ประธานสภาดิจิทัลซีอีโอ ผลักดันวิชา Computer Science บรรจุเป็นวิชาหลักในโรงเรียน ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย จะทำให้ในอีก 6 ปีข้างหน้า มีเด็กไทยที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเชิงลึกถึง 6 ล้านคน สู้กับมาเลเซียที่ตั้งเป้ามีแรงงานที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลให้ได้ 15% ขณะที่อินโดนีเซียให้สิทธิประโยชน์จูงใจคนเรียนด้านดิจิทัล ทำให้มีสตาร์ตอัพที่เป็นยูนิคอร์นเกิดขึ้นหลายราย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยบนเวทีสนทนากับเยาวชนผู้นำอนาคต DCT Future Leaders ภายใต้หัวข้อ “โอกาสของประเทศไทย ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล” ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล หากมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่งจากการจัดอันดับโดย International Institute for Manage ment Development (IMD) ไทยอยู่ที่อันดับ 25 ของโลกในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี แต่ขีดความสามารถด้านการศึกษาอยู่อันดับที่ 54 การขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลต้องอาศัยคนเป็นกุญแจสำคัญ โดยแม้ประเทศไทยมีนักศึกษาจบใหม่ปีละ 500,000 คน แต่มีเพียง 40,000 คนที่จบด้านไอที ซึ่งยังไม่เพียงพอ “โลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ทั้งด้านความยั่งยืน การปฏิรูปด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป ทุนของโลกจะไหลเข้าไปใน 3 ด้าน หรือ 3 D ได้แก่ 1.Digitali zation และ AI 2.Deglo balization มีการพึ่งพาในระดับภูมิภาคสูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ 3.Decarbonization ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อลดปัญหาโลกร้อน

...

การก้าวสู่โลกของเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น หัวใจสำคัญคือการกำหนดกลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.Digital Index การกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดด้านดิจิทัล 2.PPP Partnership การสร้างกลไกตลาดผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการลงทุนและการตลาด ดึงเม็ดเงินลงทุนด้านเทคสตาร์ตอัพหรือเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศ เช่น สิทธิพิเศษด้านภาษี โดยไทยมีศักยภาพ เนื่องจากสามารถเป็นตลาดที่ปลอดการเมืองโลกได้

3.Digital Workforce การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัล ควรต้องผลักดันให้ Computer Science เป็นวิชาเรียนหลักในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ถึง มัธยมศึกษาตอนปลาย จะทำให้ในอีก 6 ปีข้างหน้ามีจำนวนเด็กไทยที่มีความสามารถด้านดิจิทัลเชิงลึกถึง 6 ล้านคน สู้กับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่มีนโยบายสนับสนุนการสร้างคน โดยมาเลเซียตั้งเป้ามีแรงงานที่มีศักยภาพด้านดิจิทัลให้ได้ 15% ขณะที่อินโดนีเซียมีการให้สิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจให้คนเรียนด้านดิจิทัล ทำให้มีสตาร์ตอัพที่เป็นยูนิคอร์นเกิดขึ้นหลายราย

4.Digital Economy การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ยกตัวอย่างที่จีนมีระบบเศรษฐกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงระดับโลก มีการซื้อขายออนไลน์เกินกว่า 30% และยังโตต่อเนื่อง ไทยต้องขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ที่สำคัญประการหนึ่ง คือการเพิ่มจำนวนเทคสตาร์ตอัพให้เท่าสิงคโปร์ ซึ่งมีอยู่ถึง 50,000 ราย เพื่อมาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลง (disrupt)

5.Regional Innovation Hub การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมของภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องมีห้องแล็บปฏิบัติการ และ Innovation Center เพราะนักวิจัย หรือ Explorer เป็นกลุ่มที่มีความต้องการด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศไทยเป็น Innovation Cluster แบบที่บอสตัน ซิลิคอนวัลเลย์ หรือลอนดอนได้ “ถ้าเราสามารถเชื่อมกลไกตลาดและมหา วิทยาลัยทั้ง หมดได้ แล้วนำผู้ที่มีความสามารถระดับโลก มาเชื่อมกับเด็กไทย จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นคลัสเตอร์ Innovation Hub ได้ เพราะทุกวันนี้มีเด็กจากหลายประเทศเลือกมาเรียนหลักสูตรอินเตอร์ในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องของนโยบายที่ภาครัฐและเอกชนต้องทำร่วมกัน”

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม