“Sport has the power to change the world and our future” มีความหมายอย่างตรงตัวว่า “กีฬามีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกและอนาคตของพวกเรา” คือวิสัยทัศน์หลักของ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่เรียกสั้นๆง่ายๆว่า “โตเกียว 2020” (Tokyo 2020) กำลังจะมีขึ้นในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในกลางปีนี้

โอลิมปิก ฤดูร้อน กับญี่ปุ่นไม่ใช่อะไรที่แปลกหน้าต่อกัน แต่เปรียบเสมือนเพื่อนเก่าที่เวียนมาพบปะอีกครั้งหลังจากห่างเหินไปถึง 56 ปี...นานนับครึ่งศตวรรษก็ว่าได้ โตเกียวเคยเป็นเมืองเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ฤดูร้อนในปี ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) และกลายเป็นเกมกีฬาเปลี่ยนโฉมของญี่ปุ่นไปอย่างสิ้นเชิง ว่ากันว่าครั้งนั้นเป็นโอลิมปิกที่ดีที่สุด แต่สำหรับ “โตเกียว 2020” แล้ว นี่จะเป็นเกมกีฬาเปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมล้ำสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์ และตามสไตล์ของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีแถวหน้าของโลก “โตเกียว 2020” จึงมาพร้อมกับแนวคิดหลัก 3 ประการ นั่นคือ มุ่งมั่นเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดต่อตัวคุณ การมีเอกภาพท่ามกลางความหลากหลาย และการเชื่อมต่อกับอนาคต

ก่อนจะสิ้นปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการโชว์ความพร้อมของ “โตเกียว 2020” องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ได้เชื้อเชิญตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เข้าร่วม “JNTO Media Trio” พร้อมกับสื่อต่างชาติจากเอเชียและยุโรป โดยส่วนหนึ่งของทริปนี้คือการเข้าเยี่ยมชมสนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว ที่จะใช้แข่งขันกีฬา โอลิมปิก ฤดูร้อน ระหว่างวันที่ 24 ก.ค.–9 ส.ค.2563 และกีฬาพาราลิมปิกของผู้พิการ ที่จัดขึ้นต่อเนื่องกันในระหว่างวันที่ 25 ส.ค.–6 ก.ย.2563

...

กว่าที่สนามกีฬาแห่งชาติแห่งนี้จะเสร็จสมบูรณ์ทันตามกำหนดเวลา ก็เรียกได้ว่าผู้จัดงานต้องเผชิญความท้าทายหลายสิ่ง การเปลี่ยนแบบจากสถาปนิกรายเดิม ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และยังเสร็จไม่ทันการแข่งขันชิงแชมป์รักบี้ เวิลด์ คัพ แต่ในที่สุดสนาม กีฬาแห่งชาติโตเกียวรูปทรงรีมี 3 ชั้น ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากย่านชินจุกุ ก็สำเร็จทันเวลา สนามเป็นงานออกแบบของสถาปนิกชื่อดัง เคนโกะ คุมะ โดยงบประมาณที่ใช้ไป 156.9 พันล้านเยน หรือราว 43,000 ล้านบาท มีความจุ 68,000 ที่นั่ง และจะถูกใช้เป็นสนามเปิดพิธีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในวันที่ 24 ก.ค.นี้

เคนโกะ คุมะ ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาปนิกที่เน้นความเรียบง่ายผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืนกัน ถ้าใครเคยไปร้านกาแฟสตาร์บัคส์ สาขาดาไซฟุเท็มมังกู ในฟุกุโอกะ ที่ใช้ไม้มาประกอบเป็นโครงสร้างอย่างโดดเด่น นับเป็นสาขาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในญี่ปุ่นและดังไกลไปทั่วโลกแม้จะมีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่โต ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานออกแบบของเคนโกะ คุมะ และสนามกีฬาแห่งชาติโตเกียวก็เช่นกัน จากการเดินสำรวจโครงสร้างสนามโดยรอบจากภายนอกไปจนถึงภายในก็จะเห็นการผสมผสานงานไม้และเหล็กที่ถูกจัดวางเรียงรายอย่างลงตัว ดูเรียบง่ายก็จริง แต่ก็โอ่โถงอลังการ หลังคาใหญ่เปิดโล่งถูกออกแบบมาเพื่อลมที่พัดมาไหลเวียนเข้าสู่สนามในช่วงหน้าร้อน

...

อีกทั้งการออกแบบที่ต้องใช้เป็นสนามกีฬาเพื่อคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะนักกีฬาในพาราลิมปิก รวมถึงผู้ชมที่เป็นผู้พิการ ก็สามารถเห็นส่วนของงานในแบบอารยสถาปัตย์ ที่เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกแก่บุคคลทุพพลภาพ ทั้งการจัดสรรพื้นที่ชมกีฬา เส้นทางสัญจรไปชั้นล่าง-ชั้นบน ห้องสุขาเข้าถึงง่ายและเพียงพอต่อการใช้สอย

ด้านทัพนักกีฬาจากหลายประเทศทั่วโลกที่จะเข้าชิงชัยใน “โตเกียว 2020” นั้น สำหรับโอลิมปิก ฤดูร้อน จะมีทั้งหมด 11,090 คน และ 4,400 คนสำหรับพาราลิมปิก ซึ่งสนามทั้งหมดที่ใช้แข่งขันมีจำนวน 43 แห่ง หากส่องดูแนวการจัดวางตำแหน่งสนามที่มีอยู่ในโตเกียวและพื้นที่รอบๆก็จะเห็นว่ามี 2 โซน คือ สนามที่อยู่ ในเฮอริเทจโซน (Heritage zone) และโซนอ่าว โตเกียว (Tokyo bay zone) แต่ก็มีที่กระจายไปจัดแข่งขันที่สนามในเมืองอื่นๆบ้าง เช่น ฟุตบอล เบสบอล ปั่นจักรยาน

...

นอกจากการเตรียมพร้อมทางด้านสนามแข่งขันแล้ว ก็ยังเผยความพร้อมของหมู่บ้านนักกีฬาที่ตระเตรียมห้องหับให้แก่นักกีฬาในรายการโอลิมปิก ฤดูร้อน มีจำนวนเตียงนอนถึง 18,000 เตียง ส่วนนักกีฬาพาราลิมปิกมีเตียงรองรับ 8,000 เตียง พร้อมด้วยความสะดวกสบายครบครัน ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ การนำเทคโนโลยีทันสมัยอย่างหุ่นยนต์มาใช้ใน 2 มหกรรมกีฬาเพื่อตอบโจทย์ความสบายและคล่องตัว หรือใช้การ์ตูนสัญลักษณ์มาช่วยโปรโมต อย่าง มิไรโทวะ ของโอลิมปิก ฤดูร้อน และโซเมตี้ ของฝั่งพาราลิมปิก

...

ทั้งหมดคือการแสดงศักยภาพของญี่ปุ่นที่มองไกลไปถึงการใช้เทคโนโลยีกับผู้คนในสังคมแห่งอนาคต อย่างที่นาย ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวในวันเปิดสนามกีฬาแห่งชาติโตเกียว เมื่อกลางเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมาว่า “เราต้องทำให้โตเกียว เกมส์ เป็นโอกาสที่จะแบ่งปันความฝัน ความหวัง สร้างมรดกที่น่าภาคภูมิใจ และแสดงพลังของญี่ปุ่นต่อโลก เพื่อเปิดอนาคตประเทศของเรา”.

กันเกรา