สัปดาห์นี้สารคดีพาไปชมเรื่องราวของการถอดหน้ากากรีอู และเรื่องราวแนวสืบสวนของแก๊งยาเสพติด...

“พวกเราเป็นหนูทดลอง” ฟาบิว ดู อะมารัล อดีตมือปืนรับจ้างของแก๊งค้ายาเสพติดที่กลับใจ และปัจจุบันเป็นภราดาอยู่ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในซานตามาร์ตา กล่าวยอมรับ ซานตามาร์ตาเป็นชุมชนแออัดหรือ ฟาเวลา (favela) แห่งหนึ่งในรีอูดีจาเนรู เมืองหลวงของรัฐชื่อเดียวกันในบราซิล สิ่งที่ท่านต้องการสื่อคือชุมชนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ กวาดล้างฟาเวลาตามเนินเขาเพื่อต้อนรับกีฬาโอลิมปิก ปี 2016

การทดลองดังกล่าวเปิดฉากขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 เมื่อตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษบุกเข้าไปในชุมชนแออัดแห่งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านก่ออิฐที่ดูราวกับหมู่ตึกระฟ้าง่อนแง่น แทรกด้วยทางเดินวกวนและบันไดสูง 788 ขั้น ที่ไต่ขึ้นไปตามเนินเขาลาดชันใต้เงื้อมเงาแห่งรูปปั้นพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ (Christ the Redeemer) อันโด่งดัง ทว่าปฏิบัติการครั้งนี้แตกต่างไปจากการบุกจับกุมแก๊งค้ายาเสพติดในย่านชุมชนแออัดเหมือนที่ผ่านๆ มา ซึ่งมักเป็นการจู่โจมที่รวดเร็วและรุนแรง

...

ในครั้งนี้ “เจ้าหน้าที่จากชุดเคลื่อนที่เพื่อรักษาความสงบ” 112 นาย ที่เข้ามายังซานตามาร์ตาในเดือนธันวาคมปีนั้น กลับอยู่ประจำการที่นั่นเพื่อฟื้นฟูความเป็นระเบียบของชุมชนและปราบปรามแก๊งค้ายาเสพติด ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้มีทีมงานถ่ายหนังแวะเวียนมาไม่ได้ขาด ทั้งยังได้ต้อนรับเหล่าคนดังอย่างมาดอนนา และจอห์น แมกเคน สมาชิกวุฒิสภาและอดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นครรีอูจำเป็นต้องเยียวยาปัญหาทางเศรษฐกิจ ทั้งค่าจ้างแรงงานต่ำ ระบบขนส่งมวลชนไร้ประสิทธิภาพ ภาครัฐอ่อนแอ และการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม จูเซ มาเรียอานู เบลตรามี เลขาธิการฝ่ายความมั่นคงแห่งรัฐบอกว่า “เรื่องแบบนี้มีอยู่ทั่วโลกแหละครับ เพียงแต่ที่นี่อาการหนักหน่อย”

เบลตรามียังเป็นผู้เขียนหลักของ “แผนรักษาความสงบเรียบร้อย” ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การเข้ากวาดล้างชุมชนแออัด และขับไล่แก๊งค้ายาเสพติดและอาชญากรรมออกไป โดยใช้เจ้าหน้าที่จากชุดเคลื่อนที่เพื่อรักษาความสงบจำนวน 12,500 นาย ใน 165 ชุมชน ภายในปี 2014 เพื่อให้ทันการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของบราซิลในปีนั้น เบลตรามียังหวังด้วยว่า หลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2016 ปิดฉากลง รีอูจะเป็นรัฐที่พลเมืองมีสิทธิ์ มีเสียง และมีระบบเศรษฐกิจถูกกฎหมาย

ทุกวันนี้ในชุมชนแออัดอื่นๆ ที่ตำรวจเข้าไปคุมอยู่นั้น ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนดีขึ้นมาก แต่ผู้คนยังคลางแคลงใจ แซร์ชิว โซซา ดือ อันดราชี เพื่อนนักบวชของภราดาฟาบิว นำผมไปยังห้องใต้ถุนโบสถ์เพื่ออธิบายว่า “ผู้คนไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้หรอกครับ แต่สิ่งที่พวกเรากลัวที่สุดก็คือ วันพรุ่งนี้จะยังคงเป็นเหมือนเมื่อวานอยู่ดี จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อตำรวจถอนกำลังออกไปครับ”

แม้แผนรักษาความสงบเรียบร้อยดูจะไปได้ดีในระยะแรก แต่ชาวรีอูยังเคลือบแคลงแผนงานหลายอย่างของรัฐบาลในการยกเครื่องเมือง ความวุ่นวายเกิดขึ้นเป็นระยะๆ เช่นเมื่อคนงานเริ่มก่อสร้างกำแพงพลาสติกและคอนกรีตมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลียบทางด่วนลินญาเวร์เมยาเมื่อสองสามปีก่อน เจ้าหน้าที่เรียกสิ่งนี้ว่าแนวกรองเสียง แต่นักวิจารณ์โจมตีว่าเป็นฉากบังหน้าเพื่อปกปิดธารน้ำสกปรกในย่านกมเปลซูดามาแฮ หรือนิคมที่สร้างอยู่บนที่ลุ่มน้ำขัง

นอกจากนี้ ความหวาดระแวงยังลามไปถึงเรื่องมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่จะมาถึงในปี 2016 ด้วย สนามกีฬาและสาธารณูปโภคใหม่ๆ ครึ่งหนึ่ง จะกระจุกตัวอยู่ในบาร์ฮาดาติชูกา ย่านชนชั้นกลางที่คลาคล่ำไปด้วยรถราและห้างสรรพสินค้าห่างจากใจกลางเมือง ประมาณ 32 กิโลเมตร เราไม่ค่อยเห็นคนจนที่นี่ คอร์ดี บอร์คา นักวิชาการชาวสเปนผู้เคยเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลรัฐรีอูดีจาเนรู กล่าวว่า “พวกคุณควรใช้มหกรรมกีฬาครั้งนี้ในการพัฒนาเมืองชั้นใน ไม่ใช่ย่านชานเมือง เพื่อลดความไม่เท่าเทียม และใช้โอกาสนี้ปรับปรุงเมืองเพื่อประโยชน์ของคนยากคนจน”

แน่นอนว่าเม็ดเงินบางส่วนกำลังกระจายไปยังพื้นที่ยากไร้เพื่อให้เกิดผลในทางบวก ที่ชุมชนแออัดกันตากาลู ลิฟต์สูงลิ่วสองตัวในท่อเหล็กสีสันสดใสเชื่อมชุมชนแออัดที่อยู่ด้านบนกับถนนสายหลัก ส่วนในย่านกมเปลซูดูอะเลเมาฟาเวลาหลายแห่งซึ่งเป็นถิ่นของแก๊งอิทธิพลใหญ่ที่สุดในรีอู ปัจจุบันคลาคล่ำไปด้วยคนงานที่ได้รับค่าจ้างจากโครงการพัฒนาภาครัฐ พวกเขาสร้างอพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ หลายพันยูนิต ศูนย์กีฬาอีกหนึ่งแห่ง และรวมถึงระบบรถกระเช้าไฟฟ้า ขนาดใหญ่ที่วิ่งรับส่งผู้คนตามเนินเขาต่างๆ

...

หลายคนคาดหวังว่าโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ดังกล่าวจะเป็นเหมือนระบบรถไฟใต้ดินของกรุงลอนดอนหรือสะพานบรุกลินในมหานครนิวยอร์ก กล่าวคือ เป็นสัญลักษณ์แห่งวิถีชีวิตคนเมือง ช่วยเปิดประตูชุมชนแออัดสู่โลกภายนอก ทั้งยังเป็นการคืนสิทธิพลเมืองให้แก่ การียอกัส (Cariocas – ชื่อที่ชาวเมืองรีอูเรียกตัวเอง) แต่อีกหลายคนบอกว่าการคาดหวังให้สิ่งก่อสร้างของมนุษย์เป็นตัวแทนความใฝ่ฝันของชาวเมือง ก็ไม่ต่างจากการดูเบาในศักยภาพของรีอูซึ่งรุ่มรวยไปด้วยอัศจรรย์ทางธรรมชาติและเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาของผู้คน เหมือนอย่างตอนที่พญามังกรจีนประกาศศักดาในกีฬาโอลิมปิก ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่งด้วยสนามกีฬารังนก

ถ้าคุณกำลังมองหามรดกแห่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ทำไมไม่นึกถึงเมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างสงบสุขเล่า เพราะนี่คือรีอู ทุกคนจึงบอกว่าให้ดูงานคาร์นิวัลสิ เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะได้ทำในสิ่งเหนือความคาดหมาย ในขบวนพาเหรดงานคาร์นิวัล คนยากไร้จะแต่งกายเยี่ยงราชา ส่วนบรรดาคนเด่นคนดังจะฉีกเสื้อผ้าให้ขาดวิ่นเพื่อร่วมขบวนแห่ในฐานะยาจก ขณะที่ผู้ร่วมงานราว 60,000 คน พร้อมขบวนรถอีกเกือบร้อยคันที่มากันอย่างพร้อมเพรียงและตรงเวลาจะวาดลีลาแซมบาชนิดสุดเหวี่ยงจนถึงรุ่งสาง

...

ทว่างานคาร์นิวัลมีเพียงปีละครั้ง และแม้ความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ในการแปลงโฉมรีอูเพื่อต้อนรับกีฬาโอลิมปิกก็ยังต้องมีวันเลิกรา หลังจากนั้นอนาคตของบรรดาฟาเวลาหรือชุมชนแออัดอาจต้องฝากไว้กับคนอย่างภราดาฟาบิว ผู้มุ่งทำงานรับใช้สังคมเป็นการไถ่บาปของตน

คริสตจักรของภราดาฟาบิวเป็นที่พักพิงของเด็กด้อยโอกาสและผู้ใหญ่ที่ตกอยู่ในวังวนยาเสพติด ในวันที่บานเกล็ดโลหะของอาคารปิดลงเพื่อกันลมชื้นๆ จากมหาสมุทร เสียงของภราดาฟาบิวก็ดังก้องไปทั่วด้วยลำโพงราคาถูก “เนื้อหนังมังสาเรานั้นอ่อนแอ” ท่านป่าวร้อง “แต่จิตวิญญาณเราเข้มแข็ง” นี่คือเสียงที่สร้างขวัญและกำลังใจให้สามัญชนคนเล็กคนน้อย เป็นความฝันที่ภราดาฟาบิวหวังจะมอบให้ชุมชนแออัดที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา

ภาพถ่าย เดวิด อลัน ฮาร์วีย์ เรื่อง อันโตนีอู เฮกาลาดู ข้อมูลจากนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย