ในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 อินเตอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ 5 โซเชียลมีเดียเป็นโลกใบที่ 2 ของผู้คน ไลฟ์สไตล์ที่ดูเหมือนแทบไม่มีเวลาให้โดดเดี่ยว กลับทำให้เกิดภาวะการเผชิญกับความเหงาแบบไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ว่าอยู่ในวัยไหน คนจำนวนไม่น้อยต่างกำลังเผชิญกับความรู้สึกนี้

ความเหงาในนิยามของคนในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดกันได้เล่นๆ หรือพร่ำเพรื่อโดยไม่ต้องใส่ใจอีกต่อไป เมื่อองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ประกาศว่า ความเหงาเป็นภัยคุกคามระดับโลก ไม่ต่างจากโรคอ้วน แถมอันตรายไม่แพ้การสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน

ท่วมกลางสารพัดความบันเทิงบนโลกดิจิทัลมากมาย แต่ทำไมคนกลับเหงายิ่งกว่าเดิม คำถามชวนสงสัยนี้ถูกถกบนเวที #ETDALive ไลฟ์กำลังดี EP.2 ในหัวข้อ “All GENs Enjoy ดิจิทัล...โลกใหม่ของคนเหงา” ซึ่งจัดโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA

ในภาวะที่เราสามารถติดต่อพูดคุยกับคนได้ทั่วโลก มีเพื่อนในโซเชียลมีเดียหรือผู้ติดตามมากมาย แต่ทำไมยังรู้สึกว่างเปล่า แม้จะมีทั้งหนัง เพลง เกม ความบันเทิงออนไลน์ให้เลือกเล่น เลือกชม เลือกฟังเต็มไปหมด เรื่องนี้อธิบายได้ง่ายๆว่า ความเหงาเป็นความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นเวลาที่รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่มีใครอยู่เคียงข้างหรือรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1.ความเหงาทางสังคม (Social loneliness) เกิดจากการขาดการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น

2.ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness) ต่างจากแบบแรก คือ แม้จะอยู่ท่ามกลางคนมากมาย แต่ยังรู้สึกเหงาอยู่ดี เป็นความรู้สึกจากเบื้องลึกภายในใจที่เกิดจากการขาดความมั่นคงทางอารมณ์ โหยหา ความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ

...

เมื่อเกิดความรู้สึกเหงา คนส่วนใหญ่มักจะหาอะไรทำ สำหรับคนยุคนี้ หนีไม่พ้นการหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น แต่ในความเป็นจริง มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ยิ่งเล่นมือถือหรือฝังตัวอยู่ในโลกออนไลน์นานเท่าไหร่ กลับยิ่งรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวกว่าเดิม อาจเป็นเพราะ 3 สาเหตุหลัก ได้แก่

1.ยิ่งใกล้...ยิ่งไกล ยิ่งไถ...ยิ่งเหงา เพราะความสัมพันธ์ผ่านจอ ไม่ได้เยียวยาจิตใจ แม้ทำให้รู้สึก “เหมือน” ใกล้ชิดมากขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการพูดคุยกันแบบเจอหน้าได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการอยู่ร่วมกัน แต่ปัจจุบันหลายคนกลับเทใจและใช้เวลาไปกับคนหรือเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง จนทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดที่อยู่ใกล้ตัว ขาดการโฟกัสกับกิจกรรมตรงหน้า จนทำให้ความเหงา ความโดดเดี่ยวถูกสะสมในจิตใจโดยไม่รู้ตัว

2.ยิ่ง Social ยิ่งเศร้า เพราะมัวแต่เอาความสุขไปผูกกับยอดไลค์ พอไม่เป็นดังหวังก็รู้สึกเสียใจ สูญเสียความมั่นใจ รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีใครเห็นความสำคัญ รู้สึกหดหู่ โดดเดี่ยว เหงา อ้างว้างกว่าเดิม

3.ยิ่งเห็น ยิ่งเทียบ ยิ่งทุกข์ เพราะชอบเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับผู้อื่น ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี เกิดความรู้สึกอิจฉาและนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวในใจและเกิดความรู้สึกด้านลบอื่นๆตามมา

เวทีสนทนาของ ETDA สรุปการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น ส่งผลให้ความเหงาเพิ่มขึ้นไปด้วย หากใช้ลดลง ความเหงาและโดดเดี่ยวจะลดลง โดยวัยรุ่นยุคใหม่ หรือ Generation Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2540-2556) เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าเกิดมากับยุคดิจิทัลหรือ Digital Native กำลังกลายเป็นกลุ่มที่มีความเหงาสูงกว่าวัยอื่น

ขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยที่เกษียณอายุแล้ว ดูเหมือนจะเหงา แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ ตัวแทนฝั่งผู้สูงวัยที่มาร่วมสนทนาให้ความเห็นว่า ไม่ค่อยรู้สึกเหงาเท่าไหร่ เพราะพอเริ่มจะเหงา จะต้องหาอะไรทำทันที เช่น โทรศัพท์คุยกับลูก เพื่อนบ้าน ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน นอกโลกออนไลน์

เมื่อ “ความต่าง” ของเจเนอเรชัน ทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตต่างกัน และแทบจะไม่มีผลเลยกับกลุ่มผู้สูงวัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ไม่มีดิจิทัลมาก่อน แต่ก็มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี เพื่อติดต่อพูดคุยกับลูกหลาน นอกจากนั้น เทคโนโลยียังเป็นเหมือนเครื่องบันทึกความทรงจำ ในวันที่ใครคนใดคนหนึ่งหายไป ภาพและเสียงของเขาเหล่านั้นจะยังคงอยู่

เวทีสนทนายังร่วมแชร์เคล็ดลับ “ไม่ทุกข์ สร้างสุข” บนโลกดิจิทัล ซึ่งหากใช้อย่างถูกวิธีและพอเหมาะ พอดี นับว่ามีข้อดีอยู่มาก ได้แก่ 1.ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเข้าใจ หยุดคาดหวังยอดไลค์ ยอดวิว อย่าให้โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากเกินไป รวมทั้งไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น 2.มีช่วงเวลาล้างพิษ “Detox” ออกไปพบปะผู้คน ออกจากสังคมก้มหน้า หันมาใช้ชีวิตแบบพบปะผู้คน นัดเจอเพื่อนสนิท ครอบครัว เพื่อนฝูง โดยไม่หยิบมือถือขึ้นมา 3.Back to the basic กลับสู่ชีวิตจริงที่เคยมี หาก อยู่คนเดียวก็กลับมาให้เวลากับตัวเองมากขึ้น เปลี่ยนจากการฝังตัวอยู่แต่ในโลกออนไลน์ออกไปใช้ชีวิตออนไซต์ ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ

แม้โลกดิจิทัลจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยเร่งความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว แต่หากสามารถจัดการกับความรู้สึกได้ จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริง.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม