกฤติใหญ่ๆ ผมก็ไม่สนใจ เพราะหุ้นในพอร์ตทั้งหมดเป็นหุ้นที่เลือกมาอย่างดีแล้ว ถ้ามีเงินแล้วหุ้นถูกก็จะซื้อเพิ่มอีก คือ พอร์ตใหญ่ 70% จะไม่แตะไม่ยุ่งเลย ซื้ออย่างเดียวไม่ขาย ส่วนพอร์ต 30% ก็ใช้เป็นเครื่องมือทำกำไรชดเชย แล้วนำมาซื้อหุ้นดีๆกลับเข้าพอร์ต การรีอินเวสต์ทำให้พอร์ตโตแบบอัตราเร่ง
หลายคนโจมตีว่า “ภาววิทย์” อีโก้และหลงตัวเอง
ผมเป็นคนมีจุดยืนมากกว่า นักลงทุนที่ดีต้องมีอีโก้และมีจุดยืนที่ชัด ส่วนคนโลเล, ไม่ใฝ่รู้ และไม่รู้จักตัวเอง ก็ไม่ควรเข้ามายุ่ง สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จัก “ทนรวยให้เป็น” ถ้าหุ้นที่ถืออยู่มั่นใจว่าดีก็ต้องถือไปยาว ส่วนใหญ่ไม่มีความอดทนตอนขาขึ้น แต่เวลาขาลงจะอึดมากกอดหุ้นไว้แน่น อีกอย่างต้องรู้จักล็อกความเสี่ยงให้เป็น ตั้งคัตลอสท์ขายตัดขาดทุนที่ 10-15% ถ้ามีวินัยรับรองไม่เจ๊ง!!
แนะนำกลยุทธ์รวยหุ้นยั่งยืนแบบ “ภาววิทย์” หน่อยสิคะ
ถ้าทำตามความสบายใจตัวเองไม่มีทางรวย!! ต้องทำสวนทางกับคนส่วนใหญ่ ถ้าลงทุนในสิ่งที่ปลอดภัย ก็มักไม่ให้ผลตอบแทน หรือถ้าลงทุนในอะไรที่ดีก็มักจะแพง ตอนขายก็มักขายเวลาเดียวกับที่คนอื่นอยากขาย คือซื้อแพงขายถูกตลอด ก่อนอื่นเราต้องถามตัวเองว่าอยากจะเป็นคนรวยจริงๆหรือเปล่า ถ้าอยากรวยจริงๆต้องรู้จักคิดต่าง คิดอย่างเดียวไม่ได้ต้องทำต่างด้วย แนะนำให้ทำลิสต์หุ้นที่อยากซื้อไว้ ตลาดปรับฐานแรงเมื่อไหร่ค่อยซื้อตัวที่ราคาลง สไตล์ของผมคือ ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่คนยี้ ก็ยังมีหุ้นดีๆให้ซื้อเสมอ ตรงกันข้าม อะไรที่คนชอบๆกันก็แปลว่าคนที่อยากซื้อได้ซื้อไปหมดแล้ว เหลือแต่คนอยากขาย ถ้าเมื่อไหร่ได้ยินข่าวดีเยอะๆในหุ้นที่เราซื้อ น่ากลัวแล้ว เพราะถ้ามีข่าวร้ายนิดเดียว เวลาลงจะลงเละเลย สิ่งที่ยากคือ ความอดทน บางครั้งเราอยากประสบความสำเร็จเร็วมาก จนขาดความอดทน ซึ่งทำให้ไม่มีวันสำเร็จ ถ้าเราเข้าใจว่าการลงทุนเหมือนปลูกต้นไม้หนึ่งต้น กว่าจะโตไม่ใช่แค่เวลาข้ามคืน ต้องเริ่มจากต้นกล้าก่อน ก็ปลูกต้นกล้าเยอะๆในหลายๆอุตสาหกรรม ลองอดทนซะอย่าง เดี๋ยวมันก็โตงอกงามเอง.
...
ทีมข่าวหน้าสตรี