ไม่เพียงเป็นที่ประทับเพื่อฟื้นฟูพระพลานามัย แต่พระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้ผ่านฤดูกาลมาเกือบศตวรรษ เคยถูกทิ้งร้างไว้นานกว่า ๔๐ ปี จนผุพังทรุดโทรม สีที่ทาทับไม้หลุดล่อน เนื้อไม้เสื่อมสภาพจากไอทะเล แสงแดด และเชื้อรา รวมทั้งฐานรากของตัวอาคารที่ต้องรับน้ำหนักของกระเบื้องว่าวจำนวนกว่าแสนแผ่นที่มุงหลังคาอยู่ในปัจจุบันและมีน้ำหนักมากกว่าของเดิมอยู่แผ่นละ ๑ กิโลกรัม และขณะนี้พระราชนิเวศน์มฤคทายวันอยู่ในกระบวนการบูรณะและอนุรักษ์ โดย โรงไม้แห่งพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ได้รับรางวัล New Design in Heritage Context with Special Recognition for Sustainable Development องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2564

ล่าสุด ททท.สำนักงานเพชรบุรี และมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้จัดกิจกรรมสื่อสารแผนการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีและประชาสัมพันธ์ เพื่อระดมทุนอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ณ พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี

...

เอิบลาภ ศรีภิรมย์ ผอ.การท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเพชรบุรี บอกว่า ททท.มีนโยบายที่เน้นการสร้างประสบการณ์อันทรงคุณค่า (Meaningful experiences) ให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นความสนใจเดินทางเข้าสู่ จ.เพชรบุรี เพิ่มมากขึ้น มีการพักนานวันขึ้น หรือมาท่องเที่ยวบ่อยครั้งขึ้น เป็นการกระจายการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา โดยได้ร่วมกับพันธมิตรออกแบบประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเพชรบุรี

“เราพยายามออกแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทาง Wellness Phetchaburi ที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพที่ดีจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ธรรมะและธรรมชาติ แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร หรือสปาที่ผ่านมาตรฐาน Wellness center จากสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี หรือเส้นทาง Farm For Fun เพื่อส่งมอบความสุขสำหรับเด็กๆและครอบครัว ที่ให้เด็กๆได้ทำ workshop สร้างทักษะเสริม EQ จากกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ นอกห้องเรียน” ผอ.ททท.เพชรบุรี บอกและว่า นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว ททท.ยังใช้ Soft power ด้านอาหารมาเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ เพื่อกระตุ้นให้มีการเดินทางออกตามหารสชาติของเพชรบุรีจากเมนูอาหารท้องถิ่นใน ๘ อำเภอ ร่วมกับพันธมิตรจัดทำแคมเปญกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา แคมเปญ Phetchaburi Happy workplace สำหรับกลุ่ม Digital Nomad และส่งเสริมท่องเที่ยว อย่างรับผิดชอบ ทั้งกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน วนอุทยานเขานางพันธุรัต หรือชุมชนบ้านถ้ำเสือ และกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนะนำให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการสถานที่พักที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและ รักษาสภาพแวดล้อม หรือ Carbon Footprint Hotel รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับดวงดาวแห่งความยั่งยืน หรือ TAT STAR จาก ททท.

“นอกจากเป้าหมายเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว การสื่อสารเพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือนเพชรบุรีมากขึ้น ส่วนหนึ่งเราอยากเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวให้ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันผ่านกิจกรรมที่ทางมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันจัดขึ้นด้วย”

ซึ่งกิจกรรมแรกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 25-26 พฤศจิกายนนี้ เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผอ.สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี ให้รายละเอียดว่า เป็นการจัดการแสดงการอ่านบทพระราชนิพนธ์มัทนะพาธาประกอบการแสดงและดนตรี เนื่องในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีบทพระราชนิพนธ์ ซึ่งรายได้ทั้งหมดจะนำไปบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ทั้งในส่วนของระบบนิเวศตามธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมฯ เพื่อการพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

...

“ขณะนี้พระราชนิเวศน์มฤคทายวันยังอยู่ในระหว่างการบูรณะ จะกลับมาเปิดให้ประชาชนเข้าชมอีกครั้งคือวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗ ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการบูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกบูรโณปถัมภ์เพื่อการระดมทุนซึ่งรับสมัครเพียง ๑๐๙,๖๐๐ รายเท่านั้น โดยรายละเอียดการสมัครสมาชิกสามารถติดตามได้ทางเฟซบุ๊กเพจพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ผอ.สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันฯ ให้ข้อมูล

สำหรับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๖๖ และสร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๖๗ หมู่พระที่นั่งเป็นอาคารไม้สักทอง ประกอบด้วยอาคาร 16 หลัง แบ่งเป็น 3 หมู่ใหญ่ มีเสารองรับอาคารทั้งหมด ๘๓๑ ต้น ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด ได้แก่ พระที่นั่งสมุทพิมาน พระที่นั่งพิศาลสาคร และพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2524.

คลิกอ่านคอลัมน์ “เที่ยวตามตะวัน” เพิ่มเติม

...