...16 ส.ค. พ.ศ. 2563 เวลา 15.41 น. ตามเวลาสหรัฐอเมริกา “Death Valley”--“หุบเขามรณะ” ภายในอุทยานแห่งชาติรัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างสถิติ “อุณหภูมิสูงสุดบนพื้นโลก” ถึง 54.4 องศาเซลเซียส หรือ 130 องศาฟาเรนไฮต์ ร้อนขนาดทอดไข่ดาวสุก...

สถิติก่อนหน้านี้ในพื้นที่ “หุบเขามรณะ” ร้อนที่สุด 56.7 องศาเซลเซียส หรือ 134 องศาฟาเรนไฮต์เมื่อเดือน ก.ค. พ.ศ.2456 แต่ภายหลังตัวเลขนี้ถูกยกเลิกเพราะอุปกรณ์วัดอุณหภูมิยุคศตวรรษ 20 ถือว่าล้าสมัยไม่น่าเชื่อถือเที่ยงตรง จึงใช้ตัวเลขล่าสุดของยุคปัจจุบัน คือ 54.4 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงเดือน ก.ย.ในพื้นที่หุบเขามรณะปีนี้ อยู่ที่ 125 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 51.6 องศาเซลเซียส ถือว่าสูงทุบสถิติร้อนของเดือน ก.ย. แม้ว่าบางช่วงเวลาของเดือน ก.ย.ปีนี้ อุณหภูมิลดลงบ้างเพราะควันไฟไหม้ป่าลอยบดบังแสงจ้าจากดวงอาทิตย์ ทำให้สภาพอากาศเย็นลงเล็กน้อย

แต่แทนที่ผู้คนจะหลีกลี้หนีหาย กลับกลายเห็นนักท่องเที่ยวพากันไปเยือนสัมผัสสภาพอากาศร้อนสุดขั้วกันไม่น้อย ทั้งๆที่ห้วงเวลาแนะนำไปเที่ยวเยือน “หุบเขามรณะ” เหมาะมากที่สุดของปี คือช่วงเดือน ต.ค.-พ.ค. อุณหภูมิเฉลี่ย 15.5-21.1 องศาเซลเซียส หรือ 60-70 องศาฟาเรนไฮต์

...

สถานที่อากาศร้อนมากที่สุดบนพื้นโลกเท่าที่ถูกสำรวจรับรองเป็นทางการ รองจาก “หุบเขามรณะ” อีก 9 อันดับ คือ

คีบิลี--Kebili

อดีตดินแดนอุดมสมบูรณ์กลางทะเลทรายทางภาคใต้ตูนิเซีย ทวีปแอฟริกาเหนือ ดินแดนแห่งนี้ขึ้นชื่อปลูก “อินทผลัม” คุณภาพสูง อุณหภูมิ เฉลี่ยช่วงฤดูร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด เท่าที่เคยวัดได้คือ 55 องศาเซลเซียส เมื่อ พ.ศ.2474

มิทริบาห์--Mitribah

พื้นที่ทะเลทรายห่างไกล ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือคูเวต อุณหภูมิสูงสุดเท่าที่เคยวัดได้คือ 53.9 องศาเซลเซียส เมื่อ 21 ก.ค. พ.ศ.2559 ถือเป็นพื้นที่อุณหภูมิสูงมากที่สุดบนทวีปเอเชีย

เทอร์บัต--Turbat

เมืองเล็กๆทางตอนใต้จังหวัดบาโลชิสถาน ในปากีสถาน อุณหภูมิสูงสุดช่วงฤดูร้อนเมื่อ 28 พ.ค. พ.ศ.2560 วัดได้ 53.7 องศาเซลเซียส

ดาลลอล--Dallol

เมืองเล็กๆทางภาคเหนือเอธิโอเปีย อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 130 เมตร สภาพภูมิประเทศเป็นทะเลเกลือ อุณหภูมิเฉลี่ยช่วงกลางวันอยู่ที่ 41 องศาเซลเซียส

อาซิซิยาห์--Aziziyah

ดินแดนตอนใต้กรุงตริโปลี เมืองหลวงลิเบีย ถูกขึ้นอันดับพื้นที่ร้อนที่สุดบนพื้นโลกเมื่อ พ.ศ.2465 วัดอุณหภูมิได้ถึง 58 องศาเซลเซียส แต่สถิตินี้ถูกปลดเมื่อปี 2555 ด้วยเหตุผล “ความน่าเชื่อถือ” ของอุปกรณ์วัดอุณหภูมิช่วงศตวรรษ 20 ยังไม่แม่นยำมากพอ อุปกรณ์ตรวจวัดสมัยใหม่วัดอุณหภูมิดินแดนอาซิซิยาห์ช่วงกลางฤดูร้อนเฉลี่ยอยู่ที่ 48 องศาเซลเซียส

...

วาดี ฮาลฟา--Wadi Halfa

เมืองเล็กๆริมทะเลสาบนูเบียในซูดาน ดินแดนนี้แทบไม่เคยมีฝนตก ช่วงเดือน มิ.ย.อากาศร้อนที่สุด อุณหภูมิเฉลี่ย 41 องศาเซลเซียส แต่อากาศร้อนที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ คือ 53 องศาเซลเซียส เมื่อเดือน เม.ย.ปี พ.ศ.2510

แดชต์-อี ลูต--Dasht-e Loot

ดินแดนทะเลทรายที่ราบสูงในอิหร่าน พื้นที่นี้ไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เพราะอากาศร้อนจัด ดาวเทียมตรวจวัดสภาพอากาศเมื่อช่วงปี 2546-2552 อ้างวัดอุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงถึง 70.7 องศาเซลเซียส แต่ไม่ยืนยันรับรองสถิติอย่างเป็นทางการจากประชาคมโลก

...

บันดาร์-อี มาห์ชาห์--Bandar-e Mahshahr

อีกเมืองทะเลทรายของอิหร่าน อ้างเคยวัดอุณหภูมิสูงสุดถึง 74 องศาเซลเซียสเมื่อเดือน ก.ค. พ.ศ.2558 แต่สถิติไม่ได้รับการรับรอง ส่วนตัวเลขอย่างเป็นทางการอุณหภูมิที่นั่น สูงสุด 51 องศาเซลเซียส

กาห์ดาเมส--Gha-dames

เมืองกลางทะเลทรายในลิเบีย ได้รับขึ้นบัญชี “มรดกโลก” ดินแดนนี้ได้รับฉายา “ไข่มุกแห่งทะเลทราย”--The Pearl of the Desert อุณหภูมิร้อนเฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส เคยวัดได้ถึง 55 องศาเซลเซียส แต่ไม่ยืนยันสถิติอย่างเป็นทางการ.

...

โหรกระแส