อาบป่า (Forest Bathing) กิจกรรมเยียวยาใจด้วยการใช้ธรรมชาติบำบัด กระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

อาบป่า คืออะไร

การอาบป่า (Forest Bathing) เป็นศาสตร์บำบัดจากญี่ปุ่น ที่เรียกว่า Shinrin Yoku ที่ใช้การสัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดเพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่เหนื่อยล้า ศาสตร์นี้เป็นที่รู้จักของชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1982 กระทั่งปี 2002 จึงมีการก่อตั้งสมาคมป่าบำบัดขึ้น เพื่อวิจัยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมในป่าที่ส่งผลต่อสุขภาพของคน

ข้อดีของการอาบป่า

การอาบป่ากลายเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันของญี่ปุ่น และมีผลวิจัยของญี่ปุ่นพบว่าการอาบป่ามีข้อดีดังต่อไปนี้

  • ทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
  • มีอารมณ์และสมาธิดีขึ้น
  • ลดระดับความเครียดได้ดี

เนื่องจากความเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ทั้งทางกายและทางใจ ไม่ว่าจะเป็น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อยึดตึง และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันลดลง การอาบป่าจึงช่วยให้สุขภาพกายและใจดีขึ้น

...

การอาบป่าจึงเป็นการเยียวยาโดยใช้ธรรมชาติบำบัด ตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองที่มีแต่ความรีบเร่งและเคร่งเครียด การหลบหนีความวุ่นวายแล้วเดินเข้าป่าเพื่อซึมซับธรรมชาติรอบตัวผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ด้วยใจที่นิ่งสงบและมีสมาธิ

การมีสติทุกก้าวย่างที่ได้สัมผัสกับผืนดิน ผืนหญ้า แอ่งน้ำลำธาร แล้วรับฟังเสียงลม เสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล พร้อมสูดกลิ่นดิน กลิ่นฝน และกลิ่นหอมของต้นไม้ ดอกไม้ ปล่อยกายและใจให้ดื่มด่ำกับธรรมชาติที่สวยงามรอบตัว ก็ช่วยเยียวยาจิตใจที่เหนื่อยล้าได้มากแล้ว

ทั้งนี้ การอาบป่า ไม่จำเป็นว่าต้องเดินเข้าป่าเสมอไป อาจเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือสวนใกล้บ้านที่มีความร่มรื่นของต้นไม้ ก็สร้างประสบการณ์อาบป่าได้แล้ว เพียงแค่ลองทำใจให้สงบ ถอดรองเท้าเดินสัมผัสผืนหญ้า หรือจะทำโยคะ ปิกนิก จิบชา ฝึกสมาธิกำหนดลมหายใจ อย่างน้อย 10 นาที หากมีเวลาลองใช้สัก 2 ชั่วโมง ก็ช่วยให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้เช่นกัน

อาบป่ากับความยั่งยืน

นอกจากเป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดจิตใจแล้ว การอาบป่ายังส่งผลดีต่อความยั่งยืน เพราะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของป่าไม้ เกิดการจัดพื้นที่ป่าเพื่อส่งเสริมสุขภาพหลายพื้นที่ทั้งในเมืองและนอกเมือง และทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ในการช่วยพิทักษ์ป่าไม้

ขณะเดียวกันยังต่อยอดไปในเรื่องการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ เช่น การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ได้อีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล: องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน), องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น