ย้อนกลับไปเมื่อ 4 ทศวรรษที่แล้ว “รศ.พญ.ลดาวัลย์ สุวรรณกิตติ” ตัดสินใจลาออกก่อนเกษียณจากตำแหน่งหัวหน้าหน่วยฝังเข็มและระงับปวด ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบุกเบิกและพัฒนาแนวทางการรักษาคนไข้ในรูปแบบใหม่ที่คิดค้นขึ้นเองในชื่อ “ดุลยภาพบำบัด” มาถึงวันนี้ศาสตร์แห่งการสร้างสุขภาพดีด้วยตนเองเป็นที่รู้จักแพร่หลายของประชาชนในวงกว้างขึ้น ก็ด้วยความทุ่มเทต่อยอดของ “พันเอกหญิง ผศ.ดร.พญ.ดังใจ สุวรรณกิตติ” รองหัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ทายาทผู้สืบสานตำนานดุลยภาพบำบัด ซึ่งอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมีดุลยภาพ

“เมื่อ 40 กว่าปีก่อน คุณแม่เริ่มหาแนวทางการรักษาคนไข้ในรูปแบบใหม่ โดยคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนไข้ไม่ต้องกลับมาหาหมออีก วิธีการที่มีอยู่ในขณะนั้น แม้ทำให้คนไข้ดีขึ้นได้ แต่สุดท้ายก็เป็นแค่การแก้อาการแล้วต้องกลับมาหาอีก คุณแม่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ “EPPENDORF HAMBURG” ประเทศเยอรมนี และเริ่มทำการฝังเข็มแบบจีนที่โรงพยาบาลศิริราช หลังกลับจากศึกษาดูงานที่ประเทศจีน โดยระหว่างรักษาคนไข้ท่านเกิดคำถามมากมาย ทำให้พยายามเชื่อมโยงกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาเข้ามาอธิบายสภาวะอาการของโรค ท่านเริ่มฝึกการบริหารในรูปแบบต่างๆ พร้อมสังเกตถึงพฤติกรรมต่างๆที่จะมีผลกระทบกับโครงสร้างระยะยาว คุณแม่มักจะพกกล้อง 1 ตัวเสมอ บางครั้งนั่งรถอยู่ จะเปิดกระจกไปถ่ายรูปคนซ้อนมอเตอร์ไซค์กัน 2–3 คน คนที่โหนรถสองแถว คนที่โหนรถเมล์ หรือบางคนที่แบกกระเป๋าหนักๆจนตัวโย้ คุณแม่พูดเสมอว่าพฤติกรรมเหล่านี้ต้องมีผลกระทบกับโครงสร้างระยะยาวแน่ๆ”

...

คุณแม่ทุ่มเทพัฒนาศาสตร์ดุลยภาพบำบัดขนาดไหน

จำได้ว่าตั้งแต่เด็กหากไม่สบายจะเห็นคุณแม่อยู่ข้างๆ ทั้งยืดเหยียดให้และปักเข็มให้ ไม่ว่าอาหารเป็นพิษ, เป็นไข้ และปวดท้อง ตัวหมอแทบไม่เคยทานยาเป็นเม็ดๆเลย เนื่องจากโตมาในห้วงที่คุณแม่ค้นพบและพัฒนาดุลยภาพบำบัด ทำให้รู้สึกว่าคุณแม่เกิดมาเพื่อเป็นหมอและผู้ให้ 100% หลังฉากของการหาแนวทางรักษาคนไข้ในรูปแบบใหม่ คือความอ่อนล้าจากการทำงานและรักษาคนไข้จนเกินกำลัง ทุกวันหลังเลิกเรียนตัวหมอจะไปรอคุณแม่ที่ห้องพักแพทย์ ซึ่งติดกับห้องฝังเข็ม บางครั้งยังมีคนไข้รอรักษาอยู่จำนวนมาก และมีนักศึกษาแพทย์เข้ามาศึกษาดูงาน แต่คุณแม่ยังคงกระตือรือร้นในการรักษาโดยไม่สนแม้เวลาล่วงเลยไปกี่โมงก็ตาม เริ่มตั้งแต่นำการฝังเข็มแบบจีนมาใช้แทนการดมยาสลบในการผ่าตัดสมองและไทรอยด์ คุณแม่สังเกตว่าแม้ใช้ในจุดที่วัดเป๊ะๆ แต่ผลที่ออกมาใน 2 ซีกของร่างกายมีความแตกต่างกัน แปลว่าร่างกายของคนไข้ 2 ซีก มีความแตกต่างกัน โครงสร้างร่างกายที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยนั้น มีผลทำให้จุดในการฝังเข็มควรปรับเปลี่ยนไป คุณแม่เริ่มนำกายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยากลับมาคิดทบทวนใหม่แบบเชื่อมโยงกันทุกระบบการทำงานของร่างกาย โดยต่อมาในการรักษาคนไข้หลายกลุ่มอาการ ท่านสังเกตว่าคนไข้จะมีอาการปวดในจุดต่างๆของร่างกายร่วมด้วย และการรักษาแบบเดิมๆแค่ช่วยให้คนไข้หายปวดชั่วคราว แต่สุดท้ายแล้วคนไข้ยังกลับมาให้หมอรักษาซ้ำอีกในจุดเดิมๆ เปรียบได้กับการทานยาแก้ปวดเพื่อระงับปวดชั่วคราว แต่ยังไม่ได้หาสาเหตุแท้จริง คุณแม่ยังนำตำราวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานกลับมามองแบบ 360 องศา และด้วยความมุ่งมั่นที่คิดว่าควรมีวิธีอะไรอีกที่สามารถทำให้คนไข้หายป่วยได้หรือพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องกลับมาหาหมออีก ท่านจึงได้ค้นคว้าและค้นพบศาสตร์ที่เรียกว่า “ดุลยภาพบำบัด” นอกจากจะนำมารักษาคนไข้ ท่านยังใช้จริงกับตนเองและคนใกล้ชิดเสมอ

อะไรคือหัวใจสำคัญของดุลยภาพบำบัด

ดุลยภาพบำบัดคือแนวทางการดูแลรักษาร่างกายแบบสมดุล ด้วยการทำความเข้าใจคนทั้งคนโดยองค์รวม ร่างกายของแต่ละคนแต่ละวันมีความแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการรักษาให้สอดคล้องกับร่างกายของคนไข้ในแต่ละครั้ง ต้องอาศัยการสังเกตการณ์อย่างละเอียด และไม่มองร่างกายแยกเป็นส่วนๆ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้จะทำงานปกติได้ ต้องอาศัยสัญญาณระบบประสาทอัตโนมัติ ต้นทางอยู่ที่แกนสมอง ส่งผ่านไขสันหลังลอดผ่านกระดูกคอ, อก และหลังล่าง แตกแขนงออกมา เพื่อไปสั่งการ ทั้งการหลั่งกรด, การเปิดปิดหูรูด, การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ขณะที่แกนสมอง, ไขสันหลัง และเส้นประสาท ก็ต้องการเลือดแดงไปเลี้ยง หลอดเลือดแดงจะไปเลี้ยงได้ดี การบีบตัวของหัวใจต้องดี หลอดเลือดที่พาดกับโครงสร้างก็ต้องไม่บิดเบี้ยว และเลือดดำต้องไหลกลับมาสู่หัวใจอย่างดี ซึ่งเลือดดำจะไหลกลับมาสู่หัวใจได้ดีต้องอาศัยการบีบตัวที่ดีของกล้ามเนื้อน่องและกล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อจะบีบตัวได้ดีก็ต้องมีสัญญาณประสาทไปถึง โดยดุลยภาพบำบัดจะเน้นให้สังเกตสิ่งที่รู้สึกไม่ปกติและไม่เหมือนเดิม ซึ่งบางครั้งอาจจะยังไม่เข้ากับกลุ่มโรคใดตามหลักการแพทย์ปัจจุบัน แต่ผู้ป่วยมีความรู้สึกผิดปกติเกิดขึ้น เป็นสัญญาณเตือนแล้วไม่ควรละเลย ซึ่งสามารถแก้ไขให้คืนกลับมาได้ด้วยดุลยภาพบำบัดตามหลัก 7E

...

อยากเรียนรู้ดุลยภาพบำบัดควรเริ่มอย่างไร

สำคัญสุดคือต้องรู้จักโครงสร้างของตัวเองก่อน ต้องมองตัวเองแบบองค์รวม เช่น โครงกระดูกเปรียบเหมือนเสาของบ้าน กล้ามเนื้อที่ยึดโยงโครงกระดูกให้ขยับหรืออยู่คงที่เปรียบเสมือนสลิงที่สามารถดึงให้เสาหรือดึงโครงกระดูกให้ขยับบิดเบี้ยวได้ เส้นประสาทก็เปรียบเหมือนสายไฟ หลอดเลือดเปรียบเหมือนท่อสายยางพาเอาออกซิเจนให้ไปถึงเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ และจะร้อยพาดกับโครงกระดูกและหลอดเลือด แปลว่าเมื่อกระดูกและกล้ามเนื้อมีการขยับ จะส่งผลถึงทั้งเส้นประสาทและหลอดเลือด เมื่อคนเรารู้จักโครงสร้างร่างกายของตัวเองที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันทั้งร่างกาย เราก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้โครงสร้างร่างกายบิดเบี้ยวเสียหาย พร้อมยืดเหยียดตามท่าบริหารแบบดุลยภาพบำบัดเพื่อปรับสภาพโครงสร้างด้วยตนเอง ถือเป็นการปฐมพยาบาลโครงสร้างร่างกายด้วยตนเอง

...

โครงสร้างร่างกายที่บิดเบี้ยวมีสาเหตุจากอะไร

การที่โครงสร้างร่างกายบิดเบี้ยวอาจเกิดตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เช่น ขณะคลอดเกิดภาวะรกพันคอส่งผลให้กระดูกคอบิดได้ รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆจากกิจวัตรประจำวันและการเล่นกีฬา ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างร่างกายอย่างละเล็กละน้อย เปรียบเหมือนพายุที่พัดโดนบ้านหรือต้นไม้ทีละน้อย แต่คนเราจะสนใจต่อเมื่อต้นไม้นั้นล้ม หรือบ้านนั้นพัง หรือเมื่อเรารู้สึกว่ามีอาการผิดปกติชัดเจน

โครงสร้างร่างกายที่เสียสมดุลก่อให้เกิดอาการอะไรได้บ้าง

หากเปรียบร่างกายของเราทั้งตัวเป็นโครงสร้างบ้านหลังหนึ่ง เสาและคานเปรียบได้กับโครงกระดูกและกล้ามเนื้อ สายไฟเปรียบได้กับเส้นประสาท ท่อน้ำเปรียบกับหลอดเลือด ถ้าโครงกระดูกและกล้ามเนื้อบิดเบี้ยว จะส่งผลให้เส้นประสาทและหลอดเลือดบิดตามไป เปรียบเหมือนเสาและคานของบ้านมีการขยับบิดเบี้ยว ส่งผลให้เกิดความเสียหายกระจายไปทั้งบ้านโดยฉับพลัน โครงสร้างร่างกายที่เสียสมดุลจึงเกี่ยวข้องได้ทุกอาการ

...

บริหารร่างกายแบบดุลยภาพบำบัดให้ได้ผลต้องทำอย่างไร

การบริหารแบบดุลยภาพบำบัด ก็คือการปรับโครงสร้างผ่านกล้ามเนื้อด้วยตนเอง โดยเริ่มต้นจากการหายใจให้มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นจุดตั้งต้นในการนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย หมอจะแนะนำคนไข้เสมอว่าเคล็ดลับการบริหารแบบดุลยภาพบำบัดให้ถูกต้องคือ ให้นำสติ (Emotion) ไปไว้ในตำแหน่งที่กำลังยืดเหยียดในแต่ละท่าของการบริหาร โดยไม่ให้กลั้นหายใจ จะเห็นว่าท่าบริหารทุกท่าใช้กล้ามเนื้อตั้งแต่ศีรษะจดเท้า แต่จะเน้นบริเวณใดมากกว่าขึ้นอยู่กับแต่ละท่าบริหาร ซึ่งจะต่างจากการยืดด้วยศาสตร์อื่นๆที่เน้นเฉพาะจุด

โรคอะไรคือโรคยอดฮิตที่รักษาหายด้วยดุลยภาพบำบัด

เวียนศีรษะ, บ้านหมุน, เสียงดังในหู, ภูมิแพ้, อาการวูบ และออฟฟิศซินโดรม ที่คนสมัยนี้เป็นกันมาก ความจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกันหมด ดุลยภาพบำบัดสามารถช่วยได้หลากหลายอาการหรือกลุ่มโรค โดยบางอาการสามารถช่วยให้หายได้ 100% บางอาการช่วยเสริมการรักษาที่ทำอยู่ ขณะที่บางอาการช่วยไปลดผลข้างเคียงของการรักษา

อะไรคือภารกิจใหญ่ของผู้สืบสานตำนานดุลยภาพบำบัด

สิ่งที่คุณแม่ฝากไว้ คืออยากให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องดุลยภาพบำบัด เพื่อนำไปดูแลรักษาด้วยการพึ่งตนเองเบื้องต้นโดยไม่ต้องใช้ยาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตัวหมอได้พัฒนาต่อยอดตามปณิธานของคุณแม่ โดยริเริ่มหลักสูตรดุลยภาพบำบัดให้นักศึกษาแพทย์ในวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า, โครงการโรงเรียนต้นแบบดุลยภาพบำบัด, โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพองค์รวมแบบปัจเจกบุคคล ซึ่งดำเนินการในนามมูลนิธิดุลยภาพบำบัดในพระอุปถัมภ์ฯที่คุณแม่ร่วมก่อตั้งขึ้น รวมทั้งพัฒนาบ้านสวนสหคลินิกที่คุณแม่ก่อตั้งให้เหมาะกับยุคสมัย โดยมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแอปพลิเคชันบนมือถือชื่อว่า “somdulplus” รวบรวมองค์ความรู้ด้านดุลยภาพบำบัดเข้ามาไว้ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถใช้งานบนมือถือ เพื่อให้คนไทยดูแลสุขภาพตัวเองในเบื้องต้น และตัวหมอเองจะไม่หยุดยั้งในการพัฒนาต่อยอดดุลยภาพบำบัด ให้สมกับที่คุณแม่ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งชีวิต เพื่อก่อกำเนิดศาสตร์นี้ขึ้นมา.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ