มีโอกาสได้ฟัง ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) พูดถึงเรื่อง Smart City ในฐานะ “เมืองฉลาด” ไม่ใช่ เมืองอัจฉริยะ ที่ดูจะไม่ตรงกับความหมายจริงๆ
“ผมคิดว่า Smart City น่าจะแปลว่าเมืองฉลาดแทนคำแปลเดิม คือเมืองอัจฉริยะ จะได้ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว” ดร.นนเกริ่น พร้อมกับขยายความต่อว่า เมื่อนึกถึง Smart City เราอาจนึกถึงภาพเมืองที่มีตึกสูง มีความโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม เมืองที่มีความล้ำหน้าของเทคโนโลยี หรือเมืองที่มีหุ่นยนต์เดินไปเดินมาเหมือนออกมาจากหนังวิทยาศาสตร์
ดร.นน บอกว่า คำแปลว่าเมืองฉลาดน่าจะเหมาะสมกับคำว่า Smart City ที่สุด คำว่าฉลาดนี่รวมถึงคนด้วย ถ้าเมืองฉลาดแต่คนไม่ฉลาดก็คงไปด้วยกันไม่ได้ ขณะเดียวกัน ถ้าคนฉลาดแต่เมืองไม่ได้รับการพัฒนาให้ฉลาดด้วยก็คงมีปัญหาไม่แพ้กัน การจะรักษาข้อดีของเมืองให้คงอยู่ และแก้ไขข้อเสียของเมืองให้หมดไป ต้องมีคนที่กล้าคิด กล้าทำ และฉลาดขึ้นกว่าเดิม การเรียนรู้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองฉลาดขึ้น
...
“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ปัญหาของเมืองใหญ่ๆ หนีไม่พ้นเรื่องของสิ่งแวดล้อม มลพิษ รถติด เอาแค่ 3 เรื่องนี้ก่อน ทีนี้การที่ปัจจุบันเรามีข้อมูลมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง ถ้าเราสามารถนำสิ่งที่มีมาใช้ในการบริหารจัดการเมืองให้เกิดความสะดวกสบายต่อผู้อยู่อาศัย นั่นคือความหมายของการ “ฉลาดขึ้น” ของเมือง” ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City บอก
ดร.นน ยังบอกอีกว่า จริงๆแล้วสิ่งที่เราต้องการจากความเป็นเมืองที่ฉลาดขึ้นก็คือความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ สถานการณ์ใหม่ๆ สภาวะใหม่ๆ ด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำให้คนที่อยู่อาศัยในเมืองได้ดึงเอาศักยภาพของตนเองออกมาให้เยอะที่สุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองที่เราอยู่ได้อย่างดีที่สุด
Smart City อาจไม่ใช่เมืองที่ต้องล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี เพราะบางทีถ้าระบบของเมืองล้ำเกินไป คนก็อาจไม่อยากอยู่ ดร.นน ยกตัวอย่าง เมืองซองโดของเกาหลีใต้ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ล้ำหน้าเกินไป คนเกาหลีใต้เองก็ไม่อยากไปอยู่ ทั้งๆที่เมืองดีหมด สะอาด มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาก เอาง่ายๆครับ แค่คุณจะไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เกตคุณก็กดเข้าไปในระบบ ระบบมันจะบอกเลยว่า ถ้าจะไปซุปเปอร์มาร์เกต ควรรออีก 15 นาที เพราะตอนนี้ในห้างมีคนเยอะ คุณอาจจะต้องรอคิวนาน อะไรประมาณนี้ ซึ่งที่สุดคนก็ไม่ชอบ เพราะขัดกับวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยากไปไหนมาไหนได้ตามใจในเวลาที่ต้องการ
“มีบทเรียนจากหลายประเทศที่พยายามสร้างให้เมืองฉลาด แต่ไม่ตอบโจทย์คนที่อยู่อาศัย อย่างในบางประเทศ เช่น เรื่องของ last Mile หรือไมล์สุดท้าย ที่คนจะสามารถเดินทางออกจากบ้านและกลับบ้านได้ หลังจากใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ ในสิงคโปร์มีความพยายามนำรถจักรยานไปจอดไว้ เพื่อให้คนสามารถนำไปใช้ขี่กลับบ้านได้หลังลงจากรถสาธารณะ แต่สุดท้ายก็ไม่เวิร์ก คนไม่ใช้ สุดท้ายก็กลายเป็นกองซากจักรยาน ซึ่งถ้าเราจะทำให้เมืองฉลาดขึ้น อาจต้องมาคิดว่า จักรยานอาจไม่เหมาะสำหรับพื้นที่จำกัดแบบสิงคโปร์ บางทีไมล์สุดท้ายใช้เป็นสกู้ตเตอร์อาจจะเวิร์กกว่า”
...
ตัวชี้วัดของการเป็นเมืองฉลาด หรือ Smart City ประกอบด้วยหลายส่วน ทั้ง Smart ENERGY ที่เน้นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มพลังงานทดแทนในพื้นที่ Smart ECONOMY เน้นการเพิ่มรายได้รายปีต่อหัวประชากร Smart PEOPLE เน้นสัดส่วนจำนวนประชาชนในพื้นที่ มี Digital Literacy Smart MOBILITY เน้นเรื่องความพึงพอใจต่อระบบขนส่งสาธารณะ หรือระบบขนส่งจราจรที่สะดวก และผู้เสียชีวิตจากการเดินทางบนถนนต้องลดลง 50% ต่อปี Smart ENVIRONMENT เพิ่มคุณภาพการจัดการน้ำ อากาศ ขยะ และพื้นที่สีเขียวให้เป็นไปตามค่ามาตรฐาน Smart GOVERNANCE เน้นสัดส่วนการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น และสัดส่วนประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะเพิ่มขึ้น และ Smart LIVING ค่าดัชนีสุขภาวะซึ่งหมายถึงมิติด้านสุขภาพ หรือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดีขึ้นมากกว่า 80% ต่อปี
...
ดร.นน ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า การจะเป็นเมืองฉลาด หรือ Smart City นั้น สำคัญที่สุดคือ ใช้สุขภาวะของผู้อยู่อาศัยเป็นเป้าหมายในการพัฒนา ไม่ใช่เทคโนโลยี, ใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเพื่อประหยัดเวลา เงินทุน, คิดถึงคุณค่า ไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพอย่างเดียว และสุดท้าย คือคิดใหญ่ แต่ค่อยๆทำอย่างสม่ำเสมอที่สำคัญ ไม่ว่าเทคโนโลยีในอนาคตข้างหน้าจะก้าวไปไกลแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีก็มีบทบาทเป็นเพียงเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ มนุษย์ควรมีวิจารณญาณในการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสม โดยคำตอบอาจไม่จำเป็นต้องเป็นดิจิทัล เสมอไป.