ประศานต์ มัณฑ์ล กดปุ่มเปิดโคมไฟแอลอีดีขนาดเท่าห่อขนมในกระท่อมที่เขาอยู่กับภรรยาและลูกสี่คน ทันใดนั้น แสงเรื่อเรืองสีเหลืองสดและสีฟ้าน้ำทะเลที่สะท้อนออกมาจากแผ่นผ้าใบมุงหลังคาและฝาผนังของครอบครัวก็อาบพื้นที่แคบๆ ที่พวกเขาใช้ซุกหัวนอน มัณฑ์ลวัย 42 ปี ชี้นิ้วไปตามสมบัติซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ชิ้นภายในบ้าน เขาปิดชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ให้แสงสว่าง ถอดปลั๊กออกทีละชิ้น และหอบไปยังเต็นท์ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 18 เมตร ที่นั่นเขาเป็นคนขายชา หรือไจวัลลาห์ ให้คนที่เดินผ่านไปมาบนถนนอันเงียบเหงาของเมืองมโธตันทะ เมืองที่แวดล้อมไปด้วย ผืนป่าใกล้พรมแดนด้านเหนือของอินเดีย

“ชีวิตผมมันเศร้าครับ แต่ผมตั้งใจจะอยู่รอดให้ได้” มัณฑ์ลบอก “และแสงจากพลังงานแสงอาทิตย์นี่แหละที่ช่วยให้ผมเปิดร้านตอนกลางคืนได้”

มัณฑ์ลผู้สร้างบ้านอย่างผิดกฎหมายบนที่ดินสาธารณะ เป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ของเครื่องจักรทางเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเครื่องจักรที่มีหลายร้อยบริษัททำงานเชิงรุกเต็มที่ในการขายเครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็กให้ลูกค้าที่อยู่นอกโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศกำลังพัฒนา ประมาณการว่ามีผู้คนราว 1,100 ล้านคน ในโลกที่อยู่โดยไม่มีไฟฟ้าใช้ และเกือบหนึ่งในสี่อยู่ในประเทศอินเดียที่ซึ่งคนอย่างมัณฑ์ลถูกบีบให้ต้องพึ่งพาน้ำมันก๊าดและแบตเตอรี่ลูกใหญ่เทอะทะที่มีน้ำกรดรั่วซึมออกมา

...

ชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของมัณฑ์ลที่ให้พลังงานแก่โคมไฟแอลอีดีสองดวงและพัดลมหนึ่งเครื่องนี้ ได้พลังงานจากแผงเซลล์สุริยะขนาด 40 วัตต์ การทำงานเริ่มจากดวงอาทิตย์สาดแสงลงมายังแผง และชาร์จพลังงาน เข้าเครื่องชาร์จประจุขนาดเล็กสีส้มครั้งละราวสิบชั่วโมง มัณฑ์ลเช่าชุดผลิตไฟฟ้านี้จากซิมปาเน็ตเวิร์กส์ (Simpa Networks) ซึ่งเสนอขายแผนสมาชิกที่ออกแบบให้เหมาะกับงบของลูกค้าผู้มีรายได้น้อย ถึงกระนั้น เงินราวๆ 35 เซ็นต์ต่อวันก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโตสำหรับมัณฑ์ลผู้หาเลี้ยงครอบครัวด้วยเงินไม่ถึงสองดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

แต่ถึงอย่างนั้น มัณฑ์ลกลับบอกว่า การจ่ายเงินร้อยละ 20 ของรายได้เพื่อแลกกับบริการของซิมปาก็ยังดีกว่า การใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ท่ามกลางความมืด เขาบอกว่า “ผมใช้เงินมากขนาดนี้ในการชาร์จไฟแบตเตอรี่มาก่อนหน้านี้แล้วครับ และต้องเดินไปกลับราวหนึ่งกิโลเมตรเพื่อไปชาร์จไฟ บางทีน้ำกรดในแบตเตอรี่ก็กระเซ็นมาโดนผิวจนไหม้ ครั้งหนึ่งถึงกับกัดทะลุเนื้อผ้ากางเกงของผมลงไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไฟฟ้าละครับ”

การดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งไฟฟ้าของมัณฑ์ลเป็นเรื่องราวที่พบเห็นได้ตามหมู่บ้านต่างๆ ในประเทศอย่างอินเดีย เมียนมา (พม่า) และในทวีปแอฟริกาที่ซึ่งบริษัทเอกชนขายชุดผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และแผงเซลล์สุริยะ ตลอดจนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือหรือโซลาร์ฟาร์ม (solar farm) องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ ไออีเอ (International Energy Agency: IEA) ประมาณการว่า ผู้คนราว 621 ล้านคนในภูมิภาคซับสะฮาราของแอฟริกาไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่ในอินเดีย

ข้อมูลสำมะโนประชากรเมื่อปี 2011 ระบุว่า การมีสายส่งไม่เพียงพอทำให้ประชากรเพียงร้อยละ 37 จากจำนวนเกือบ 200 ล้านคนในรัฐอุตตรประเทศซึ่งเป็นบ้านเกิดของมัณฑ์ล มีไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานหลักในการให้แสงสว่าง บริษัทซิมปาคาดการณ์ว่า ราว 20 ล้านครัวเรือนที่นั่นต้องอาศัยน้ำมันก๊าดเป็นส่วนใหญ่ โดยรัฐบาลให้เงินอุดหนุนตามเมืองกสิกรรมขนาดเล็กต่างๆ ชาวบ้านชาร์จโทรศัพท์มือถือจากแบตเตอรี่รถแทรกเตอร์ ฤดูร้อนแต่ละคราวซึ่งอุณหภูมิอาจพุ่งสูงถึง 46 องศาเซลเซียส จะมีคนหลายร้อยคนเสียชีวิตจากโรคลมแดด (heatstroke) ขณะที่เขม่าดำจากการเผาน้ำมันก๊าดก็กัดกินทำลายปอด

ในตลาดตามชนบทของอินเดีย พ่อค้าทำเงินจากแสงอาทิตย์กันมานานหลายปีแล้ว ก่อนหน้าที่บริษัทอย่างซิมปาจะเริ่มเสนอให้บริการลูกค้าอย่างมัณฑ์ล บรรดาพ่อค้าโฆษณาชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูกด้วยการนั่งเปิดพัดลมเย็นสบายอยู่ที่แผงขนาดพอๆ กับตู้เสื้อผ้า ชุดอุปกรณ์เหล่านี้มีราคาสามถึงสี่ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพียงเศษเสี้ยวของราคาที่มัณฑ์ลจ่ายให้ซิมปาทุกเดือน

จูเลียน มาร์แชล อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อุตสาหกรรมบริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ มีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศกำลังพัฒนา มาร์แชลเฝ้าติดตามมลภาวะทางอากาศในบ้านของลูกค้าทั้งที่อยู่ภายในโครงข่ายและนอกโครงข่ายไฟฟ้า เขายังทำวิจัยเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากน้ำมันก๊าดและแหล่งพลังงานสกปรกอื่นๆ มาร์แชลชื่นชมบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่ราวหกบริษัทรวมทั้งซิมปา ที่นำนวัตกรรมทางการค้ามาใช้ในชนบทของอินเดีย เขาบอกว่า “เหตุผลหลักที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อบริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์มาจากเรื่องการเงินส่วนบุคคลก็จริง แต่สิ่งที่ได้มาด้วยคือประโยชน์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมสำหรับชุมชนครับ”

...

กลับมาที่มโธตันทะ ภายในเต็นท์ขายชา มัณฑ์ลประกอบชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของเขา และนำโคมไฟมาแขวนไว้ บริเวณนั้นว่างเปล่าท่ามกลางความร้อนระอุยามบ่าย ขณะที่เขาคนชาในหม้อโลหะบนเตาฟืน เมื่อพระอาทิตย์ตกดินและอากาศเย็นลงก็น่าจะมีลูกค้าผ่านมาบ้าง

มัณฑ์ลหวังว่า เขาจะเช่าชุดผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เครื่องที่สองได้ เพื่อที่ลูกๆ จะได้มีที่ที่เงียบกว่านี้สำหรับนั่งทำการบ้าน แต่ขณะนี้สิ่งสำคัญลำดับแรกสุดคือ ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตซึ่งเป็นเป้าหมายที่มัณฑ์ลเชื่อว่า พลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เป็นจริงได้

“พอลูกค้าเห็นแสงไฟก็จะมาที่ร้านกันครับ” เขาบอก

ที่มา : นิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก http://www.ngthai.com/ และ https://www.facebook.com/NationalGeographicThailand/