การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผลักดันโครงการเป้าหมาย STGs - Sustainable Tourism เพื่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืน พร้อมเผยเทรนด์การท่องเที่ยว และวิธีจัดการธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน
ปัจจุบันเทรนด์การท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปอย่างมาก นักท่องเที่ยวเริ่มให้ความใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงความยั่งยืนของการท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมทั้งยังสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่โดดเด่นในพื้นที่ชุมชนที่ต้องรักษาไว้
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เล็งเห็นศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศ และเทรนด์การท่องเที่ยวนี้ โดยการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงรุก เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่เป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เลยได้ผลักดันโครงการ “STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา”
โดยโครงการ “STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา” ของ ททท. มีจุดประสงค์เพื่อที่จะดึงดูดใจนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการคืนกำไรให้โลกในด้านสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน โดยเน้นไปผลักดันในด้านของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ต้องให้ความสำคัญเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว Gen Z และ Generations อื่นๆ ที่มีรายได้เพื่อสนับสนุนสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน
ททท. จึงได้จัดโครงการ “STGs เที่ยว 4 ดี ดีต่อโลก ดีต่อเรา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง STGs สร้างเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวสินค้า และบริการเชิงประสบการณ์สู่ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรมมุ่งสู่ Smart Tourism พร้อมกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวตื่นตัวในการเข้าร่วมโครงการ STAR โดยกำหนดเป้าหมายให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 80% ภายในปี 2568
...
เผยเคล็ดลับการทำธุรกิจท่องเที่ยวเทรนด์ใหม่ สู่ความยั่งยืนตามเป้าหมาย STGs - Sustainable Tourism Goals แบ่งออกเป็น 4 มิติ ดังนี้
- มิติ 1 สิ่งแวดล้อม
สร้างกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ลด Carbon Footprint จัดการขยะ บำบัดน้ำเสีย ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อโลก ทำกิจกรรมที่กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผู้ประกอบการชุมชนใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย เพื่อให้เกิด zero waste
- มิติ 2 วัฒนธรรม
สร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเพณี วัฒนธรรม สังคม และส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ด้วยการเคารพวิถีชุมชนร่วมงานประเพณีท้องถิ่น อวดอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป ผู้ประกอบการชุมชนนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มได้
- มิติ 3 สังคม-เศรษฐกิจ
สนับสนุนสินค้า และบริการในท้องถิ่น เที่ยวเมืองรองเพื่อกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง ผู้ประกอบการชุมชนนำของดีท้องถิ่นเป็นจุดขาย มาทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่กระจุก
- มิติ 4 การบริหารจัดการ
บริการอย่างซื่อสัตย์ จ้างงานคนในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าบ้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวอย่างเข้าใจชุมชน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ช่วยเติมเต็มความสุข และยังช่วยดูแลโลกใบนี้ให้สวยงามต่อไป ผู้ประกอบการดูแลบริการต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างดี
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันโลกประสบวิกฤติปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการสร้างมลภาวะ และการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองก็มีส่วนร่วมในการสร้างผลกระทบดังกล่าว ททท.จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืน
...
โครงการในครั้งนี้ได้พัฒนาเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism Goals: STGs 17 ประการ ต่อยอดจากเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยได้ดำเนินโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อส่งเสริม ผลักดัน และยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้นำ 17 เป้าหมายของ STGs ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ในระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเร่งยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน.
ภาพ : istock