เวที China Mobile ถกความท้าทายในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมลํ้า เผยรายงาน Temasek พบประชากรอาเซียนมากกว่า 70% ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการการเงินพื้นฐาน ส่วนเอสเอ็มอี 60% ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจฟินเทค แพลตฟอร์มทางการเงินที่ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกพื้นที่

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวบนเวที 2024 China Mobile Southeast Asia, Regional Cooperation Conference : “Connecting Through Data, Innovating the Future” ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.2567 ในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของบริษัทข้ามชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” ว่า ไม่เพียงแต่การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น เรายังควรสร้างความร่วมมือในการลดช่องว่างทางดิจิทัลด้วย ผ่านการทำให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และการผลักดันให้ผู้คนเข้าถึงบริการทางการเงิน

โดยจากรายงานของ Temasek พบว่าในอาเซียนมีประชากรมากกว่า 70% ไม่มีบัญชีธนาคารหรือไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐาน และในส่วนของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี มีมากกว่า 60% ที่ไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจฟินเทคที่จะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าในภูมิภาค ยกตัวอย่างกรณี True Money แพลตฟอร์มดิจิทัลของเครือซีพี ที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และบริการทางการเงิน ซึ่งมีผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านคน โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวทำให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทุกพื้นที่

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ 5.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะนำเทคโนโลยีขั้นสูง AI มาใช้ทำความเข้าใจลูกค้าและทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้เท่าทันการแข่งขัน เพราะในตอนนี้ธุรกิจข้ามชาติกำลังเผชิญกับความท้าทายใน 3 ด้านสำคัญ ที่เรียกว่า 3D คือ

...

1. Deglobalization ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองเป็นหลายขั้ว แต่ละประเทศออกกฎหมายและระเบียบนำเข้า ซึ่งเป็นตัวบังคับให้ธุรกิจจะต้องปรับตัว

2.Digitalization โลกเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ธุรกิจต้องลงทุนใน AI และข้อมูล (Data) ที่กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในหลายอุตสาหกรรม

3.Decarbonization การลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทุกองค์กรต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันวิกฤต การณ์สภาพอากาศ พร้อมกับการสนับสนุนให้ภูมิภาคมีการลงทุนในเทคโนโลยีเอไอและพลังงานสะอาดมากขึ้น

“เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคของเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่จะเติบโตถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของมูลค่าสินค้ารวมภายในปี 2573 หากเอาชนะความท้าทายข้างต้นได้ รวมทั้งต้องให้ความสำคัญในเรื่องของความเร็ว (speed) และขนาด (scale) ตลอดจนการให้ความสำคัญในเรื่องของอธิปไตยข้อมูล (data sovereignty) ทุกองค์กรจะต้องมีอำนาจอิสระในการจัดการและควบคุมข้อมูลของตนเอง ซึ่งต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ ขณะเดียวกันควรสนับสนุนให้เกิดศูนย์กิกะดาต้าและการจ้างงานในระบบด้วย”

ซีอีโอเครือซีพียังเน้นย้ำว่า การจะสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนและภาคเอกชนจะอยู่รอดได้นั้น ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา “ทุนมนุษย์” พร้อมทั้งเสนอโมเดล SI Transfor mation หรือการสร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้กับคนรุ่นต่อไป เน้นไปที่การสร้างทักษะด้าน AI ควบคู่ไปกับการปลูกฝังจริยธรรมและหลักคิดที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลก เพื่อก้าวข้ามความท้าทายและคว้าโอกาสต่างๆในเศรษฐกิจยุค 5.0 ให้ได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม