การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศอัปเดต 18 เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ เอาใจคนชอบดูดาว
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมมือกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดตัวโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 2 หรือเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience-based-Tourism) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้อย่างครอบคลุม สอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยวไทย 2566
“ภายใต้โครงการนี้ ททท. จะชวนนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความสนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางออกไปสร้างความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย เรียนรู้ระบบสุริยจักรวาล ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งสำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศีและดวงดาวต่างๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน นอกจากจะตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาคของไทย ยังสนุกสนานไปกับกิจกรรมสอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ตลอดจนเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ ด้วย” ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าว
...
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่าทาง สดร. ได้ร่วมมือกับ ททท. จัดทำโครงการ Dark Sky in Thailand หรือ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2563 จนกระทั่งในปี 2565 ที่ผ่านมา มีสถานที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียน จำนวน 12 แห่ง ระยะเวลาการขึ้นทะเบียนรวม 3 ปี เป็นพื้นที่นำร่องที่ปลุกกระแสการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ใช้เป็นจุดขายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพดวงดาวและท้องฟ้ายามค่ำคืน
สำหรับเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- อุทยานท้องฟ้ามืด
- ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล
- เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง
สถานที่ที่ขึ้นทะเบียนแต่ละประเภทจะต้องมีความมืดของท้องฟ้าที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากแสงรบกวน มีพื้นที่เปิดโล่งสังเกตท้องฟ้าได้โดยรอบ มองเห็นดาวเหนือ และวัตถุท้องฟ้าเด่นๆ ได้ด้วยตาเปล่า มีบุคลากรในพื้นที่ที่สามารถให้ความรู้ทางดาราศาสตร์เบื้องต้นแก่นักท่องเที่ยวได้ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้มาใช้บริการ เช่น เส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร เป็นต้น
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2566 จำนวน 18 แห่ง มีดังนี้
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)
- อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ (ลานชมดาว) จ.กำแพงเพชร
- อุทยานแห่งชาติตาพระยา (ลานกางเต็นท์กลางดง) จ.สระแก้ว
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
- อุทยานแห่งชาติศรีน่าน (ดอยเสมอดาว) จ.น่าน
- วนอุทยานน้ำตกผาหลวง จ.อุบลราชธานี
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)
- มีลา การ์เดน รีทรีท คอทเทจรีสอร์ท จ.สระบุรี
- คีรีมาลา อีโค่ แคมป์ จ.ราชบุรี
- ฟาร์มแสงสุข จ.ระยอง
- ไร่เขาน้อยสุวณา จ.นครราชสีมา
- ต้นข้าวหอมบ้านอ้อมดอย จ.เชียงใหม่
- วิลลา เดอ วิว บูทีค รีสอร์ท เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- เชียงดาวฟาร์มสเตย์ จ.เชียงใหม่
- บ้านสวน ป่าโป่งดอย จ.เชียงใหม่
- เดอะ ทีค รีสอร์ท จ.เชียงใหม่
- พูโตะ จ.เชียงใหม่
- อ่าวโต๊ะหลี จ.พังงา
...
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs)
- สวนสัตว์ขอนแก่น จ.ขอนแก่น
- ซัมมิท กรีน วัลเล่ย์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่