เรียนรู้การเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มตัว (การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน) ที่นอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนและสวยขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกรัก และผลักดันให้ตนเองนั้นเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวฉบับใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวเดิมๆ ให้ช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อโลกของเรากำลังเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โลกของเรามีคลื่นความร้อนที่สูงขึ้น ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมเจริญเติบโตและฟื้นฟูได้ช้าขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบไปในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ก็ได้รับผลกระทบนี้เป็นอย่างมาก

สถานการณ์นี้ทำให้ในหลายๆ องค์กรเกิดความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากห่วงโซ่ของสภาพแวดล้อมนี้ จึงเกิดโครงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ที่มาจากข้อตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change - UNFCCC) โดยมีสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้ง 197 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการในปี พ.ศ. 2537 ทุกประเทศได้ทำข้อตกลงเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกให้ได้ 50% ภายในปี 2028 และให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050

อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบนี้ ในด้านความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่นอกจากจะถูกรบกวนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจากนักท่องเที่ยวแล้ว แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ยังถูกให้ทำงานหนักด้วยการต้อนรับนักท่องเที่ยวจนเกิดการชำรุดทรุดโทรม และเสียหายไป วัฒนธรรมต่างๆ ถูกกลืนกินไปจนเสียความเป็นตนเอง หากไม่เกิดการตระหนักรู้ และได้รับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โลกของเราจะค่อยๆ สูญเสียแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และหมดความสวยงามไปได้ง่ายๆ ในภายภาคหน้า

...

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนคืออะไร 

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ การเดินทางท่องเที่ยวที่นักเดินทางท่องเที่ยวมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ของสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ เป็นการรักษาสถานที่เหล่านั้นให้มีความงดงาม พร้อมกับยังรักษาสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรอบพื้นที่ ให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางบวก 

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ต้องส่งผลกระทบด้านลบต่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชมให้เหลือน้อยที่สุด นักท่องเที่ยวต้องมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวนั้น ด้วยการร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม พัฒนาสิ่งแวดล้อม และรักษาสวัสดิภาพของผู้คน และองค์ประกอบของแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องพึ่งพาสถานที่นั้นให้คงอยู่ดังเดิม

การท่องเที่ยวยั่งยืน สามารถทำได้จริงหรือไม่

วิถีของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน แม้มีหลายวิธีในการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบ แต่การท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวนั้นไม่มีอยู่ได้ยั่งยืนได้อย่างสมบูรณ์ ในทุกอุตสาหกรรมสามารถสร้างผลกระทบในตัวเอง การท่องเที่ยวก็ไม่ต่างกัน 

นักเดินทางเพียงแต่จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนที่สามารถรักษาไว้ได้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยการท่องเที่ยวอย่างมีสติ เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นท่องเที่ยวสามารถเจริญเติบโตได้ 

ทุกการเดินทางมีวิธีมากมายที่คุณสามารถทำให้ทุกสิ่งรอบข้างของคุณยั่งยืนมากขึ้น และได้รับผลกระทบน้อยลง ด้วยการช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกได้ด้วยการปลูกฝังจิตสำนึก การฝึกฝนการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีความรับผิดชอบ และทำความเข้าใจถึงประโยชน์ของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้มากขึ้น ให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

วิธีการเดินทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบ ทำอย่างไร

  • วางแผนการเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ

การตระหนักถึงการเดินทางท่องเที่ยวเพียงเล็กน้อย ก็สามารถเป็นนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบได้แล้ว เช่น ใช้จักรยานเดินทางในระยะใกล้ๆ หรือเดิน, เดินทางหลายคนด้วยรถยนต์เพียง 1 คัน เป็นต้น แม้แต่การเลือกใช้เส้นทางท่องเที่ยวก็เป็นส่วนสำคัญ เช่น เลือกเดินแทนการใช้รถยนต์เข้าไปในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศ เลือกไปแหล่งท่องเที่ยวชุมชนมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม แยกขยะ หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ 

  • เลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 

หากนักท่องเที่ยวคนใดยังไม่รู้ว่าสามารถเดินทางท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนได้อย่างไร ลองหาสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม หรือสถานที่ต่างๆ ที่มีใบการันตีว่าเป็นธุรกิจสีเขียว ก็สามารถช่วยลดคาร์บอนได้แล้ว เพราะสถานที่เหล่านี้ได้ผ่านมาตรฐานในการปล่อยคาร์บอนได้น้อยลง มีการรีไซเคิล หรือสิ่งของต่างๆ ที่เป็นพลังงานทดแทน และการเลือกเส้นทางท่องเที่ยวที่เป็นชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวที่แปลกใหม่ เส้นทางท่องเที่ยวท้องถิ่น เพียงซึมซับบรรยากาศ และได้ช่วยเหลือเศรษฐกิจของพื้นที่เหล่านั้นในการนำไปต่อยอดได้

...

  • ออกไปนอกเส้นทางที่คุ้นเคย และท่องเที่ยวในช่วงนอกฤดูกาล 

การค้นพบสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ หรือเที่ยวนอกฤดูกาล ก็สามาถเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ เพราะนอกจากเป็นการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวให้แก่สถานที่นั้นๆ แล้ว นักท่องเที่ยวยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มุมมองใหม่ที่ไม่เหมือนใคร แถมยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซและของเสียสู่สภาพแวดล้อมในช่วงพีกของการท่องเที่ยว ณ สถานที่นั้นๆ ได้

  • เดินทางช้าลง เพิ่มประสบการณ์ในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 

ให้เดินทางผ่านประเทศต่างๆ เป็นเวลานานขึ้น สามารถปล่อยให้ตัวเองดื่มด่ำไปกับสภาพแวดล้อม และเชื่อมต่อกับคนในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง สิ่งนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และประเพณีของจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของคุณได้ดีขึ้น แถมยังเป็นการแบ่งเบาภาระของสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีผู้คนมากมาย รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากความเร่งรีบในกิจกรรมของมนุษย์ได้

  • หมั่นปิดไฟ และถอดปลั๊กอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เมื่อไม่ได้ใช้งาน 

...

สิ่งเล็กๆ ที่สามารถทำได้ในทุกการเดินทาง เพียงแค่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยประหยัดพลังงานในสถานที่ต่างๆ เพียงเท่านี้ก็เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ และเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้

  • อาบน้ำให้สั้นลง ซักผ้าเป็นกลุ่ม ใช้ผ้าเช็ดตัวและผ้าปูที่นอนซ้ำ หากไม่สกปรก 

เข้าใจว่าการเดินทางท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมความสะดวกสบาย ความสะอาด และเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตาม หากเกิดการทำกิจกรรมตามหัวข้อด้านบน เช่น อาบน้ำให้สั้นลง และซักผ้าเป็นกลุ่ม ใช้ผ้าเช็ดตัวและผ้าปูที่นอนซ้ำ หากไม่สกปรก ก็สามารถช่วยลดพลังงานไฟฟ้า และพลังงานคนที่สามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นี้ได้หลายเท่าตัว 

  • หลีกเลี่ยงการชี้เป้าไปในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีระบบนิเวศที่เปราะบาง และยังพัฒนาไม่เต็มที่

การได้ค้นพบสถานที่สวยๆ แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่ดี คงเป็นสิ่งหนึ่งที่เหล่านักท่องเที่ยวอยากจะพรีเซนต์ให้คนทั้งโลกได้เห็นกัน แต่อย่างไรก็ตาม เราควรศึกษาประวัติ ที่มา การจัดการของพื้นที่เหล่านั้นเสียก่อน เพราะว่าถ้าหากพื้นที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ยังมีระบบนิเวศที่ไม่มั่นคง รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่ได้ และแผนการพัฒนาและรักษายังไม่เต็มประสิทธิภาพ การพรีเซนต์แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ให้ผู้คนแห่กันเดินทางมา อาจจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่าง เช่น สถานที่ท่องเที่ยวนี้ฟื้นฟูได้ยาก และอาจเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสียหายได้ง่ายกว่า

...

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สามารถทำได้หลากหลายนอกเหนือจาก 7 หัวข้อที่กล่าวไปด้านบน ซึ่งวิธีการอาจเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่ท่องเที่ยว เพียงแค่นักท่องเที่ยวยังคงตระหนัก และยึดมั่นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน และวัฒนธรรมในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ในทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หากประชากรทั่วโลกนำหลักปฏิบัตินี้ไปทำตามแล้วคนละเล็ก คนละน้อย เป็นพฤติกรรมติดตัวเวลาเดินทาง เชื่อว่าโลกของเราจะสามารถเดินทางสู่เป้าหมายอย่าง Net Zero ได้ตามแผนที่ได้ตั้งใจไว้อย่างแน่นอนให้ปี 2050

ประโยชน์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

  • สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศต่ำกว่ากิจกรรมอื่น
  • ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบการท่องเที่ยวยังคงอยู่
  • สามารถรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซ และสร้างอากาศที่สะอาดได้
  • เพิ่มประสิทธิภาพการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชน ให้คงอยู่และมีรายได้
  • รักษาวัฒนธรรมได้คงเดิม
  • มุมมองและประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีความหมายมากขึ้น
  • เพิ่มคุณภาพให้แก่นักเดินทาง และสร้างประสิทธิภาพในการเดินทางของตนเองเพิ่มขึ้น

ข้อมูล : gooverseas