- เราก็เซ็นสัญญาขอล็อกเวลา 5 ปี และจะไม่มีการแข่งขันกับใครตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้ ฉะนั้นเราก็กล้าที่จะมาลงทุน ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ แม้กระทั่งแบรนด์ของเวียดนามเองเขาก็ไม่ได้มองเมืองนี้ เขามองว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวไม่ได้สนใจอะไร

- เราเริ่มเข้ามาทำงานแรกคือช่วงปีใหม่ของเวียดนาม มีสปอนเซอร์มารายเดียว นอกนั้นควักเนื้อหมด เราบอกน้องว่า ลองดูว่าคิดรูปแบบนี้อะไรจะเกิดขึ้น งานอีเวนต์ 2 สัปดาห์ปรากฏนักท่องเที่ยวถล่มทลาย" 

- คนเวียดนามเคยบอกว่า ช่วงปีใหม่ไม่ควรจัดงาน เพราะคนเขากลับบ้านกันหมด แม้แต่สปอนเซอร์ของเวียดนามเองก็บอกว่าไม่ควรจัด แต่เราฝืนกฎทุกข้อ อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียในเวียดนามก็แข็งแรงพอๆ กับไทย เราจัดไลท์เฟสติวัลทุกครึ่งชั่วโมง เน้นให้คนถ่ายรูป ให้คนแชร์ นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 100%

ข้างต้นถือเป็นความหาญกล้าของอินเด็กซ์ อีกครั้ง เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้คร่ำหวอดในวงการอีเวนต์และกิจกรรมสุดสร้างสรรค์เล่าให้ฟังในงาน 'ฮอยอัน มาราธอน 2017' ที่ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้ไปร่วมงานถึงเคล็ดลับและแนวความคิดสุดล้ำถึงอนาคตในเวียดนาม และอีเวนต์ใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นในประเทศไทยสุดเซอร์ไพรส์อย่าง Tomorrowland 

...

5 ปี อินเด็กซ์ ยึดอีเวนต์เวียดนาม

"20 กว่าล้านคือค่าเสียหายที่เสียไปครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้สูญเปล่า งานนี้ เจ๊งแหลก แต่มันทำให้เมืองนี้รู้ว่าเราสามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวให้ขึ้นมา 100% ได้ ไม่ใช่ได้แค่ในเมืองนี้เท่านั้น มันได้ยินไปถึงหูคนในรัฐบาลเขาเลยว่า บริษัทคนไทยมาจัดงานแบบนี้ให้กับเมืองฮอยอันฟรี มันบ้าไปแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เรามองคือมันมีงานต่อ คราวนี้เปลี่ยนเป็น 'กว่างนาม เฟสติวัล' รัฐบาลจ้างเลย ให้เราช่วยทำเฉพาะเทคนิคอย่างเดียว เราดีไซน์ให้ทำแค่ 10 นาที ค่าตอบแทน 8 ล้านบาท"

ผลตอบรับดีมาก เมฆ หัวเราะ คราวนี้งานง่ายขึ้นจาก งานแรก 'ไลท์ติ้ง เฟสติวัล' งานที่ 2 'ฮอยอัน มาราธอน 2017' ซึ่งเขาต้อนรับเราดีมากเพราะรู้แล้วว่า เราทำแล้วนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งซีรีส์ที่ 3 ช่วงปีใหม่นี้จะเป็นงาน 'ฮอยอัน เฟสติวัล' 

"ถามว่าทำไมต้องวิ่งที่นี่ มันดีอย่างไร จริงๆ เราวางแผนเป็นซีรีส์ ช่วงไลท์ เฟสติวัล เราให้ผู้สื่อข่าวทำข่าว ให้คนรู้จักเมืองนี้มากขึ้น พอเราจัดวิ่งมาราธอนคนก็มามากขึ้น ผลตอบรับดีขนาดบางกอกแอร์เวย์สเพิ่มเที่ยวบินทุกวัน ขายดีมาก เต็มตลอด นักท่องเที่ยวไทยก็มามากมาย สิ้นปีก็เป็นอีเวนต์ใหญ่ คือ 'ฮอยอัน เฟสติวัล' เพราะเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ที่นี่ตกหนักมาก เราจะเอาหน้าหนาวเป็นหลักเพราะมันเป็นพีคซีซั่นของที่นี่"

เมื่อถามว่า อินเด็กซ์ ไม่เคยทำ สปอร์ตอีเวนต์ ความท้าทายของมันคืออะไร?

"แรกๆ เราก็ตั้งหลักกันเราจะไปหากลุ่มเป้าหมายแบบนี้ได้ยังไง เราไม่มีข้อมูล จัดยังไงให้เหมาะสม จริงๆ เราไม่ค่อยเชื่อมั่นเรื่องวิ่งตอนเช้า เพราะคนยังไม่ตื่น ก็ลองดูทฤษฎีวิ่งมาราธอนว่าเขาทำกันยังไง ถ้าผลตอบรับปีนี้ออกมา อาจจะมีการปรับนิดหน่อย ในใจเราแบ่งเป็น 2 แบบคือ ฟูลมาราธอน กับฟันรัน มาวิ่งชิลๆ ถ่ายรูป พวกนักวิ่งมาราธอนก็บอกว่า ให้ใส่หมวกเวียดนามวิ่งสิ จะได้มีคาแรกเตอร์ พอวันงานจริงๆ น่าตื่นเต้นมาก ตอนแรกเรานึกว่าจะมีแต่คนพื้นที่ แต่ปรากฏว่าคนเอเชียมากันเยอะ คนเวียดนาม 35% ชาวต่างชาติ 65% ใน 65% นี้ก็เป็นคนไทย 55% แล้ว นอกนั้นมาเลเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา คนที่มาสมัครก็เยอะขึ้นมากๆ ถือว่าประสบความสำเร็จ"

"อินเด็กซ์เรามองอนาคตตลอด" เมฆย้ำว่า 2 อีเวนต์ แม้จะไม่ผลิดอกออกผลเป็นกำไรทางเงิน แต่เชิงธุรกิจ ปีแรกลงทุนเองหมด เราพร้อมเจ๊ง แต่นั่นคือยัง
มีโอกาสปีต่อไป งานวิ่งที่นี่ อาจจะกลายเป็น 'บอสตันมาราธอน' เลยก็ได้ แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นมันก็จบ เพราะนี่คือการที่เราได้เมืองมรดกโลกมันพิเศษเราได้สัมปทาน แบบไม่ได้จ่ายเลยสักบาท เพราะนายกรัฐมนตรีของเวียดนามบ้านเกิดอยู่ที่นี่ เขาต้องการให้ภาคกลางเป็นแหล่งท่องเที่ยวของเวียดนาม

...

"เราไม่ได้เสียสักบาทให้รัฐบาลเขา ที่นี่เขายึดว่าใครเขียนโปรเจกต์ดีที่เกื้อหนุนประเทศ เขาพร้อมสนับสนุน คนในพื้นที่ก็แฮปปี้ เพราะเขาได้นักท่องเที่ยวเพิ่ม"

เมฆบอกว่า ดังนั้น 1 ปี จะมี 3 อีเวนต์เป็นอย่างน้อยที่จะทำในประเทศเวียดนาม

"ถามว่าอะไรคือเสน่ห์ของการทำธุรกิจในภูมิภาคนี้ เสน่ห์ของทุกประเทศไม่เหมือนกัน เราต้องปรับตัวและเรียนรู้เขา อย่างเช่นพม่าก็เป็นอีกแบบเวียดนามแม้จะตัดสินใจช้า ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้วัฒนธรรม และผู้คนเขาเยอะเหมือนกัน อินเด็กซ์โตมากับแนวอินเตอร์มาก เราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมแบบต่างชาติที่รวดเร็ว พอมาเจอแบบช้าหมดต้องปรับตัวอดทนรอ" เขายิ้มบอก

...

อินเด็กซ์ พร้อมขาดทุน ???

หลายๆ อย่างที่ผ่านมาเวลาอินเด็กซ์ลงทุนส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะขาดทุนก่อนเสมอๆ คุณมีวิธีคิดอย่างไร สิ่งเหล่านี้น่าสนใจ?

เมฆบอกว่า ถูกต้อง จริงๆ ไม่ได้อยากขาดทุน แต่มันคืออีเวนต์ที่เราทำซ้ำๆ ไง ถ้าเราอยากจะทำอีเวนต์อะไรสักอย่างที่มันทำได้ครั้งเดียว มันไม่มีโอกาสแก้ตัว แต่อันนี้คือปีหน้ามันจะมีอีก มันก็มีโอกาสที่เราจะเป็น โมเดลของเราก็จะเหนื่อยน้อยลง ฟิวเจอร์ของอินเด็กซ์คือเราโอนอีเวนต์เองเยอะมาก แล้วอยู่ในภูมิภาคนี้ สมมติพรุ่งนี้จบ สัปดาห์ถัดไปบินไปพม่าไปทำแฟร์ที่พม่า อันนี้ปีที่ 4 แล้ว ซึ่งก็ต้องบอกว่ามันก็เป็นโมเดล พอมันเป็นแบบนี้ต้องบอกว่าอินเด็กซ์ ในอนาคตต่อไป มันจะมีรายได้มากขึ้น มันจะสเตเบิลมากขึ้น เมื่อก่อนเราทำครั้งเดียวหมด แต่ต่อไปนี้เปิดมาต้นปีเนี่ย เราจะบอกว่ารายได้เราเท่าไร เราจะมีอีเวนต์ของเราเองเป็นซีรีส์

เมื่อก่อนก็ไม่ได้เป็นแบบนี้? เมฆบอกว่า ปรับโมเดลนี้มาประมาณ 5 ปี แต่เราเริ่มต้นจากแฟร์ในพม่า ในเขมร เราก็เริ่มแตกออกมา เพราะฉะนั้นอินเด็กซ์ในอนาคตข้างหน้า เราจะเติบโตแบบมั่นคง จะไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา เราก็จะไม่เหมือนบริษัทที่อีเวนต์สแตนดาร์ต ไม่ต้องเป็นอีเวนต์แบบเดียว เอาให้มันเหมาะสม

...

Tomorrowland จัดที่ประเทศไทย? 

เมื่อถามถึงอีเวนต์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Tomorrowland อีเวนต์มิวสิกเฟสที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งคาดว่าจะได้จัดในประเทศไทย พื้นที่อ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในปี 2019 หรือ 2020 

'ผมหวังว่าเราจะได้ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณา อยู่ในระหว่างการเตรียมตัวยื่นครม. ถามว่ามีโอกาสไหม อยู่ที่ประเทศไทยแล้ว เพราะต่างประเทศบอกผมมาว่า เขาอยากให้อีเวนต์นี้เกิดที่ไทย' เกรียงไกร กล่าวสรุป