ป้ายกำกับ Made with AI ได้สร้างความมึนงงให้แก่ช่างภาพไม่น้อย เมื่อภาพที่สแกนจากฟิล์มในปี 1984 แล้วนำมาโพสต์บนอินสตาแกรม แต่กลับถูกแปะป้ายว่า เป็นภาพที่ถูกสร้างจากเอไอเสียอย่างนั้น
ย้อนหลังกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมตาได้บอกว่าจะเริ่มติดป้ายกำกับให้กับโพสต์ใดๆ ก็ตามที่สร้างโดยเอไอว่า Made with AI เพื่อแยกแยะระหว่างภาพปกติ และภาพที่ถูกสร้างจากเอไอ
อย่างไรก็ดี การติดป้ายกำกับว่า Made with AI ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ใช้งานอินสตาแกรมไม่น้อย โดยเฉพาะช่างภาพมืออาชีพ เนื่องจากเกิดกรณีที่ช่างภาพได้ปรับแต่งหรือจัดเตรียมรูปภาพผ่านโปรแกรมของอะโดบี (Adobe) ก็มีโอกาสที่จะทำให้ภาพดังกล่าวถูกแปะป้ายกำกับบนผลิตภัณฑ์ของเมตาว่าเป็นการสร้างด้วยเอไอได้เช่นกัน
หนึ่งในช่างภาพที่ประสบปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง นั่นก็คือ พีท ซูซา ซึ่งเป็นช่างภาพประจำทำเนียบขาวในยุคของโรนัลด์ เรแกน และยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเทคครันช์ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เขาได้นำภาพฟิล์มที่ถ่ายเอาไว้ในเกมนัดชิงชนะเลิศบาสเกตบอลเอ็นบีเอ (NBA Finals) ปี 1984 ลงบัญชีอินสตาแกรมของเขา เพียงแต่โพสต์ดังกล่าวของเขาก็ถูกแปะป้ายกำกับว่า สร้างด้วยเอไอ หรือ Made with AI เช่นกัน
พีท ซูซา บอกว่า เขารู้สึกรำคาญใจมากๆ เพราะอินสตาแกรมบังคับให้ตัวเขาใส่แท็ก Made with AI โดยที่ตัวเขาพยายามที่จะติ๊ก Made with AI ออกแล้วก็ตาม
เขาตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้ใช้งานใช้ความสามารถจากเครื่องมือเอไอที่อยู่ภายในโปรแกรมของอะโดบี อาจเป็นเหตุให้ระบบของเมตามองว่า การปรับแต่งภาพที่ว่านี้ เป็นการใช้เอไอ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักคอสเพลย์ได้โพสต์ภาพที่ตัวเธอนั้น คอสเพลย์เป็นตัวละครแล้วโพสต์ลงบนอินสตาแกรม แต่ก็ถูกระบบของเมตาตรวจพบว่าเป็นเอไอ ทั้งที่ในความจริงแล้วเธอไม่ได้ใช้เอไอ
...
ทั้งนี้ การแปะป้ายกำกับว่า ภาพใดถูกสร้างจากเอไอ หรือเป็นภาพจริงนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในเวลานี้ เนื่องจากว่า ในสหรัฐอเมริกากำลังเข้าใกล้สู่ฤดูกาลเลือกตั้งประธานาธิบดีระหว่างโจ ไบเดน และโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งการระบุอย่างชัดเจนว่าภาพใดเป็นภาพจริง หรือภาพใดเป็นภาพจากเอไอ จะส่งผลดีต่อผู้ใช้งานที่สูงอายุของเมตา ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมเองก็ตาม
ที่มา: TechCrunch, Mashable