สธ.เตือนสาวๆ ที่ชอบ "ต่อเล็บ" อันตรายจากเคมีทำผิวหนังพังหายใจไม่ออก เผยไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ทาเล็บ...
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การต่อเล็บด้วยเล็บปลอมทั้งที่ทำจากพลาสติก และที่ทำจากสารเคมีกำลังเป็นที่นิยมในหมู่สุภาพสตรี ซึ่งเล็บปลอมที่ทำจากพลาสติกมีทั้งประเภทสำเร็จรูป คือ มีลวดลายต่างๆ กันราคาไม่แพง สามารถหาซื้อได้จากร้านค้าห้างสรรพสินค้าทั่วไป หรือสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยนำมาติด ที่เล็บจริงด้วยกาว และอีกประเภทหนึ่งคือเล็บปลอมที่ต้องทำที่ร้านทำเล็บโดยช่างเฉพาะทาง ที่ผ่านการฝึกอบรมทำให้มีราคาแพงกว่า ซึ่งการต่อเล็บปลอมอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อผู้ให้บริการและผู้บริโภคได้เนื่องจาก มีการใช้สารเคมี ในกระบวนการต่อเล็บตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ในการขึ้นรูปเล็บ เป็นสารเคมีในกลุ่มอะครัยลิก โมโน เมอร์ (acrylic monomers) และส่วนที่ทำให้เล็บที่ต่อแข็งตัวอาจมีสารเคมีฟอร์มัลดีไฮด์ (Formaldehyde) เป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยซึ่งสารทั้ง 2 กลุ่มนี้เป็นสารระเหยง่าย อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเคมี (จากข้อมูลของสำนักเครื่องสำอาง และวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)
อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่อเล็บจากร้านขายส่งในเขต กรุงเทพฯ 2 แห่งได้แก่ ตลาดสำเพ็ง, ตลาดประตูน้ำ และสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ต รวมทั้งสิ้น 35 ตัวอย่าง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์ต่อเล็บ ส่วนที่ทำให้เล็บแข็งตัว จำนวน 14 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์หาปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ พบว่า มีปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์อยู่ในช่วงร้อยละไม่เกิน 0.12 โดยน้ำหนักส่วนผลิตภัณฑ์ต่อเล็บส่วนที่สร้างเล็บปลอม จำนวน 21 ตัวอย่างตรวจวิเคราะห์พบสารกลุ่มอะครัยลิก โมโนเมอร์ ชนิด เอทธิลีนไดเมทธาครีเลท (ethylene dimethacrylate) จำนวน 3 ตัวอย่าง ปริมาณไม่เกิน ร้อยละ 0.08 โดยน้ำหนัก
ด้านนางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์ในผลิตภัณฑ์ทาเล็บ ซึ่งตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดชื่อ และปริมาณของวัตถุที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางที่ออกความตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 โดยปริมาณสูงสุดที่ให้ใช้ได้ ในผลิตภัณฑ์สำหรับเล็บเท่ากับร้อยละ 5โดยน้ำหนัก แต่ยังไม่มีการควบคุม และกำกับดูแล ผลิตภัณฑ์ส่วนที่ทำให้เล็บแข็งตัว และผลิตภัณฑ์ต่อเล็บส่วนที่สร้างเล็บปลอม เช่น สารในกลุ่ม อะครัยลิก โมโนเมอร์ เป็นสารที่มีความเป็นพิษปานกลางอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจเป็นพิษเมื่อสูดดมได้.
...