เมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม ถึงวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทีมงานซอกแซกโชคดีมีโอกาสติดตามคณะของมูลนิธิไทยรัฐที่ไปจัดสัมมนาให้แก่ผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วประเทศไทย ณ สวนนงนุช พัทยา อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ก่อนเข้าสู่งานสัมมนามีเวลาว่างอยู่เกือบ 3 ชั่วโมง หัวหน้าทีมซอกแซกจึงจัดแจงแปลงร่างเป็นนักท่องเที่ยวชุดพิเศษขอให้ทางสวนนงนุชจัดเที่ยวแบบรวบรัดตัดตอน 2 ชั่วโมงจบ ซึ่งได้รับความกรุณาอย่างดียิ่งสามารถลงไป “เดินทัวร์” คือเดินดูอย่างใกล้ชิด และ “ตะลอนทัวร์” คือนั่งรถราง 2 ตอน วิ่งตะลอนไปรอบๆพร้อมกับชะเง้อศีรษะออกไปดูพอเป็นพิธี หรือถ่ายรูปเอาไว้ 2-3 รูป เป็นผลให้ตระเวนจนครบจบได้ในเวลา 2 ชั่วโมงเป๊ะพอดิบพอดี

จริงๆแล้วครั้งนี้มิใช่ครั้งแรกที่หัวหน้าทีมซอกแซกเดินทางมา สวนนงนุชพัทยา เพราะเคยมาตั้งแต่เปิดใหม่ๆยุค 2523-2524 เมื่อครั้งยังเป็นสวนดอกไม้ต้นไม้และศูนย์แสดงศิลป วัฒนธรรมคล้ายๆสวนสามพราน...ในยุคที่คุณ นงนุช ตันสัจจา ภริยาของเจ้าสัว พิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจบันเทิงชั้นนำของประเทศไทยมาสร้างไว้ในช่วงแรกๆ

ไม่ได้มาเกือบ 40 ปี มาอีกทีเมื่อปลายปี พ.ศ.2563 ยุคช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ในช่วงแรกประเทศไทยของเราบริหารได้ดี นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่เดินทางมา แต่นักท่องเที่ยวไทยยังพอเที่ยวกันได้ ซึ่งรัฐบาล “ลุงตู่” ท่านก็จัดโครงการ “ไทยเที่ยวไทย” สนับสนุนออกค่าโรงแรมให้ครึ่งหนึ่ง แถมด้วยค่าอาหารอีกจำนวนหนึ่ง ทีมงานซอกแซกจึงใช้บริการของลุงตู่มาเที่ยวพัทยาและนำหลานๆ มาเที่ยวสวนนงนุชแห่งนี้

ยังกลับมาเขียนถึงสวนนงนุชผ่านคอลัมน์นี้ด้วยความสุขใจว่าสวนนงนุชเปลี่ยนไปอย่างชนิดจำของเดิมไม่ได้เลยจากฝีมือการพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง ของคุณ กัมพล ตันสัจจา หลังรับช่วงต่อมาจากคุณแม่ เมื่อปี 2529 เป็นต้นมา

...

จากสวนที่ดูธรรมดาๆกลายเป็นสวนที่ไม่ธรรมดาติดอันดับ 1 ใน 10 ของสวนสวยโลกที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาชมไปอย่างเหลือเชื่อ

จำได้ว่าในการมาเที่ยวตามโครงการ “เที่ยวด้วยกัน” ยุคลุงตู่เมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วนั้น ...หัวหน้าทีมซอกแซกแวะเข้าเที่ยวจุดสำคัญเพียง 4-5 จุด จากนั้นก็ต้องไปเดินตาม “หลาน” ที่ขลุกอยู่แต่ใน “หุบเขาไดโนเสาร์” ซึ่งมีหุ่นปั้นไดโนเสาร์ขนาด เท่าตัวจริงกว่า 100 ตัว และบางตัวก็กระดิกได้ ส่งเสียงคำรามได้...สะกดหลานๆ เอาไว้ไม่ยอมออกไปไหนอีกเลย

สำหรับครั้งนี้หัวหน้าทีมซอกแซกขอให้คนขับรถรางแล่นตระเวนแบบชะโงกทัวร์ไปรอบๆ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเบื้องต้นเอาไว้ก่อน

พบว่าสวนนงนุชไม่เพียงแต่จะมีสวนสวยๆแปลกๆ เช่น สวนลายปีกผีเสื้อ, สวนอิตาเลียน, สวนไม้ประดิษฐ์, สวนปรง, สวนบอนไซ, สวนกระบองเพชร, สวนฝรั่งเศส, สวนพฤกษศาสตร์ และสวนปาล์มโลกเท่านั้น ยังมีพิพิธภัณฑ์อีกหลายต่อหลายพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์หัวโขน ซึ่งมี หัวโขน สะสมไว้ถึง 506 หัวโขน และ พิพิธภัณฑ์พระพุทธคุณ แหล่งรวบรวมพระเครื่อง พระบูชาและพระประธานจากพระอุโบสถที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปี ไปจนถึงกว่า 300 ปี

รวมทั้ง “พิพิธภัณฑ์รถ” รวบรวมรถเก่าไว้กว่า 100 คัน ซึ่งเป็นของสะสมที่ “คุณโต้ง” กัมพล ตันสัจจา สะสมมาก่อนที่จะเข้ามาบริหารสวนนงนุชของคุณแม่เสียด้วยซ้ำ

ได้รับรายงานว่าทุกวันนี้มี “สวน”+ “พิพิธภัณฑ์”+“ศูนย์เรียนรู้” ต่างๆ รวมกันถึง 60 กว่าจุด รับรองดูวันเดียวไม่ครบแน่ๆ

ตระเวนต่อไปเรื่อยๆก็พบกับ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุช ที่มีชื่อย่อ ว่า NICE ที่บรรจุผู้คนได้ถึงเกือบ 10,000 คน พร้อมกับลานกว้างอารีน่าหน้าศูนย์จัดแสดง คอนเสิร์ต รับแฟนๆได้อีกเป็นหมื่นเช่นกัน

แถมยังมีห้องประชุมสัมมนาและห้องจัดเลี้ยงขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ภายในบริเวณต่างๆจนแทบจำไม่ได้ว่าอยู่ตรงไหนบ้าง รวมทั้งห้องประชุมสัมมนาของพวกเราโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา ซึ่งเป็นห้องขนาดกลางค่อนไปทางใหญ่ บรรจุเต็มที่ได้ถึง 500 คนเลยทีเดียว

เมื่อมีศูนย์ประชุม มีห้องประชุมสัมมนาก็ต้องมีโรงแรมไว้บริการ โดยจัดสร้างโรงแรม แบบ 2 ชั้นยาวเรียงเชื่อมกัน 3-4 หลัง ร่วมๆ 150 ห้อง แถมด้วยรีสอร์ตหะรูหะราอยู่ริมสระน้ำ อยู่ริมน้ำตกแมนเมดอีกจำนวนหนึ่ง บริเวณเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นแหล่งรายได้สำหรับเลี้ยงตัวเองในระดับหนึ่ง จากการจัดสัมมนาของภาคราชการ ภาคเอกชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด, อบต. ฯลฯ ที่มาช่วยอุดหนุนในราคาอัตราราชการ ทำให้สวนนงนุชค่อยๆฟื้นตัวขึ้นมาได้หลังช่วงโควิด

หลังจากตระเวนจนรอบสวน ซึ่งมีขนาดถึง 1,700 ไร่ และรับฟังคำบรรยายสรุปได้พอสมควร รวมทั้งหยุดลงเดินชมสวน 4-5 สวนเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกก็ขอแวะเข้า “พิพิธภัณฑ์พระพุทธคุณ” ซึ่งรวบรวมพระเครื่อง พระบูชาและพระประธานต่างๆดังที่เกริ่นไว้ ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมงเดินกราบไหว้และชื่นชมตู้ต่างๆทั้ง 31 ตู้ ซึ่งประกอบด้วยพระและประวัติให้ชมและสักการะ ไม่ทราบว่ากี่หมื่นองค์กันแน่...ได้รับความสุข ความสงบความอิ่มเอิบกลับมาแบบเต็มร้อยเลยทีเดียว

พร้อมกับได้ความคิดอยู่ในใจว่า ครั้งหน้าถ้ามากับหลานอีก ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเฝ้าหลานที่ “หุบเขาไดโนเสาร์” อีกแล้วล่ะ...หลานอยากอยู่ที่นั่นทั้งวันก็อยู่ไป...ปู่จะแวะมาที่ “พิพิธภัณฑ์พระพุทธคุณ” นี่แหละอยู่ได้ทั้งวันเช่นเดียวกัน.


“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” เพิ่มเติม

...