ฟอร์ติเน็ต ผู้ให้บริการด้านโซลูชันการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เปิดเผยรายงานเกี่ยวข้องมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเหล่าอาชญากรไซเบอร์ โดยจากสถิติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนการโจมตีบนไซเบอร์ที่มุ่งเป้าไปยังงานใหญ่ๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากจำนวน 212 ล้านครั้งในกีฬาโอลิมปิก ลอนดอน 2012 ที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ เพิ่มขึ้นมหาศาลเป็น 4,400 ล้านครั้งในกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020

ซึ่งบ่อยครั้งที่การโจมตีเหล่านี้มีแรงจูงใจด้านการเงินโดยตรง เช่น การหลอกลวง (Scams) การฉ้อโกงทางดิจิทัล (Digital Fraud) หรือการได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญจากผู้เข้าร่วมงาน ผู้ชม และผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ภายในงาน ด้วยความที่กำลังตื่นเต้นกับการแข่งขัน แฟนๆกีฬามักมองข้ามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน จองที่พัก หรือซื้อของที่ระลึก ทำให้ตกเป็นเป้าหมายที่ง่ายต่อการโจมตีสำหรับอาชญากรไซเบอร์

ส่วนคนที่อยากดูการแข่งขันเฉพาะในบางรายการ ก็อาจถูกล่อลวงด้วยเว็บอันตรายที่นำเสนอช่องทางการเข้าชมฟรี (Free Access) ก่อนจะพบว่าอุปกรณ์โดนแฮ็กและข้อมูลถูกขโมย

...

จากการวิเคราะห์ล่าสุดของ FortiGuard Labs อ้างอิงข้อมูลข่าวกรองภัยคุกคามจาก FortiRecon โอลิมปิกปีนี้กลายเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้น ด้วยการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและการวิเคราะห์โดยเฉพาะ

FortiGuard Labs สังเกตเห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากของทรัพยากรที่ถูกรวบรวมในช่วงเตรียมการแข่งขันโอลิมปิกปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่พุ่งเป้าไปยังผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2023 มีการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมบนดาร์กเน็ต ที่มุ่งเป้าไปยังประเทศฝรั่งเศส โดยการเพิ่มขึ้น 80-90% เป็นไปอย่างสม่ำเสมอตลอดครึ่งหลังของปี 2023 มาจนถึงครึ่งแรกของปี 2024 ความถี่และความซับซ้อนของภัยคุกคามเหล่านี้ เป็นหลักฐานแสดงถึงการวางแผนและการดำเนินการของอาชญากรไซเบอร์ โดยมีดาร์กเว็บเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรม

เหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของเครื่องมือและบริการต่างๆ ระดับแอดวานซ์ที่ออกแบบมาเพื่อทำให้การละเมิดข้อมูลทำได้เร็วขึ้น ไปจนถึงการรวบรวมข้อมูลที่ใช้ระบุตัวบุคคล (Personally Identifiable Information หรือ PII) เช่น ชื่อ-นามสุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขประจำตัวประชาชน อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ของบ้านที่อยู่อาศัย และอื่นๆ

ยกตัวอย่าง การขายฐานข้อมูลของชาวฝรั่งเศส ที่รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ รวมทั้งการขายข้อมูลรับรอง (Credentials) ที่ถูกขโมยและการเชื่อมต่อ VPN ที่ถูกละเมิด เพื่อให้การเข้าสู่ไพรเวตเน็ตเวิร์กโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังมีการโฆษณาชุดเครื่องมือในการทำฟิชชิ่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงเครื่องมือสำหรับการโจมตีที่ถูกปรับแต่งมาเพื่อการแข่งขันโอลิมปิกที่ปารีสโดยเฉพาะ รวมถึงรายการผสม หรือ Combo Lists (ชุดของชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านที่ถูกละเมิด ซึ่งใช้ในการโจมตีแบบ Brute-Force หรือการโจมตีแบบลองผิดลองถูกโดยอัตโนมัติ) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลของพลเมืองชาวฝรั่งเศส

และเนื่องจากรัสเซียและเบลารุสไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ กิจกรรมแฮกติวิสต์จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มที่สนับสนุนรัสเซีย เช่น กลุ่ม LulzSec กลุ่ม noname057 (16) กลุ่ม Cyber Army Russia Reborn กลุ่ม Cyber Dragon และกลุ่ม Dragonforce ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามุ่งเป้าไปที่การแข่งขันโอลิมปิก

ทีม FortiGuard Labs ยังได้บันทึกจำนวนโดเมนแบบ typosquatting หรือชื่อโดเมนจดทะเบียนเกี่ยวกับโอลิมปิก ที่มีการสะกดผิดเป็นจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้ในแคมเปญการทำฟิชชิ่ง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆในตัวสะกดของคำต่างๆ เช่น (oympics[.]com, olmpics[.]com, olimpics[.]com และอื่นๆ ทั้งหมดเหล่านี้ถูกนำมาใช้ร่วมกับเว็บไซต์ที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อเลียนแบบเว็บไซต์ขายบัตรเข้าชมการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่จะพาผู้ซื้อไปสู่ขั้นตอนการจ่ายเงิน โดยที่บัตรเข้าชมก็ไม่ได้แถมยังสูญเงินอีกต่างหาก

...

รวมทั้งมีการตรวจพบการหลอกลวง (Scams) ในเกมการจับลอตเตอรี่หลายรายการ ที่ใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาเป็นธีม โดยหลายแห่งเลียนแบบหรือปลอมแปลงเป็นแบรนด์ใหญ่ต่างๆ รวมถึง Coca-Cola, Microsoft, Google ตลอดจนหน่วยงานลอตเตอรี่แห่งชาติตุรกี และเวิลด์แบงก์ โดยเป้าหมายหลักของการหลอกลวงลอตเตอรี่คือผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสโลวะเกีย

โดยขณะนี้การแข่งขันโอลิมปิก ปารีส 2024 คือเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งดึงดูดความสนใจจากอาชญากรไซเบอร์ นักเคลื่อนไหวทางไซเบอร์ รวมถึงผู้กระทำการที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาชญากรไซเบอร์ใช้กลโกงฟิชชิ่งและการหลอกลวง โดยมุ่งเป้าไปยังผู้ที่อาจไม่ระมัดระวังหรือไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม