แม้จะเป็นเทศกาลตรุษจีน แต่การเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง หรือที่เรียกกันว่าการเผา “กงเต๊ก” ก็ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ทำกันในช่วงเทศกาลตรุษจีน และเทศกาลเช็งเม้ง แต่ในช่วงที่ผ่านมา ด้วยกระแสความนิยมของสินค้าไอทีต่าง ๆ ที่ออกมามากมาย ทำให้มีอุปกรณ์ไอที รวมถึงของที่ไม่น่าจะมีในกิจกรรมการเผา “กงเต๊ก” มาให้เผากันในปัจจุบันนี้...


ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่สำรวจร้านค้าที่ขายเครื่องเผากงเต๊ก พบว่าในปัจจุบันมีสินค้าไอทีต่าง ๆ รวมถึงของแปลก ๆ เช่น กระเป๋า เสื้อผ้า โทรศัพท์ไอโฟน ไอแพด บัตรเครดิต นาฟิกาข้อมือหรู ๆ สร้อยคอ หรือแม้กระทั่งหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำจากกระดาษไว้สำหรับใช้ในพิธีเผากงเต๊ก ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสินค้าที่ทันสมัย ได้รับความนิยม รวมไปถึงคนส่วนใหญ่ใช้งานกันเป็นประจำอยู่แล้ว นอกจากดูน่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ยังเป็นการดึงดูดให้วัยรุ่น รวมถึงเด็ก ๆ และคนที่คิดต่าง หรือชอบของแปลก ได้ลองเปลี่ยนบรรยากาศจากการเผาเงิน-ทอง เป็นการเผาสินค้าไอทีส่งไปให้บรรพบุรุษได้ใช้งานสินค้าเหล่านี้

นายธนะรัช จิวรวิวัฒน์ เจ้าของร้านจิวฮั้วฮะ ร้านขายเครื่องไหว้ต่าง ๆ กล่าวถึงวิวัฒนาการกงเต๊กผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า มีของทันสมัยมากขึ้นทุกปี ทั้งโน้ตบุ๊กแอปเปิล ไอแพด 2 ไอโฟน 4s ทาวน์โฮมทันสมัย บ้านเดี่ยวหรูหรา บัตรวีซ่า ปรากฏให้เห็นมาเมื่อ 2-3 ปีมาแล้ว โดยในแต่ละปี ของที่จำลองขึ้นมาจะทันสมัยขึ้น ซึ่งยังมีรองเท้า กระเป๋าแบรนด์เนมให้เผากันด้วย โดยมีความเชื่อว่าเมื่อได้เผาของเหล่านี้ บรรพบุรุษจะได้ใช้เหมือนกับเรา

...

“สำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือของไอทีที่ใช้เผา มีราคาเริ่มที่ 10–100 บาท แต่บ้านจำลองจะเริ่มต้นที่ 400–200,000 บาท แล้วแต่ขนาด มีแต่งบ้าน แต่งไฟด้วย ซึ่งมีขนาดใหญ่เท่าของจริง โดยของที่ใช้เผากงเต๊ก ก็จะปรับเปลี่ยนไปตามยุค ตามสมัย มีอะไรใหม่ ๆ ก็จะเพิ่มเข้ามา”

นายธีรพล สรรค์ธีรภาพ เจ้าของร้านจิบฮั้วเฮง ร้านขายของไหว้เจ้าย่านเยาวราช พูดถึงสีสันการเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง หรือกงเต๊กในปัจจุบันว่า ของที่ใช้ในการไหว้ มีความทันสมัยมากขึ้น เพราะสมัยโบราณก็มีแต่แบงก์ ใบเบิกทาง แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ เสื้อผ้า ทอง ซึ่งถ้าตามความเชื่อเดิม คนโบราณก็จะไม่ซื้อ แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นสมัยใหม่ ก็มีความเชื่อที่สนุกสนานอยากจะซื้อของที่ทันสมัย เลยขายได้


“คนแก่จะพาเด็กมาช่วยซื้อ ช่วยเลือก พอเจออะไรที่แปลก ที่ชอบ ก็เลยจะซื้อ บางครั้งอยู่ที่คนแก่จะพาเด็กมาด้วยหรือเปล่า ก็เหมือนกับเราพาลูกไปซื้อ ก็เห็นอะไรที่แปลกก็ซื้อ จ่ายเงิน ไม่คิดอะไรมาก ก็เหมือนกับเป็นการให้เด็กมีส่วนร่วมมากกว่า แต่โดยทั่วไปแล้ว ต้องเอาที่เป็นหลัก ๆ ก่อน แต่พวกที่เป็นสีสันต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น หรือคนสมัยใหม่ ก็จะซื้อกันเกือบทุกคน ส่วนมากก็จะเป็นคนอายุ 20 – 30 ปี หรือเป็นคนคิดต่าง แต่อยู่ที่ความประหยัดของคนซื้อด้วย”

สำหรับจุดประสงค์ของการเผากงเต๊ก คุณธีรพลเล่าให้ฟังว่า คนอีกภพอีกชาติ ต้องการใช้เหมือนคนทั่วไป แต่ที่นั่นอาจหาซื้อแบบที่เรามีไม่ได้ ทำให้ฝั่งเราต้องซื้อส่งไป ใครชอบอะไรก็ซื้อแล้วเผาส่งไป ซึ่งของร่วมสมัยต่าง ๆ เกิดจากความคิดว่าถ้าฝั่งโน้นมีแต่เงิน ก็ไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน ก็เลยต้องซื้อส่งไป ซึ่งบางคนที่เคยมาเล่าให้ฟังว่า ลูกเขาตาย มาเข้าฝันบอกว่าได้เกม อยากได้โน่นนี่นั่น ก็ต้องมาหาให้เราทำเกมให้

“แต่ในอนาคต การเผากงเต๊ก ก็จะเป็นร่วมสมัยมากขึ้น ซึ่งอยู่ที่สังคม อยู่ที่การใช้ชีวิตยังไง ความคิดของเราจะผูกไปกับบรรพบุรุษ ซึ่งจะดึงไว้ว่า ฝั่งเรามี ฝั่งเขาก็น่าจะต้องใช้ด้วย และก็จะไม่หยุดอยู่กับที่ ซึ่งเหมือนกับสินค้าแฟชั่น ที่ยังต้องพัฒนาตามสมัยไป ซึ่งปัจจุบัน นอกจากการเผาบ้านจำลองแล้ว ยังมีการเผาโฉนดที่ดินด้วย แต่จะเป็นลักษณะของการเขียนส่งไปมากกว่า”

...



เจาะประวัติ 'กงเต๊ก'...!!!

ขณะที่ อ.จิตรา ก่อนันทเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศจีน กล่าวผ่านไทยรัฐออนไลน์ว่า การเผาเครื่องกระดาษ หรือเรียกอีกแบบว่าเผากงเต๊ก เมื่อสมัยก่อนไม่มีวัฒนธรรมการเผาเครื่องกระดาษให้กับผู้ตาย เพิ่งมาเริ่มเมื่อสมัยประมาณพันกว่าปี เป็นความเชื่อที่ว่า ไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหน ดังนั้นจึงต้องเผาเครื่องกระดาษให้กับผู้ตายแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะคิดว่าผู้ตายไป ก็เอาอะไรไปไม่ได้ แล้วไม่น่าจะมีวัสดุอุปกรณ์ใช้ในภพภูมิที่ไม่ใช่โลกมนุษย์ ก็ต้องเผาไปให้ใช้

“แต่ตามประวัติแล้วมีการขุดพบศพกษัตริย์ของประเทศจีน พบโครงกระดูกและก็เครื่องถ้วยชาม สมบัติฝังเอาไว้มากมาย หรือตามโบราณสถานเมื่อประมาณ 4,000 ปีที่ผ่านมา หรือบางครั้งก็โหดหน่อย ก็ฝังคนเป็นๆ ลงไปด้วย เพื่อไปอยู่รับใช้กษัตริย์ด้วย อย่างสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ เวลาตายแล้วก็ฝังนางสนมไปทั้งเป็น หรือฝังอาหาร ฝังเหล้า เป็นชุดความเชื่อที่ว่า ไม่รู้ว่าตายไปจะเจออะไร ก็ใส่ไปเผื่อขาดเผื่อเหลือจะได้มีกินมีใช้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรวยเหมือนกษัตริย์ ซื้อของมาฝังได้ จึงเกิดการย่อส่วนฝังร่วมลงไปด้วย จนตอนสมัย 1,100 ปี ซึ่งมนุษย์ทำกระดาษเป็น พอกษัตริย์จีนเสียชีวิต ข้าราชบริพาร ก็นำกระดาษมาทำเป็นของทำเทียม ของกงเต๊กจึงเกิดมาใช้ช่วงนี้ ส่วนการทำพิธีกงเต๊ก มาทำในภายหลัง และจากที่ไม่เคยเป็นกระดาษ แต่พอนักการตลาดจับเรื่องราวเอามาใส่ ก็ทำเป็นกระดาษจนถึงทุกวันนี้”

...


ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ส่วนเรื่องซื้อมาเผานั้น จริงๆ ไม่มีความเชื่อนี้อยู่ เพราะเผาไปแล้วก็เสียหาย คิดว่าคนตายจะได้อย่างไรที่สำคัญ มันสร้างมลพิษให้กับโลกและสร้างสารพิษตกค้างเมื่อผู้เผาสูดลมหายใจเข้าไป ซึ่งเป็นอันตรายมากๆ

“อย่างที่บอกสมัยนี้ มีทั้งพวก iPhone iPad tablet มีโทรศัพท์ มีบ้าน ทาวน์โฮม บัตรวีซ่า ซึ่งของพวกนี้คือนักการตลาดรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามากทำขึ้นมา ซึ่งมันจะออกแนวล้ำๆ มาเรื่อยๆ ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็เห็นด้วย เพราะว่าไม่เสียหาย ที่สำคัญยังกระตุ้นให้คนให้ความสำคัญกับวันนี้ บางบ้านเห็นบ้านข้างๆ เผา ก็ต้องซื้อไปเผา ไม่อย่างนั้นน้อยหน้า ก็ซื้อของบลัฟกัน แต่แนะนำว่าอย่าเผา เพราะว่าสร้างมลพิษให้กับคนรอบข้างและโลก ที่เหลือมันจะแปลงเป็นรูปร่างอะไรก็ไม่เสียหาย ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนนึกถึงวันสำคัญนี้ด้วย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวในที่สุด

...


ที่สุดแล้ว การเผากงเต๊ก ถูกปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ และเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างความสนุกสนานในการเผากงเต๊กของเด็ก ๆ วัยรุ่นได้ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ก็ต้องไม่ลืมนึกถึงคุณค่า และแก่นแท้ของพิธีเผากระดาษเงิน-กระดาษทองด้วย อย่าให้ความทันสมัย มาบดบังคุณค่าของกิจกรรมอันศักสิทธิ์ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอ...!