ธุรกรรมคริปโตเคอร์เรนซีถูกพาดพิงเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อการตรวจสอบเส้นทางเงินของเครือข่ายธุรกิจขายตรง The Icon ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อเสียทรัพย์หลักพันราย พบการนำเงินสดไปซื้อเงินสกุลคริปโตเคอร์เรนซีมูลค่าหลายพันล้านบาท นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการยักย้ายถ่ายเทเงินได้อย่างไร้ร่องรอย จนทำให้ “กัลฟ์ ไบแนนซ์” ต้องออกมายืนยันว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นตัวเลือกที่ไม่เข้าท่าสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจจับ เพราะสามารถติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับ แถมโปร่งใสกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิม
ดร.กร พูนศิริวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และผู้อำนวยการโครงการ Binance TH Academy บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด เปิดเผยผ่านบทความที่ส่งเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2567 ว่า คำกล่าวที่ว่า “คริปโตฯ เอาไว้ฟอกเงิน” หรือ “เงินดิจิทัลติดตามไม่ได้” เป็นคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยในสังคมไทย ในฐานะผู้ที่ทำงานทั้งด้านการศึกษาและกลยุทธ์ในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรงในประเทศไทย เจอความเชื่อผิดๆนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะในทางตรงกันข้าม ธุรกรรมคริปโตเคอร์เรนซีไม่เพียงสามารถติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ยังมีความโปร่งใสมากกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิมเสียอีก
...
ดร.กรเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆว่า ถ้าเราจ่ายเงินสดซื้อของในตลาด เราจะติดตามเงินนั้นได้ยากมาก แต่การใช้คริปโตเคอร์เรนซี เหมือนกับการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ที่มีการเก็บประวัติทุกรายการ แต่เพิ่มความพิเศษตรงที่ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ เหมือนกับมีสำเนาสมุดบัญชีที่โปร่งใสและแก้ไขไม่ได้ ระบบนี้ช่วยป้องกันการทุจริตได้ดีกว่าระบบเดิม เทคโนโลยีบล็อกเชนจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น
ความโปร่งใสของบล็อกเชนยังช่วยตอบโจทย์อีก 1 ความกังวลที่พบบ่อย นั่นคือเรื่องความปลอดภัย โดยทุกธุรกรรมบนเครือข่ายคริปโต เคอร์เรนซี เช่น การซื้อขายเหรียญยอดนิยมอย่าง Bitcoin และ Ethereum จะถูกบันทึกไว้ถาวร สามารถตรวจสอบได้โดยสาธารณะ และไม่สามารถแก้ไขย้อนหลังได้ กลไกนี้สร้างความสามารถในการติดตามบนห่วงโซ่ (Chain) ที่ไม่มีวันถูกทำลาย ซึ่งเหนือชั้นกว่าระบบการเงินทั่วไป
รายงานอาชญากรรมคริปโตฯล่าสุดจาก Chainalysis (2024) เผยว่า ธุรกรรมคริปโต เคอร์เรนซีที่ผิดกฎหมายมีสัดส่วนที่ 0.24% ของปริมาณธุรกรรมคริปโตทั้งหมด เพราะการวิเคราะห์บล็อกเชนสมัยใหม่สามารถติดตามรูปแบบการทำธุรกรรมได้อย่างแม่นยำ ทำให้คริปโตเคอร์เรนซีกลายเป็นตัวเลือกที่ไม่เข้าท่าสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจจับ
“สำหรับในประเทศ ไทย สำนักงานกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต.มีการกำกับดูแลคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในภูมิภาค มีการออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้ผู้ลงทุนไทยได้รับการคุ้มครองที่ดี เทียบเท่าการลงทุนในตลาดหุ้น จากรายงานการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลล่าสุดของ ก.ล.ต. ปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดคริปโตฯไทยมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 100,000 ล้านบาท ทุกธุรกรรมต้องผ่านการตรวจสอบตัวตน (KYC) เหมือนกับการเปิดบัญชีธนาคาร ปลอดภัยกว่าการซื้อขายในตลาดต่างประเทศที่ไม่มีใบอนุญาต ทำให้สามารถติดตามธุรกรรมได้ 100% และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รายงานว่า ในปี 2566 สามารถติดตามธุรกรรมต้องสงสัยได้ 95%
และการที่เทคโนโลยีบล็อกเชนกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วนี้ เป็นผลให้รายงานสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2567 ของ World Economic Forum คาดว่าภายในปี 2569 ประสิทธิภาพการตรวจจับธุรกรรมผิดปกติจะพัฒนาขึ้นอีก 300% ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการจดจำรูปแบบ การติด ตามแบบเรียล ไทม์ และโมเดลการประเมินความเสี่ยงขั้นสูงได้.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม