“เจริญกรุง” ถือเป็นย่านประวัติศาสตร์สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเป็นจุดเริ่มต้นศูนย์รวมความเจริญในอดีต ทั้งในด้านเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม

เพื่อตอกย้ำความสำคัญของ “เจริญกรุง” ในฐานะย่านสร้างสรรค์อย่างสมบูรณ์แบบแห่งแรกของไทย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เป็นโต้โผพัฒนาย่านเจริญกรุงให้กลายเป็น “ย่านสร้างสรรค์” (Creative District) เพื่อเป็นแบบอย่างความสำเร็จของการสร้างครีเอทีฟดิสทริค เหมือนอย่างนานาประเทศ โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การยกระดับคุณภาพชีวิต, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสร้างความเป็นตัวตนและเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ของย่านให้เลื่องลือ

...

นำร่องโปรเจกต์กันด้วยการนำเสนอ 4 แลนด์มาร์คสำคัญแห่งแรกในประเทศ ที่เป็นตัวแทนของความเจริญในอดีต เริ่มจาก สถานกงสุลแห่งแรกของไทย “สถานกงสุลโปรตุเกส” สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งมีชาวโปรตุเกสเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานที่ดินในตรอกกัปตันบุชแก่พระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกส เพื่อสร้างเป็นที่พำนักสำหรับกงสุลโปรตุเกส และใช้เป็นศูนย์กลางการรวมตัวของชาวโปรตุเกสในประเทศไทย ตัวอาคารก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ภายในเป็นพื้นไม้ไผ่ฉาบสไตล์โปรตุกีส มีการปรับปรุงและต่อเติม อาคารต่อเนื่อง เพื่อรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ใกล้เคียงที่สุด

อีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญคือ ธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทย “ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาตลาดน้อย” เริ่มก่อตั้งในนาม “บุคคลัภย์” สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบธนาคารพาณิชย์ของไทย โดยปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท แบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด” ในปี 2449 และเปลี่ยนมาเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” จนถึงปัจจุบัน

โรงแรมแห่งแรกของประเทศไทย “โอเรียนเต็ล” ก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2430 นับเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่สุดของไทยและเก่าแก่ที่สุดในเอเชีย โอเรียนเต็ลเคยต้อนรับพระประมุข, ผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ ตลอดจนบุคคลสำคัญๆระดับโลก มาแล้วนับไม่ถ้วน โดยเสน่ห์ของโรงแรมอยู่ที่อาคารออเธอร์ส วิง ที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิก ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น เมื่อปี 2545

...

สำหรับชาวมุสลิม ไม่มีใครไม่รู้จัก มัสยิดจดทะเบียนหลังแรกของไทย “มัสยิดบ้านอู่” ก่อสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยพระราชทานที่ดินผืนนี้แก่ชาวมุสลิมที่โยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารมัสยิดและกุโบร์ (สุสาน) คนย่านนั้นรู้จักกันดีในชื่อ “สุเหร่าแขก” ในปัจจุบัน ถือเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวมุสลิม.