28 สิงหาคมนี้ ภาพและวิดีโอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจำนวน 2 ชิ้นงาน ได้รับรางวัล Gold Award Winner ประเภท Travel Photograph และ Culture ที่จัดโดย Pacific Asia Travel Association หรือ PATA โดยผลงาน 2 ชิ้นที่ว่า ประกอบไปด้วย ภาพนิ่งและวิดีโอ สำหรับภาพนิ่ง เป็นภาพการบิณฑบาตของพระสงฆ์ที่ใช้การล่องแพไม้ไผ่ไปในแม่น้ำ ที่ตลาดโอ๊ะป่อย ชุมชนสวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราววิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และวิดีโอชุด The Diversity of Southern Border ที่นำเสนอเรื่องราวพหุวัฒนธรรมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความหลากหลายของพื้นที่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชิ้นงานได้อย่างงดงาม

เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผู้อำนวยการกองวางแผนและผลิตสื่อ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เล่าถึงเบื้องหลังการทำงานของทีมงานเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพและวิดีโออันเป็นเสมือนหน้าต่างบานใหญ่ที่เชื่อมให้นักท่องเที่ยวได้เห็นและเกิดแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ว่า ในการผลิตสื่อต่างๆ ของ ททท. เรามีทีมงานเล็กๆ ประกอบไปด้วย ทีมช่างภาพ ทีมถ่ายทำวิดีโอ และทีมนักออกแบบ ซึ่งทุกคนล้วนทำหน้าที่เป็นทั้งโปรดิวเซอร์ Content Creator และ Copy Writer ในการผลิตชิ้นงานต่างๆให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุด แต่ที่เป็นความท้าทายมากที่สุดคือ เราต้องทำงานแข่งกับเวลา และทำงานแข่งกับธรรมชาติ โดยเฉพาะฤดูกาลที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ

...

“เวลาทำงานเราต้องเจอกับอุปสรรคหน้างาน ทำให้การทำงานในแต่ละทริปอาจไม่บรรลุเป้าหมาย ด้วยสภาพอากาศ สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างเช่น เราอยากถ่ายพระอาทิตย์สวยๆ ที่ส่องลอดประตูโบราณสถาน แต่วันนั้นกลับมีเมฆมาก เราก็ถ่ายงานได้ไม่สวย หรือถ่ายไม่ได้เลยถ้ามีฝนตก บางครั้งก็เจอหมอกควันที่ส่งผลต่อการถ่ายภาพ เรียกว่าทุกทริปต้องได้เจอหรือได้แก้ไขปัญหากันตลอด และทีมงานยังต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สวยงาม สมบูรณ์แบบที่สุด บางครั้งต้องรอแสงเป็นวันๆเลยทีเดียว” ผอ.กองวางแผนและผลิตสื่อ เล่าถึงการทำงานของทีมที่เธอเรียกว่า ทีมอเวนเจอร์ของ ททท.

นอกจากนี้ ในการถ่ายทำวิดีโอ 1 ชิ้นงาน ยังมีเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่าง ทั้งการถ่ายทอดความรู้สึกของคนที่เป็นคนเดินเรื่องหรือแบบในเรื่องราวที่เราอยากนำเสนอ บางครั้งคนในชุมชนซึ่งไม่ใช่นักแสดงอาชีพ ก็ต้องเป็นผู้กำกับสร้างความคุ้นเคยให้กับกล้อง เพื่อให้การถ่ายทอดเรื่องราวในชิ้นงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด และยังต้องคำนึงถึงการ research เนื้อหาเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่ถูกต้องด้วย

“เราก็ต้องคอย support ทีมงานและให้เขามีอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน บางทีถ่ายไปเกือบเสร็จแล้ว แสงหมด หรือแสงไม่ได้ก็ต้องถ่ายใหม่อีกเป็นเรื่องปกติ แต่เราต้องให้โจทย์ที่ชัดเจนเพื่อให้ทีมทำงานง่ายที่สุด” เอิบลาภ บอกสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน คือ ต้องวางแผนและแผนต้องยืดหยุ่นได้ตลอด ควรมีแผนสำรองเสมอทุกครั้ง เพราะด้วยเวลา งบประมาณ และบุคลากรที่จำกัด

...

สำหรับรางวัลที่ได้ ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานที่สามารถถ่ายทอดมุมมองที่สวยงามของประเทศไทยให้ชาวโลกได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นภาพสถานีดอกนางพญาเสือโคร่งบนดอยอ่างขาง ที่เชียงใหม่ ที่ได้รับรางวัลเมื่อปีที่แล้ว และภาพพระออกบิณฑบาตบนแพ ที่หมู่บ้านโอ๊ะป่อย จ.ราชบุรี

เอิบลาภ บอกว่า ความยากอยู่ที่ ภาพ 1 ภาพ ต้องสามารถสื่อความหมายได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ฤดูกาล วิถีชีวิต วัฒนธรรม ชุมชน ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของทีมผลิตสื่อ ททท.คือ การกระตุ้นความสนใจและสร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางไปสัมผัสความสวยงามในประเทศไทย

...

เรามีทีมนักออกแบบ ที่ทำหน้าที่ออกแบบและสร้างสรรค์สื่อต่างๆของ ททท.เพื่อที่จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งในแคมเปญการตลาด การประชาสัมพันธ์ไปจนถึงการสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และรวมถึงการสื่อสารแบรนด์ของประเทศไทยด้วย เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย Ignite Tourism Thailand ที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว นำเสน่ห์ไทย (Soft Power) มาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว การผลิตสื่อของเราก็ต้องตอบโจทย์นโยบายของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว และนำมาเป็นแนวทางการผลิตสื่อที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้เห็นเสน่ห์ของประเทศไทยและนำไปสู่การเดินทางได้จริงๆ

อย่างที่เพิ่งผลิตและเผยแพร่ไปก็คือ E-Poster “5 must do in Thailand” ซึ่งเชื่อว่าเป็นชิ้นงานที่รวบรวมไฮไลต์ที่ต้องห้ามพลาดของจังหวัดต่างๆไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งทีมผลิตสื่อจะต้องประสานกับทีมตลาดในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อผลิตสื่อต่างๆให้ตรงกับความต้องการสื่อสารในกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้ทีมด้านสื่อสารการตลาดนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่างๆต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ เรามีการให้บริการบุคคลภายนอกด้วย และทุกคนสามารถเข้าถึงชิ้นงานสื่อต่างๆที่ ททท.ผลิต โดยเข้าไปดูที่ www.tatmediaassets.com” ผอ.กองวางแผนและผลิตสื่อ ททท. ทิ้งท้ายและเชิญชวนให้มาใช้บริการสื่อของ ททท. กันมากขึ้น.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม