สัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์บ้านอาศัยอยู่อย่างใกล้ชิดกับมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ เชื่อกันว่า ครัวเรือนในอเมริกามีสัตว์เลี้ยงแปลกๆ รวมกันแล้วมากกว่าในสวนสัตว์เสียอีก ธุรกิจสัตว์เลี้ยงแปลกๆ เป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรงาม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรด้านสวัสดิภาพสัตว์และนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ด้วยเหตุผลที่ว่า การนำสัตว์ป่าที่เกิด ในสถานเพาะเลี้ยงมาเลี้ยงไว้ตามแถบชานเมืองนอกจากอาจก่ออันตรายแล้ว ยังเป็นการทารุณสัตว์และควรถือเป็นอาชญากรรมด้วย แต่ปัญหานี้มีอะไรซับซ้อนกว่าที่คิด
อย่างน้อยก็ในมุมมองของเลสลี-แอนน์ รัช ผู้ฝึกม้าซึ่งอาศัยอยู่ในฟาร์มเนื้อที่เกือบ 20 ไร่ นอกเมืองออร์แลนโดรัฐฟลอริดา รัชวัย 57 ปี เพาะพันธุ์และฝึกม้าพันธุ์ยิปซีที่เลี้ยงไว้ในคอกหลังสวนสัตว์เปิดเล็กๆ ของเธอ เธอเลี้ยงจิงโจ้เพศผู้สามตัว ลีเมอร์สี่ตัว เก้งและหมูแคระอย่างละตัว คินคาจูหน้าตาเหมือนแรคคูนชื่อเจ้า “กีวี” และสุนัขชื่อโดเซอร์ ลีเมอร์กระโดดโลดเต้นตามใจชอบ จิงโจ้ตะแคงตัวนอน หมูตัวจิ๋วใช้จมูกคุ้ยดิน ส่วนเก้งส่ายเขาบนหัวไปมา
ลีเมอร์หลายชนิดในธรรมชาติมีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ รัชเชื่อว่า เธอมีส่วนช่วยให้ลีเมอร์สามารถอยู่รอดต่อไปได้บนโลกด้วยการเลี้ยงดูสัตว์จำพวกไพรเมตขนาดเล็กที่เกิดในสถานเพาะเลี้ยงเหล่านี้ไว้ อีกทั้งเธอยังดูแลสัตว์เลี้ยงทั้งหมดด้วยความทุ่มเทและรับผิดชอบ เงิน 35 ดอลลาร์ฯ ที่รัชคิดเป็นค่าเข้าชมสวนสัตว์เล็กๆ ซึ่งเธอเรียกว่า “ประสบการณ์กับสัตว์เลี้ยงแสนแปลก” (Exotic Animal Experience) ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงของเธอ เจ้าของสัตว์เลี้ยงแปลกๆ บางรายหมดเงินหลายพันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีไปกับเนื้อสดที่ต้องซื้อหามาเป็นอาหารของสัตว์กินเนื้อ ในกรณีของรัช จิงโจ้ของเธอกินธัญพืชปริมาณมาก ขณะที่ลีเมอร์กินผักผลไม้เป็นพะเรอเกวียน
...
รัชเองใช้ชีวิตอย่างกระเหม็ดกระแหม่ รายได้ส่วนใหญ่ของเธอหมดไปกับการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงฝูงย่อมๆ ไหนจะเรื่องเวลาที่ต้องทุ่มเทให้ชนิด “ทั้งวันทั้งคืนเลยค่ะ” เธอยอมรับและเสริมว่า “แต่พวกมันเป็นเหมือนครอบครัวของฉัน และต้องการฉัน ทุกเช้าพอฉันออกมาที่นี่ พวกมันจะรีบเข้ามาทักทายฉัน ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รัก และนั่นก็เป็นความรู้สึกที่ดีมากค่ะ” รัชยังสารภาพว่า “ตลอดชีวิตที่ผ่านมา คนมีแต่ทำให้ฉันผิดหวัง แต่สัตว์เลี้ยงของฉันไม่เคยเลยค่ะ”
ในสหรัฐฯ การครอบครองสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ส่วนบุคคล ได้รับอนุญาตในรัฐไม่กี่รัฐโดยแทบไม่มีการควบคุมใดๆ ขณะที่คุณต้องมีใบอนุญาตในการเป็นเจ้าของสุนัข แต่กลับมีอิสระในการซื้อสิงโตหรือลิงบาบูนมาเลี้ยง แม้แต่ในรัฐที่ห้ามเลี้ยงสัตว์แปลกๆก็ยัง “มีคนฝ่าฝืนกฎหมาย” แอดัม โรเบิร์ตส์ จากองค์กรบอร์นฟรียูเอสเอ (Born Free USA) กล่าว โรเบิร์ตส์เก็บฐานข้อมูลที่มีการอัพเดตเสมอๆ เกี่ยวกับการเสียชีวิตและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองสัตว์เลี้ยงแปลกๆ เช่น ในรัฐเทกซัส เด็กสี่ขวบคนหนึ่งถูกสิงโตภูเขาที่ป้าเลี้ยงไว้ขย้ำ ในคอนเนตทิคัต หญิงวัย 55 ปีถูกลิงชิมแปนซีที่เพื่อนเลี้ยงมาหลายปีทำร้ายจนเสียโฉมถาวร ในโอไฮโอ ชายวัย 80 ปีถูกจิงโจ้หนัก 90 กิโลกรัมทำร้าย หรือจะเป็นในรัฐเนแบรสกาที่ชายวัย 34 ปีถูกงูที่เลี้ยงไว้รัดจนเสียชีวิต ฐานข้อมูลดังกล่าวยังไม่รวมถึงจำนวนผู้ป่วยจากโรครับจากสัตว์ (zoonotic disease) เอาไว้ด้วย
จากประสบการณ์ในการจัดหาที่พักพิงให้สัตว์เลี้ยงแปลกๆ ที่ต้องการบ้านใหม่ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเหตุเร่งด่วน โรเบิร์ตส์ บอกว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงแปลกๆ มักอยู่ในหลายสถานะคาบเกี่ยวกัน บางคนเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้เหมือนลูก โดยเฉพาะพวกไพรเมต โดยแต่งตัวให้พวกมันด้วยเสื้อผ้าเด็ก จับใส่ผ้าอ้อม และฝึกให้ใช้ส้วม บางคนครอบครองสัตว์เลี้ยงแปลกๆ เพื่อเป็นเครื่องแสดงฐานะและอำนาจ ในบางกรณีผู้ซื้ออาจไม่ได้ตั้งใจหรือวางแผนที่จะเลี้ยงแต่แรก แต่ใจอ่อนกับลูกสัตว์ที่ดูน่ารักน่าชัง ส่วนผู้ซื้อรายอื่นๆ อาจเป็นนักสะสม นอกจากนั้น ยังมีผู้รักสัตว์ป่าซึ่งอาจเริ่มจากการเป็นอาสาสมัครที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ก่อนจะกลายมาเป็นผู้รับอุปการะสัตว์ที่เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือมาได้และต้องการที่อยู่อาศัย
บางคนเสาะหาสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการกลับไปใกล้ชิดธรรมชาติ พวกเขาเชื่อว่า ความแปลกของสัตว์เหล่านี้ทำให้พวกเขาพิเศษกว่าคนอื่นๆ “ใช่ค่ะ สัตว์เลี้ยงของฉันทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ” รัชกล่าวยอมรับ
รัฐโอไฮโอกลายเป็นจุดสนใจของการถกเถียงเรื่องการครอบครองสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ที่มาของเรื่องนี้คือเหตุการณ์ เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2011 นอกเมืองเซนส์วิลล์ หลังจากชายชื่อแทร์รี ทอมป์สัน ปล่อยสัตว์ป่าที่เขาเลี้ยงไว้ 50 ตัวซึ่งมี ทั้งสิงโตและเสือโคร่งออกจากกรงและคอก ก่อนจะปลิดชีพตนเอง สำนักงานนายอำเภอท้องถิ่นแทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องยิงสัตว์ส่วนใหญ่ซึ่งวิ่งตัดหน้ารถยนต์ กระโดดไปทั่วสนามหลังบ้าน และมีแนวโน้มว่าจะคุกคามความปลอดภัยของชาวเมือง ก่อนเหตุการณ์ที่เซนส์วิลล์ โอไฮโอเป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแปลกๆ หรือสัตว์ป่า
โศกนาฏกรรมที่เซนส์วิลล์ทำให้รัฐโอไฮโอออกกฎให้เจ้าของ “สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่อันตราย” ต้องมีใบอนุญาต ฝังไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยงของตน พบสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และซื้อประกันภัย
ขณะที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงแปลกๆ และนักเพาะพันธุ์เอกชนจำนวนวนมากบอกว่า พวกเขามีแรงจูงใจจากความต้องการที่จะอนุรักษ์และปกป้องชนิดพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ชนิดพันธุ์หนึ่งๆ สูญสิ้นไปในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น การมีประชากรสำรองจึงเป็นความคิดที่ดี” ลีนน์ คัลเวอร์ ให้ทรรศนะ นักเพาะพันธุ์สัตว์วงศ์แมวและผู้อำนวยการบริหารสหพันธ์อนุรักษ์สัตว์วงศ์แมว (Feline Conservation Federation) ผู้นี้เชื่อว่า “คนที่ทำถูกต้อง ควรได้รับสิทธิ์ให้ทำต่อไป”
...
แต่องค์กรรณรงค์อย่างบอร์นฟรียูเอสเอและกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่า การเพาะพันธุ์สัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของเอกชน ไม่ว่าจะเพื่อการค้า การอนุรักษ์ หรือการศึกษา ล้วนเป็นไปหล่อเลี้ยงความต้องการในตลาดการค้าสัตว์เลี้ยงแปลกๆ ซึ่งส่งผลให้สัตว์ที่ยังอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น พวกเขายืนยันว่า การอนุรักษ์ควรมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสัตว์ในธรรมชาติ ไม่ใช่การอนุรักษ์สัตว์ที่มักเกิดจากการผสมพันธุ์ในหมู่พวกเดียวกันตามสวนสัตว์เอกชน
แอดัม โรเบิร์ตส์ จากองค์กรบอร์นฟรียูเอสเอ บอกว่า พันธกิจของหน่วยงานเขาคือการรักษาสัตว์ป่าให้อยู่คู่กับป่า ซึ่งเป็นบ้านของพวกมัน เมื่อมนุษย์เลือกเลี้ยงสัตว์ที่ควรเป็นสัตว์ป่า เราได้เปลี่ยนพวกมันให้กลายเป็นสัตว์ที่อยู่นอกป่า หรือสิ่งมี ชีวิตที่แปลกแยกจากธรรมชาติ ท้ายที่สุด สิ่งที่เราเรียนรู้จากการครอบครองสัตว์เลี้ยงแปลกๆก็คือ เมื่อคุณนำสัตว์ป่าออกมาจากป่า คุณได้ทำลายธรรมชาติที่แท้จริงของพวกมัน แล้วแทนที่ด้วยความเพ้อฝัน
ความเพ้อฝันนั้นเล่าเป็นของมนุษย์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่เชื่องที่สุดและน้อยที่สุดในเวลาเดียวกัน
...
เรื่อง ลอเรน สเลเตอร์
ภาพถ่าย วินเซนต์ เจ. มูซี