บรรดาบิ๊กซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ พร้อมใจส่งคำแสดงความยินดีไปยัง “โดนัลด์ ทรัมป์” หลังจากประสบชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นำโดย มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก แห่ง เมธา, ทิม คุก จากแอปเปิล, ซุนดาร์ พิชัย อัลฟ่าเบท, และกูเกิล, สัตยา นาเดลลา ไมโครซอฟท์, แซม อัลท์แมน แห่งโอเพ่น เอไอ, เจฟฟ์ เบซอส จากแอมะซอน เป็นต้น
ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ต่อสู้กับ “ทรัมป์” หลายคนและหลายบริษัทไม่ได้มองอดีต ไปจนถึงการโดนคุกคาม โดยทั้งหมดได้โพสต์คำอวยพรผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการเมืองซิลิคอนวัลเลย์
ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้านเขา แต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานร่วมกับเขา หรือแม้แต่แสวงหาความชอบจาก “ทรัมป์” ในเรื่องกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐฯในอีก 4 ปีข้างหน้า
บรรดาซีอีโอทั้งหลายยังได้แสดงความยินดีไปถึง “อีลอน มัสก์” แห่งเทสล่า หนึ่งในคู่แข่งสำคัญที่มีส่วนสำคัญทุ่มทุนไปกว่า 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และช่วยให้ “ทรัมป์” ชนะในการเลือกตั้ง จนถูกมองว่าอาณาจักรธุรกิจของ “มัสก์” ในยุคต่อไปนี้ช่างสดใสจริงๆ
ขณะที่ซีอีโอและบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งถูกหมายหัวจาก “ทรัมป์” ที่มีการกระทบกระทั่งกันในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก แห่ง เมธา ถูกเขาขู่โดยเขียนลงในหนังสือของเขาเกี่ยวกับซัคเกอร์เบิร์กว่าจะลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือ เจฟฟ์ เบซอส จากแอมะซอน มีเรื่องบาดหมางกับเขามายาวนาน กับการเป็นเจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่และในเรื่องธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งซีอีโออีกหลายคนที่ประกาศชัดให้การสนับสนุนพรรคเดโมแครต
...
หรือแม้แต่ “มัสก์” ในอดีตเคยพูดถึงเขาว่าควรจะ “ล่องเรือไปจนสุดขอบฟ้า” และเขาเองได้ออกมาประณามโครงการที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของมัสก์มากมาย “เช่นการสร้างยานอวกาศที่ไปไหนไม่ได้”
อเมริกาต้องมาก่อน โจทก์เก่าไว้ทีหลัง
ดังนั้นการออกมาแสดงความยินดีของบรรดาซีอีโอทั้งหลายถือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการการเมืองของซิลิคอนวัลเลย์ เนื่องจากผู้สนับสนุน “ทรัมป์” มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และผู้บริหารระดับสูงที่บางครั้งต่อต้านเขาก็แทบไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำงานร่วมกับเขาและผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ไม่อาจคาดเดาได้ อย่างไรก็ตาม นโยบาย “America First” หรือ “อเมริกาต้องมาก่อน” ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งเสริมและใช้เป็นหลักการในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายนี้มุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลักนั้นจะถูกหยิบยกมาใช้ต่อไป
กรณีของกูเกิล (Google) นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะ “ทรัมป์” เคยแสดงจุดยืนว่ามีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งมีอิทธิพลมากเกินไปและมีการผูกขาด ซึ่งในขณะนี้ทางกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ กำลังฟ้องกูเกิลในคดีต่อต้านการผูกขาด โดยเน้นไปที่การเป็นเจ้าตลาดบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ ซึ่งผลคดีอาจขึ้นอยู่กับท่าทีของเขาที่จะดำเนินการต่อไปอย่างไร
มีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าเขาอาจจะไม่สนับสนุนการผ่าธุรกิจของกูเกิล โดยหยิบยกคำพูดตอนช่วงหาเสียงของเขาว่า การผ่าธุรกิจของกูเกิลอาจจะไม่ใช่แนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมสำหรับการทลายการผูกขาดกับกูเกิล ซึ่งอาจนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อบริษัทมากขึ้นก็เป็นไปได้
เขากล่าว “จีนกลัวกูเกิล” พร้อมระบุว่า จีนอาจเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่สำหรับสหรัฐฯ และสหรัฐฯจำเป็นต้องมีบริษัทที่ยอดเยี่ยมอย่างกูเกิลเพื่อแข่งขันกับจีน
ดังนั้น จุดยืนของเขากับกูเกิลอาจจะมีอิทธิพลต่อการดำเนินของคดีของกระทรวงยุติธรรมก็เป็นได้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านๆมา เขามักวิพากษ์ วิจารณ์กูเกิลว่ามี “มุมมองที่อคติต่ออนุรักษ์นิยม” ก็ตาม
สงครามเทคโนโลยีกับจีนจะเข้มขึ้นอีกระดับ
สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะมีความเข้มข้นขึ้นไปอีก จะมีเกมกำหนดผู้ชนะที่จะมีอำนาจคุมทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลก
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของนโยบายในช่วงเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยแรกของเขา การแบนบริษัทหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของจีนในปี 2019 ที่ผ่านมา “ทรัมป์” ได้สั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯทำธุรกิจกับหัวเว่ย โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงของชาติ
ผลของการแบนดังกล่าว ทำให้หัวเว่ยไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและชิป ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์เทคโนโลยีจากกูเกิล และควอลคอมม์ เป็นต้น สมาร์ทโฟนเรือธงของหัวเว่ยซึ่งขายดีมาก มาแรงสุด เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและถ่ายรูปสวย เป็นคู่แข่งสำคัญของไอโฟน แต่เมื่อสมาร์ทโฟนไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของกูเกิลทำให้ผู้ใช้ทั่วโลกหยุดซื้อทันที สร้างผลกระทบมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่เพียงเท่านั้นเขายังได้ประกาศขึ้นภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนหลายรายการ รวมถึงสินค้าเทคโน โลยี มาตรการนี้ได้กดดันให้บริษัทจีนย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนและลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน
รวมไปถึงการจำกัดการลงทุน โดยออกคำสั่งห้ามลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีและการสื่อสารของจีนที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพจีน เพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีที่สำคัญตกไปอยู่ในมือจีน
...
ในยุคของ “โจ ไบเดน” ขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อจากเขา ได้พัฒนายุทธศาสตร์ทำสงครามเทคโนโลยีกับจีนให้เป็นระบบและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแบนบริษัทจีนเพิ่มเติม โดยพุ่งไปที่การควบคุมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ห้ามบริษัทจีนเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ ทำให้สหรัฐฯยังคงมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมนี้สูงมาก
การสร้างหวงโซ่ทางเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยและมีเสถียรภาพโดยร่วมกับประเทศพันธมิตรเพื่อลดการพึ่งพาจีน และป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีของจีนซึ่งอาจมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนเข้ามาครอบงำข้อมูลและซัพพลายเชนระดับโลก
บนเส้นทางของสงครามเทคโนโลยีระหว่างสองยักษ์ใหญ่ของโลกจะมีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับและต่อเนื่องจากนโยบายเดิมของเขา เช่น การเพิ่มมาตรการกีดกันและคว่ำบาตรเทคโนโลยีจากจีน อาจเพิ่มข้อห้ามการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ ซอฟต์แวร์ AI เทคโนโลยี เครือข่าย เพื่อไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีจากจีน เช่น หัวเว่ย และ ZTE สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่แข่งขันได้ รวมถึงการขยายรายชื่อการแบนบริษัทจากจีนเพิ่มขึ้น
การควบคุมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างชาติ โดยการเข้มงวดการลงทุนจากจีน เพื่อไม่ให้มาลงทุนหรือครอบครองเทคโนโลยีของสหรัฐฯผ่านการควบกิจการในกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ การออกมาตรการควบคุมแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน และแอปยอดนิยมอย่าง TikTok และ WeChat อาจแบนการใช้แอป เพราะเขาเคยเน้นถึงภัยคุกคามในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้
อย่างไรก็ตาม นโยบายการขึ้นภาษีเทคโนโลยีจากจีนอาจะส่งผลกระทบให้ชาวอเมริกันได้รับผลกระทบที่จะต้องจ่ายในราคาแพงขึ้น
ก้าวต่อไปของการพัฒนาเทคโนโลยี
การเน้นให้บริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯลงทุนในประเทศเองและพัฒนานวัตกรรมในประเทศ โดยลดการพึ่งพาแหล่งผลิตจากต่างประเทศ รวมถึงการเรียกร้องให้บริษัทรักษาฐานการผลิตและการวิจัยในสหรัฐฯ เหมือนในอดีตที่ทรัมป์ได้เรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่กลับมาลงทุนภายในประเทศ
...
รวมไปถึงการทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI), การสื่อสารไร้สายและการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทั่วประเทศ
การพัฒนา AI ของทรัมป์มีแนวโน้มจะผ่อนคลายการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาในภาคเอกชน แม้ว่าประชาชนจะสนับสนุนกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นก็ตาม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้แสดงความกังวลว่าสิ่งนี้อาจขัดขวางการกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่แนวทางปฏิบัติ ด้าน AI ทางทหาร เขามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเดิม เพิ่มงบประมาณในเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ
ทางด้านโยบายสินทรัพย์ดิจิทัล เขาได้เปลี่ยนจุดยืนอย่างชัดเจนโดยให้การสนับสนุนอย่างจริงจังหลังมีข้อกังขา เน้นไปที่การควบคุมการใช้คริปโตเคอร์เรนซีในสหรัฐฯ โดยมองว่าคริปโตเคอร์เรนซีสามารถเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ
แต่ก็ยืนยันว่าจะต้องมีกฎระเบียบที่ชัดเจนเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การป้องกันการฟอกเงินและการหลีกเลี่ยงการใช้ในทางที่ผิด รวมทั้งการสนับสนุนเทคโนโลยีบล็อกเชนที่อาจมีประโยชน์สำหรับอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนและธุรกิจ
โดยรวมมุ่งหวังที่จะทำให้สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีอำนาจมากขึ้นในทุกๆด้าน.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม